Thursday, April 18, 2024
More
    HomeCan i showคะแนนที่ 1 ของ นรต.รุ่น 38 'พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย' ความท้าทายของโรงเรียนนายร้อย

    คะแนนที่ 1 ของ นรต.รุ่น 38 'พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย' ความท้าทายของโรงเรียนนายร้อย

     

    ( เรื่องโดย :: นิตยสาร MBA) 

    ในเหล่าสถานศึกษาชั้นสูงที่เป็นหลักของสังคมไทยนับแต่อดีต หาใช่ว่าจะมีเพียงมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อก้าวออกไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติ หากยังมีสถาบันการศึกษาที่ยืนหยัดมายาวนานบนรากฐานกว่าร้อยปี และเป็นสถาบันที่คอยบ่มเพาะ ”ผู้นำ” ให้กับสังคม และเป็นผู้นำที่จะเข้ามาดูแลและบริหารจัดการความสงบเรียบร้อยให้ประชาชนบังเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน เป็นที่พึ่งพิงและพึ่งพายามมีเหตุและเภทภัย เป็นหน่วยสร้างความสงบใจ ขจัดความหวาดกลัว เพื่อให้เกิดความเชื่อใจ (Trust) ต่อระบบและกฎหมาย นั่นก็คือสถาบันตำรวจ

    ด้วยยุคสมัยในปัจจุบันที่ภัยร้ายและอาชญากรรมเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อันสืบเนื่องมาแต่การยกระดับตามความก้าวล้ำของเทคโนโลยีในยุคสมัยของไซเบอร์ คนเปลี่ยนพฤติกรรม อาชญากรรมก็เปลี่ยนรูปแบบ จนหลายๆ ครั้งได้ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อการทำงานของนายตำรวจ ที่ต้องจัดการกับคดีความแปลกใหม่ และไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งเป็นสถาบันในการผลิตนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือตำรวจนายร้อยที่จะต้องก้าวออกมาเพื่อทำหน้าที่ในการปกป้อง และปราบปราม ผู้กระทำความผิดและอาชญากรรม เพื่อคืนความปลอดภัยและสงบสุขให้กับสังคมตามหน้าที่

    บนพันธะกิจในหน้าที่ของผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พลตำรวจโท ดร.ปิยะ อุทาโย คือผู้ที่ต้องทำหน้าที่ “สร้างนายร้อยตำรวจ ให้เป็นผู้นำ” เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและศรัทธาของประชาชน และโดยยังต้องมีความเท่าทันต่อโลกในปัจจุบันและในอนาคตที่กำลังคืบคลานเข้ามา ด้วยปูมประวัติอันดีงามทั้งผลงานและการศึกษาของ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในหมู่มิตรสหายและครูอาจารย์ว่า เป็นผู้ที่มีเกียรติประวัติในด้านผลการเรียนดี สอบได้ที่ 1 เสมอมา เริ่มตั้งแต่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นประถม 1 จนถึง ม.ศ. 3 แม้เมื่อต่อมาย้ายการศึกษามาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร ผลการเรียนก็ยังคงเป็นที่ 1 จนถึงเมื่อมาเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็ยังเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้พบเห็นโดยทั่วไปว่า บนป้ายทำเนียบนักเรียนนายร้อยตำรวจ ผลการเรียนดีเยี่ยม ของรุ่น 38 จะปรากฏชื่อของ นรต.ปิยะ อุทาโย (ควบคู่กับทำเนียบนักเรียนนายร้อยที่มีความประพฤติดีเยี่ยม ของรุ่น 38 ก็ยังปรากฏชื่อของ นรต.ปิยะ อุทาโย ซึ่งเกียรติประวัติด้านความประพฤติดีงามนี้ เป็นผลจากการลงคะแนนคัดเลือกจากเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่น) และที่เหนือยิ่งไปกว่านั้น คือเมื่อ ปิยะ อุทาโย ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็ยังสามารถคว้าเกียรติประวัติของผลการเรียนดีเด่น ปรากฏให้เห็นบนการขึ้นชื่อบนบอร์ดประกาศของทางสถาบัน อันเป็นเรื่องที่รับรู้กันดีในหมู่นักเรียนนิด้าว่า การจะได้ “ขึ้นชื่อบนบอร์ดนั้น” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ยากถึงยากมาก ด้วยภูมิหลังดังกล่าวมา ย่อมเป็นสิ่งซึ่งพิสูจน์ถึงความสามารถและคุณสมบัติอันครบพร้อมของผู้ที่พึงจะมารับหน้าที่ “เจียระไนเพชร” ให้กับโรงเรียนผลิตนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรอันเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด


    นิตยสาร MBA ได้มีโอกาสเข้าพบและรับฟังถึงทรรศนะและแนวทางในการพัฒนาเพื่อการสร้าง “ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ หรือ นายตำรวจ” ให้สังคม จาก พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย ผบช.รร.นรต (ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ)

    – ในยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ มีความยากหรือความท้าทายในการสร้างหรือพัฒนาคนของสถาบันหรือไม่ อย่างไร

    ผมคิดว่าปัญหาหลักที่เราพบก็คงไม่ต่างจากปัญหาที่พบในระบบการศึกษาของประเทศทั่วไป ผมไม่คิดว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรที่น่าตกใจ อย่าลืมว่า พัฒนาการชองโลก ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภายในบ้านเรา และไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี ลองมองอีกมุมว่า แม้เทคโนโลยีจะนำมาซึ่งอุปสรรคใหม่ๆ แต่เราก็สามารถพลิกสิ่งที่คิดว่าเป็นวิกฤติเปลี่ยนเป็นโอกาสได้ ถ้าเรามีการจัดระเบียบและวางระบบให้เหมาะสม เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ ทางโรงเรียนเราเองก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนหลายส่วน ทั้งวิธีติดต่อสื่อสารหลายรูปแบบ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสอดแทรก เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ให้เท่าทัน โดยมองว่าจะทำให้ดีขึ้นต่อการพัฒนาเด็ก เราไม่ห้ามแต่จัดระเบียบ เพราะสิ่งหนึ่งคือ คนในวัยหนุ่ม การห้ามก็เหมือนการกดลูกปิงปองลงไปในน้ำ ยิ่งกดแรงยิ่งกระเด้งกลับ

    แต่เราก็บอกตลอดเวลากับนักเรียนว่า เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบของชีวิตทั้งระบบ ภายใต้การไหลบ่าเข้ามาของเทคโนโลยีทั้งหมด ต้องมีการเลือกรับ และนั่นก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้เด็กได้ถูกฝึกในการคิดและกลั่นกรอง และข้อหนึ่งที่สถาบันตำรวจ อาจจะต่างออกไปจากทหารคือ การไม่ด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ แต่ต้องเชื่อจาก พยานหลักฐานที่แท้จริง เท่านั้น เราถึงต้องมีการเรียนวิชา นิติวิทยาศาสตร์ ที่สมัยก่อนเรียกว่า วิชาพิสูจน์หลักฐาน สมัยผมเรียนเขาสอนกันว่า พยานบุคคล เชื่อถือได้น้อยที่สุด มีพยานวัตถุเท่านั้นที่น่าจะเชื่อถือได้ เพราะมันจะอยู่คงทน พอมาถึงสมัยนี้ พอเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี มันก็เป็นพยานที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ แต่เราก็ต้องรับฟังมัน ใช้มันให้เป็นประโยชน์ในการสืบค้น เหมือนคน เราไม่เชื่อคนๆ นี้แต่เราเชื่อว่า คนๆ นี้สามารถใช้สืบต่อเพื่อหาข้อมูลได้ เทคโนโลยีก็เช่นกัน สำหรับนักเรียนที่นี่เราก็มีหลายๆ วิทยาการที่มีการเรียนอยู่ แต่เราเอาเทคโนโลยีเป็นตัว mean ไม่ใช่ end หรือเป็นคำตอบสุดท้าย ภายใต้สิ่งเหล่านี้ เด็กนักเรียนต้องผ่านการฝึกสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา ทั้งเรื่องภาษาอังกฤษ การใช้ application การสืบค้นหาข้อมูลอย่างเชื่อมโยง เหล่านี้ล้วนเพื่อการพัฒนาตัวเองของเด็กภายใต้เทคโนโลยีในยุคสมัยใหม่

    – สังคมย่อมคาดหวังว่า ตำรวจจะเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอาชญากรรมสมัยนี้ที่นับวันจะยกระดับทั้งชั้นเชิงและรูปแบบ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาก่อเหตุแปลกใหม่อย่างที่ไม่เคยมี โดยเฉพาะในช่องทางของไซเบอร์ แล้วการสร้างตำรวจรุ่นใหม่เพื่อให้มีความเท่าทันต่อสถาน-การณ์เป็นอย่างไร

    แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1 โดยภาพรวม รูปแบบของการเรียนรู้ ได้มีการปรับให้เทียบทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยกตัวอย่าง การเรียนรู้แบบเดิมที่เคยเป็นการบรรยายใน classroom เราก็ปรับให้เป็น work shop มากขึ้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราเป็นโรงเรียนผลิต professional เป็นสายวิชาชีพ โรงเรียนนายร้อยไม่ต่างจาก วิชาชีพอื่น เช่น วิศวะ หรือแพทย์ ที่มีการกำหนดการเรียนภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ในสัดส่วน 60/40 หรือ 70/30 ก็ตาม เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็ต้องเข้าใจต่อไปอีกว่า แม้แต่หมอทุกคนไม่ได้รักษาโรงมะเร็ง แต่จะต้องมีหมอเฉพาะทาง เหมือนที่ทุกคนก็เข้าใจว่า การไปหาหมอ เริ่มต้นต้องไปหาอายุรแพทย์ ถ้าเราแค่ปวดหัวตัวร้อนทั่วไป แต่ถ้าพบว่าอาการเราหนัก หรือเป็นโรคเฉพาะทาง เราก็จะถูกส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง เช่นกันที่ว่า ตำรวจไม่ใช่ Superman ที่สามารถจะล่วงรู้ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่เทคโนโลยีไปยันทุกสิ่ง เพราะโดยหลักใหญ่แล้ว งานตำรวจโดยทั่วไปในโรงพัก ก็เป็นเรื่องอาชญากรรมพื้นฐาน และงานตำรวจทั่วไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญที่เป็น specialist อีกส่วนหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ในการดูและจัดการกับอาชญากรรมเฉพาะทาง

    โรงเรียนนายร้อยโดยหลักใหญ่เราสร้างคนเพื่อออกไปเป็นผู้ใช้กฎหมาย ในภาพรวมคือ street claim หรืออาชญากรรมพื้นฐาน และในขณะเดียวกัน ก็จะมีวิชาของปี 3-4 ที่จะมีการสอนในวิชาเฉพาะทางเพิ่มขึ้นมา

    ตอนนี้จำนวนประชากรในโครงสร้างของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง ไหนจะมีการเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติ ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางเข้ามาได้อย่างง่ายขึ้น จากเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างประเทศ การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเป็นอย่างไร

    เราต้องยอมรับว่าเมื่อเราเปิดประเทศเพื่อตอบรับกับเหตุผลต่างๆ ไม่ว่า จะเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อความร่วมมือใน AEC ก็แล้วแต่ หรือการยกเว้นวีซ่า on arrival ในบางเงื่อนไข ก็ตาม เราก็ต้องยอมรับกติกา เมื่อต้องการ รายได้ตรงนั้น ก็ต้องยอมรับการไหลบ่าที่จะเข้ามาทั้งแรงงานต่างด้าง นักท่องเที่ยวเข้ามา แน่นอนว่าจะต้องมีการกำหนดรูปแบบในการรับมือให้พร้อมหลายส่วน

    สำหรับโรงเรียนนายร้อย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง หรือ sub-set หนึ่งของระบบตำรวจ ภาพรวมก็ต้องสอดรับกัน เช่น การ สกรีนคนเข้ามา การตรวจคนเข้ามา ทั้งทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ ก็จะต้องมีระบบสกรีน ต่างๆ ที่หนาแน่นขึ้น โดยนำเทคโนโลยี ต่างๆ เข้ามาใช้ ในสารบบ เช่นถิ่นที่อยู่ ตัวอย่างเล็กๆ เคยสังเกตมั้ยว่า สมัยนี้โรงแรมต่างๆ ถ้ามีการจองห้องสองเตียง ตอนเช็คอินถ้าใช้ชื่อคนเดียวแสดง เขาจะไม่ยอม แต่จะต้องขอพาสปอร์ตของคนที่ 2 ให้ได้ นี่คือการควบคุมอย่างหนึ่ง ในต่างประเทศเขาก็ทำแบบนี้ มันเป็น security อย่างหนึ่ง ซึ่งบ้านเราก็มีการปรับแล้วเช่นกัน ต่างจากสมัยก่อน ที่อะไร ยังไง ก็ได้

    – ปัญหาอาชญากรรมสมัยใหม่ เกิดมากขึ้นในโลกไซเบอร์ แล้วการจัดการอย่างไรที่จะไม่ไปกระทบหรือล่วงล้ำในความเป็นส่วนตัว หรือ privacy ขณะที่ก็ต้องให้เกิด security

    โดยหน้าที่แล้ว ตำรวจเองก็ต้องเข้าไปดูแลหลายสิ่ง หลายอย่าง แต่ บางสิ่งบางอย่าง มันก็ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างความเป็น privacy หรือสิทธิส่วนบุคคล กับ เรื่องที่ต้องดูแลในภาพรวม ถามว่า ยากมั้ย? ก็ตอบว่า ยาก เพราะสิ่งหนึ่งที่ โรงเรียน ต้องเพิ่มเติมคือ เรื่อง human right หรือสิทธิมนุษยชน เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน เช่น เรื่องการ ดักฟังโทรศัพท์ ผมถามว่า ถ้าเราเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง เช่นถ้ารู้ว่าคนนี้เป็นคนร้าย การดักฟัง ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องให้มีคำสั่งของศาล ไม่ใช่ว่า ตำรวจจะไปดำเนินการทำอะไรได้ตามอำเภอใจ นั่นไม่ใช่

    เหมือนกรณี single gateway ก็ตาม มันก็จะต้องมีระบบของมัน เทคโนโลยีทุกอย่างไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็สามารถจะได้ดังใจไปหมด บ่อยครั้งที่คนสงสัยว่า ทำไมคุณไม่รีบๆ จับเลยสิ รออะไรอยู่ รู้อยู่แล้วว่าโกง พวกคดีออนไลน์ ทำไมไม่ไปเช็คจากแบงก์ ซึ่งต้องเข้าใจนะว่าหลักการก็ต้องมาก่อน ใช่ว่าตำรวจจะทำอะไรได้ตามใจได้ทุกสิ่ง

    ต้องรับมือกับโจทย์ใหม่ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ในปัจจุบัน เครื่องไม้เครื่องมือ เราเท่าทันกับการรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน

    อาชญากรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่แค่ตำรวจไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญ แต่เหมือนกันทั่วโลก และบอกได้เลยว่า ผู้ก่ออาชญากรรมมักจะนำเราอยู่ก้าวหนึ่งเสมอ แต่ไหนแต่ไรมา คือพัฒนาการของเทคโนโลยี กับพัฒนาการของคนที่จะใช้เทคโนโลยีไปฉ้อโกงคนอื่น จะนำหน้าตำรวจอยู่ 1 ก้าวเสมอ เพียงแต่เราจะเรียนรู้ทันมันหรือเปล่า และที่สำคัญคือ อะไรก็ตามก็ไม่สำคัญเท่าความตั้งใจจริง ที่จะแก้ไขปัญหา เพราะต่อให้เทคโนโลยีไปไกลแค่ไหน ถ้าเราตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาให้เขามันก็คือการแก้ปัญหา แต่ถ้ามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่ความตั้งใจของตำรวจไม่มีก็ไร้ประโยชน์


    แล้วจริงหรือไม่ ที่ตำรวจกับโจร เหมือนจะมีเส้นบางๆ ที่กั้นขวางกันอยู่ และพร้อมจะสลายไปเพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ เช่นว่า คบโจรเพื่อไว้จับโจร

    นั่นคือตำรวจโบราณ เลี้ยงโจรไว้จับโจร เทคโนโลยีสมัยนี้ช่วยลดแนวคิดและวิธีการ แบบนั้นไปแล้ว สมัยก่อนต้องคบกับโจรเพราะไม่มีเทคโนโลยี แต่ตอนนี้ เทคโนโลยีเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ อย่างปัจจุบันเราสนับสนุนให้คนติดกล้องที่รถ และสนับสนุนให้มีการติดกล้องทุกจุด ถามว่า ตำรวจชอบมั้ย? เอาจริงเลย ตำรวจชอบนะ แต่ถ้าคนทั่วไป เอาความรู้สึกว่า เฮ้ย! ตำรวจก็ขี้โกงนี่หว่า อดอยาก เที่ยวเก็บค่าปรับ อยากเขียนใบสั่ง ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่ เค้าไม่ได้สนใจเงินจำนวนนี้กันหรอก แต่ถามกลับว่า ตำรวจปลอดภัยขึ้นไหม ถ้ามีการติดกล้อง แน่นอนว่า ตำรวจปลอดภัยนะ เพราะเวลาถูกกล่าวหา กล้องก็ฟ้องได้ชัดเจน ผมว่ามุมบวกมันเยอะนะ ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ตำรวจก็ไม่ต้องไปคอยซุ่ม ยิ่งถ้าประเทศไทย ติดกล้องสัก 20 ล้านตัว ก็ไม่ต้องมัวตั้งด่าน ถามว่า ตำรวจอยากไปตากแดดไหม ไม่อยากหรอก แล้วยิ่งจะช่วยได้ด้วยในเรื่องความปลอดภัยของตำรวจเอง และที่สำคัญคือ เทคโนโลยี จะมีส่วนช่วยได้มากในเรื่องดุลพินิจ เพราะมันจะลดการไปผูกพันกับโจร ผมว่าโมเดลการปราบยาเสพติดทุกวันนี้เป็นโมเดลที่ดีนะ ถ้าคุณโดนข้อหายาเสพติด คุณจะโดนยึดทรัพย์ ไม่ได้รับการประกันตัว

    เครื่องไม้เครื่องมือที่ตำรวจมีและใช้ เพียงพอต่อการรับมือในยุคสมัยแค่ไหน

    ศูนย์ ทุกวันนี้คนไทยคาดหวังจากตำรวจ 1000 บาท แต่จ่ายตังค์ให้ตำรวจ สลึงยังอาจจะไม่ถึงเลย ใช้คำนี้อาจจะแรงไปหรือเปล่า คนคาดหวังกับสิ่งที่อยากได้จากตำรวจ ทั้งจับโจร ของหาย จับคนร้ายขับรถชน คนเมา ไปจนถึงคดีฉ้อฉลคนโกง ไม่เว้นแม้แต่อาชญากรรมในโลกออนไลน์ ภายใต้การปราศจากการลงทุนใดๆ อย่างงบประมาณสำหรับการพัฒนาผมว่ายังไม่ถึง 5% เลยมั้ง แต่บ้านเรายังไม่สามารถลงทุนในเรื่อง R&D ได้อย่างชัดเจนมากนัก ที่ผ่านมา ตำรวจเป็นหน่วยงานที่ถูกดูถูกเหยียดหยาม แต่ก็ไม่เคยลงทุนอะไรให้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะมาท้อแท้ อย่างการพัฒนานักเรียนทุกวันนี้ เราจะพบว่าเด็กๆ รุ่นใหม่ มีความสามารถที่ต่างออกไป เค้าสามารถแสวงหาและมีทักษะใหม่ๆ หลายๆอย่าง อย่างเทคโนโลยีการสืบค้น มีการตั้งชมรมแล้วแบ่งปันความรู้ให้กัน เช่นชมรม บีบีกัน หรือ ชมรมโดรน ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดี เด็กบางคนยังมีข้อเสนอเป็นความคิดเห็นเลยว่า ประเทศเราเป็นเมืองเล็ก เราไม่สามารถลงทุนได้มาก แต่เราสามารถเอาความต้องการใช้หลายอย่างเข้าไว้ในจุดใดจุดหนึ่งร่วมกัน แล้วทำการแชร์การใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เป็นเทคโนโลยีกลางที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย และอีกหลายๆ ความเห็นที่ผมเองก็คิดว่า น่าจะเป็นความหวังของอนาคตกันได้สำหรับเด็กๆ รุ่นต่อไป

    – แนวนโยบายในการพัฒนาคนของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นอย่างไร ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

    ก็ต้องปรับ เพราะเราไม่สามารถใช้คาดดีดคาดงัดตัวเดียว ไปงัดสิ่งต่างๆ ได้หมด เหมือนในห้องๆ ห้องหนึ่งจะมีระเบียบขึ้นมาได้ ก็คือ ใครนั่งเก้าอี้ไหน ก็จัดเก้าอี้นั้นของตัวเอง และนั่นคือหัวใจที่สำคัญยิ่ง แต่บ้านเรามักจะชี้ออกไปแล้วพูดว่า ตรงนั้นทำไมไม่จัด ตรงนี้ทำไมไม่จัด เสร็จแล้วคนที่พูดก็ไม่จัดเก้าอี้ตัวเอง สิ่งที่เราสอนเด็กทุกคนที่นี่ว่า ถ้าคนทุกคนอยู่ในกฎเกณฑ์กติกา ทุกอย่างก็เข้าที่ สิ่งไหนส่วนตัว ส่วนไหนส่วนกลาง อย่างไหนเราดูแล และส่วนไหนต้องช่วยกัน โต๊ะเก้าอี้ดูแลเอง ห้องน้ำคือของกลาง ต้องช่วยกันรักษา ไฟเป็นของกลาง ไม่ใช้แล้วต้องช่วยกันปิด นั่งคนเดียวเปิดไฟดวงเดียว คือเติมตัวอื่นเข้าไป แต่ทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่สอนเรื่องอื่นหมด แต่ลืมสอนเรื่องจัดการเรื่องตัวเอง ผมมองว่าตรงนี้ต่างหากทีน่าจะเป็นคีย์เวิร์ด ผมได้ข้อสรุปส่วนหนึ่ง ที่เมื่อครู่คุยกับ ท่าน อาจารย์ปุระชัย ที่ท่านให้เกียรติมาบรรยาย ว่าถ้าเอาประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวสำหรับการผลิตบุคลากรที่นี่ ผมว่าเป้าหมายสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า เมื่อคุณเรียนจบไปแล้วคุณมีความสามารถที่จะทนทาน ต่อแรงกดดันเสียดสี ที่ทำให้คุณประพฤติไม่ดีไม่ชอบได้แข็งแกร่งเท่าไหร่ต่างหาก เพราะการเรียนในโรงเรียนนายร้อย 4 ปี ไม่สามารถสอนอะไรคุณได้หมด เพราะเพียงคุณจบไป 1 ปีความรู้ก็มีการเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้าคุณยังรับราชการอีก 38 ปี และคุณยังแกร่งในความซื่อสัตย์สุจริต คุณแกร่งในการมีเจตนารมณ์ที่จะดูแลพี่น้องประชาชน คุณแกร่งอดทนต่อการยั่วยุของสิ่งไม่ถูกไม่ควร นั่นแหละคือความสำเร็จ

    – จำนวนตำรวจและทรัพยากร ของเราพอเพียงกับการดูแลความปลอดภัยให้กับประเทศและประชาชนหรือไม่

    ถ้าจะเอาคำตอบแบบสถิติ ก็เปรียบเหมือนการเอาทรายถมลงในแม่น้ำ ตอบไม่ได้ว่า พอหรือไม่ ไม่เคยมีสูตรสำเร็จ แต่เคยมีผู้กล่าวว่า ถ้าใช้สัดส่วนของจำนวนตำรวจต่อประชากรทั้งประเทศ ก็ต้องตอบว่า ไม่พอ แต่ผมคิดว่า จำนวนไม่ใช่ประเด็น เพราะต่อให้พื้นที่ ประชาชน 100,000 คน มีนายตำรวจ 200 นาย แล้วไม่พอ ต่อให้เติมอีก 5,000 นายก็ไม่เชื่อว่าจะพอ แต่คีย์สำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการต่างหาก เพราะถ้าเอาคำถามนี้ไปถามนายตำรวจที่ญี่ปุ่น เค้าก็คงจะตอบว่า เค้าก็ไม่พอเหมือนกัน แต่อาชญากรรมเค้าน้อยกว่าเรามาก เพราะเค้ามีวิธีบริหารจัดการ ไม่เกี่ยวกับจำนวนนะ เปรียบเหมือนสตางค์ในกระเป๋าของเรา แต่ก่อนเราตั้งสมมุติฐานว่า คนมีตังค์เยอะ ก็คงจะไม่โกง มั้ง แต่เราก็พบว่า คนขับแท็กซี่เก็บของแล้วเอามาคืนอยู่บ่อยๆ และเราก็ยังพบว่าคนมีสตางค์หลายสิบล้านก็ยังโกงอยู่ดี มันเป็นคำตอบหรือเปล่า แต่ก็อีกเหมือนกันว่า คนรวยๆ บางคนเค้าก็บริจาค และคนจนก็ยังขโมยก็มี มันจึงไม่ได้อยู่ที่จำนวน ผมจึงอยากขอย้อนกลับมาว่า จำนวนตำรวจที่เรามี ไม่พอหรอก แต่ว่าถ้าเราจะท้อแท้กับมัน และคิดว่า จะต้องเอามาเติมให้เยอะๆ มันคงไม่ใช่ เพราะยังมีอาชีพอีกเยอะแยะที่เราต้องการในสังคม เช่นเรายังต้องการ พยาบาลและหมอ เพื่อมาดูแลผู้เจ็บป่วย เรายังต้องการครู ตำรวจต่างหากที่ต้องปรับวิธีการทำงานของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ลูกค้าของตำรวจก็คือประชาชนก็พึงควรจะต้องมีการปรับด้วยเช่นกัน

    – ทุกวันนี้ อะไรคือ สิ่งสำคัญสุดที่ต้องบริหารจัดการเพื่อพัฒนาทรัพยากรตำรวจ

    ข้อแรกเลยคือเรื่องคุณภาพของตำรวจ ซึ่งคุณภาพไม่ใช่ ต้องเก่งเหมือน ซูเปอร์-แมนหรือ ไอรอนแมน แต่สิ่งสำคัญคือ ความแกร่ง ทน ต่อสิ่งยั่วยุทั้งระบบ ตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริตก่อน จากนั้นก็เป็นเรื่องการแสวงหาความรู้ที่จำเป็นต่อวิชาชีพ เพื่อที่จะดูแลคนอื่นได้ มันคือทั้งเป้าหมายและคำตอบ ข้อ 2 ผมก็ยังคิดว่า การทำงานโดยการร่วมมือกัน ผมไม่เชื่อ อัศวินม้าขาว ผมเชื่อในการทำงานเป็นทีม ช่วยกัน ทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ และตัวลูกค้าของเราคือ ชาวบ้าน ในประเทศไทย หลายชุมชนน่าอยู่มาก และไม่ค่อยมีอาชญากรรม ไม่ได้บอกว่าตำรวจในพื้นที่เก่งนะ แต่เกิดจากคนในชุมชนเก่ง พ่อแม่ดูลูก ครูบาอาจาย์บอกนักเรียน พนักงานการไฟฟ้าก็เปิดไฟส่องสว่างตามซอย
    ไม่ให้มีมุมมืด ตำรวจหมั่น ออกตรวจตรา เขตก็คอยเก็บขยะ ทุกคนทำหน้าที่ ผลที่ตามมาก็ทำให้ซอยนั้นน่าอยู่ ปราศจาก อาชญากรรมและสิ่งผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะแก้ปัญหาบ้านเราได้ และอีกอย่างที่สำคัญมากคือ การให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ กับผู้ใต้บังคับบัญชาเอง หรือ แม้แต่การจะทำให้บ้านเมืองอยู่ได้ ก็คือการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และยังต้องดำเนินการโดยหลักนิติธรรมควบคู่กับเมตตาธรรมอีกด้วย เพราะถ้าเอา นิติธรรมอย่างเดียว ในหลายสถานการณ์ปัญหาก็อาจไม่จบสิ้น

    – ทราบประวัติว่าท่านเรียนหนังสือเก่งมาก ทำไมเลือกเป็นตำรวจ

    รักและมีความสุขที่ได้ทำงานนี้

    – ความภูมิใจสูงสุดในหน้าที่ตำรวจคืออะไร

    ก็ที่เราสามารถยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต และดำรงตนในสิ่งที่ถูกปลูกฝังมา ทุกอย่างโดยไม่เคยวอกแวกวอแว และก็เป็นเป้าหมายที่อยากให้เด็กนักเรียนที่นี่เป็น ซึ่งก็เป็นในสิ่งที่ตัวเราก็เคยเป็นมาแล้ว คือยังมีความอดทนและแข็งแกร่งต่อทุกสิ่งที่ตั้งไว้ไม่เคยเปลี่ยน ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งที่เคยคิดไว้ตั้งแต่เป็นนักเรียน เพราะเป้าหมายในใจคือ เราอยากทำงานด้านการสร้างคน

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments