Friday, April 19, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนข้อคิดจาก “สมเด็จพระสังฆราช” ถึงนักข่าว-ให้ตำรวจ

    ข้อคิดจาก “สมเด็จพระสังฆราช” ถึงนักข่าว-ให้ตำรวจ

    IMG_3324
    สนับสนุนเรื่องราวดีดี
    IMG_3325
    สนับสนุนเรื่องราวดีดี

    ข้อคิดจาก “สมเด็จพระสังฆราช”
    ถึงนักข่าว-ให้ตำรวจ

    คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
    โดย…ธนก บังผล

    มีเหตุการณ์ที่น่าคิดและเป็นที่กล่าวขานกันอย่างกว้างขวางในวงการสื่อมวลชน ภายหลังจากที่ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกิจการด้านพระพุทธศาสนา พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้ากราบสักการะ พร้อมถวายฎีกานิมนต์ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราช วรวิหาร เข้ารับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ประทานการเทศนาให้กับสื่อมวลชนที่แห่กันแย่งไมค์จ่อ รุมล้อมทั้งยืนและนั่ง ฉุดยื้อแย่งกันทำข่าว

    “คิดว่างานนี้ครั้งนี้คงจะเป็นงานขั้นต้น ท่านทั้งหลายไม่ต้องแย่งกันจับภาพ เราจับภาพไปพร้อม ๆ กัน แล้วมันจะสวยจะงาม แล้วสถานที่นี้ เราก็นึกดูแล้วกัน เป็นพระอุโบสถที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทรงสร้างไว้ พวกเรารู้กันดีแล้ว ต่อจากนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย ไม่ว่าที่แห่งใดก็ตาม ก็ขอไม่ต้องยื้อแย่งกัน อาตมาจะนั่งให้ถ่ายอย่างดี ๆ”

    คนในวงการสื่อซึ่งทุกวันนี้มีหลายช่องโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ สื่อออนไลน์ มากมายจำไม่หวาดไม่ไหว ในแต่ละสังกัดนั้นก็มีสายงานข่าวมากมาย เช่น กีฬา บันเทิง การเมือง อาชญากรรม รถยนต์ เศรษฐกิจ ต่างประเทศ ภูมิภาค สาธารณสุข ไอที ฯลฯ แต่ละสายก็ต่างมีวิธีการทำงานและหาข่าวแตกต่างกันไป

    สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ทรงโปรดชี้ทางให้เห็น เป็นเรื่องที่บรรดานักข่าวเองต้องฟังและนำไปปรับปรุง

     ที่ผ่านมา ในฐานะที่ผมอยู่ในภาคสนามข่าวการเมือง ก่อนที่จะผันตัวเองมาอยู่อาชญากรรมนั้น สัก 10 กว่าปีนั้นยังไม่มีการแย่งขนาดนี้ เนื่องด้วยต่างคนต่างมีวิธีเข้าหาแหล่งข่าวที่ต้องใช้ “ศิลปะ” บริหารพร้อมกับการแจกจ่ายให้พับพี่ๆน้องๆในสนาม โดยที่ไม่ตกข่าวสังกัดตัวเอง

    ปัจจุบัน “ศิลปะ” ที่ว่านั้น แทบหาไม่ได้แล้ว ไม่อาจทราบได้เลยว่าเหตุผลอาจมาจากสื่อที่มีมากขึ้น หรือนักข่าวที่เข้ามาทำงานทุกวันนี้ไม่ได้สนใจจะพัฒนาให้ต่อยอด

     ผมหมายถึงการสั่งสอนจากนักข่าวรุ่นพี่ด้วยเช่นกัน เราจะไม่ลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยที่กลายเป็นพื้นฐานทำให้การทำงานข่าวทุกวันนี้ “แปลกและประหลาด” จากความไม่สนใจของนักข่าว แต่มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การแต่งตัวและมารยาทของนักข่าว เราเรียกมันว่า “จริยธรรมวิชาชีพ”

    โดยเฉพาะการแต่งกายให้เกียรติสถานที่และบุคคลที่เราเข้าไปพบนั้น นักข่าวรุ่นเก่าเขาซีเรียสมากๆ เพราะนอกจากจะเป็นหน้าตาของสำนักพิมพ์แล้วยังหมายถึงความน่าเชื่อถืออีกด้วย แต่ด้วยปัจจุบันนักข่าวนิยมใส่กางเกงยีนส์ บางคนเลยเถิดถึงขนาดใส่เสื้อยืดไปสถานที่ราชการ ภาพมันก็เลยดูไม่เหมาะสม

     แต่…ที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ทรงโปรดเทศนานั้น คือเรื่องมารยาท ที่ผมคิดว่าสำคัญไม่น้อยกว่าการแต่งกาย จะโทษว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีวุฒิภาวะก็คงจะดูแล้งน้ำใจเกินไป ผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้านักข่าวควรจะสั่งสอนบอกกล่าวกับนักข่าว มากกว่าการสั่งงานทางไลน์ไปวันๆ

    ที่น่าสงสารคือ คนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้นักข่าวแต่งตัวดีๆเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ กลับทำเป็นลืมว่าเงินเดือนค่าครองชีพของนักข่าวไม่ได้มากมายอย่างที่คนนอกวงการคิดกัน อยากสวยงามก็ต้องเป็นนักข่าวโทรทัศน์ เพื่อจะได้มีเงินเดือนมากกว่านักข่าวหนังสือพิมพ์

    ประเด็นเงินเดือนนั้นทำให้มีการซื้อนักข่าวโทรทัศน์หรือการลาออกจากหนังสือพิมพ์ไปทำข่าวโทรทัศน์ จนทำให้สื่อโทรทัศน์วุ่นวายปั่นป่วนไปด้วยกลุ่มคนที่ไม่มีความสามารถทางด้านข่าวหรือเป็นเด็กรุ่นใหม่ๆที่อยากดัง อยากออกทีวีเต็มไปหมด

    ยิ่งเขียนไปก็เหมือนสาวไส้ให้กากินครับ ไม่ดีต่อตัวผมเองแน่นอน

     กลับมาว่าเรื่องของเราๆตำรวจกันในประเด็นนี้กันดีกว่า เมื่อมองแล้วก็ทำให้เห็นว่าสื่อมวลชนเขาแย่งกันทำงานแล้วภาพออกมาไม่สวยงามอย่างไร ในวงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็น่าจะย้อนกลับมาดูตัวเองด้วยครับ เอามาเปรียบกับการทำงานเพื่อประชาชน

    ผมอยากจะยกตัวอย่าง การทำงานจับโจรผู้ร้ายในทุกวันนี้ หากเกิดคดีฆาตกรรมในท้องที่ จ.สุราษฎร์ธานี แล้วปล่อยให้เวลาผ่านไปจนญาติผู้ตายรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จากภูธรจังหวัด ประชาชนก็หวังพึ่งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค

     หากยังสิ้นหวังทางญาติเดินทางมาร้องเรียนกองปราบปราม และมีจุดหมายสุดท้ายคือส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจตำรวจแห่งชาติ

     สมมติว่ากองปราบส่งทีมลงไปทำแล้วจับคนร้ายได้ งานก็เข้าที่ตำรวจท้องที่ อาจจะเห็นว่าเป็นการตีแสกหน้า แต่เวลาแถลงผลงานอย่างไรทางตำรวจภูธรภาค และจังหวัดก็ต้องได้ผลงาน

     นี่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ เราเห็นนักข่าวแย่งกันทำผลงานแล้ว ผมก็อยากเห็นตำรวจแข่งกันทำผลงาน

     “แข่ง” กันทำผลงานกับ “แย่ง” กันทำผลงาน นั้นคนละเรื่องเลย
    คอลัมน์วันนี้มาซะหนักเลย แต่ก็ถือว่าเอาคำสอนคำเทศนาของสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาช่วยกันคิดครับ

    ตำรวจหยุดนิ่งไม่ได้ เดี๋ยวจะมีคนมาดูถูกอีกว่ามีตำรวจไว้ทำไม

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments