Thursday, April 18, 2024
More
    Homeเจาะข่าวดัง พลิกแฟ้มคดีเด่นเล่าตำนานอดีตบิ๊กตำรวจ “สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์”

    เล่าตำนานอดีตบิ๊กตำรวจ “สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์”

    เรื่องเล่าเหล่าตำนาน โดย น สิยา เรื่อง

    อ้วน โอฬาร นิตยสาร COP’S ภาพ

    ย้อนรำลึก “สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์”

    แกนนำอดีตบิ๊กตำรวจต้านผ่าโครงสร้างสีกากี

    นับเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของอดีตนายตำรวจใหญ่วัยเกษียณในการปลุกระดมร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติใหม่ ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2550 แบบมัดมือชก

    หลายคนถึงต้องกลับมานั่งโต๊ะเสวนาต่อสู้เพื่อบ้านหลังเก่า

    ตั้งแต่ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ นายกสมาคมตำรวจ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค นายกสมาคมข้าราชการบำนาญ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือแม้กระทั่ง พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยยังให้เกียรติเดินทางไปร่วมรับฟังความคิดเห็นที่สโมสรตำรวจ

    กดดันกระทั่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต้องเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ร่าง พ.ร.บ.ผ่าโครงสร้างตำรวจใหม่ ที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ พร้อมนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม

    กับกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยที่เกือบทั้งหมดเป็นอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่

    ยกแรก ท่าทีของนายกรัฐมนตรีเริ่มเปลี่ยนไป ภายหลังจาก พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และพล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ 4 แกนนำอดีตบิ๊กตำรวจคนสำคัญตบเท้าเข้าคุยกับ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นการส่วนตัวอย่างจริงจังเรื่องโครงสร้างตำรวจใหม่ว่า มีส่วนดี ส่วนเสียตรงไหน

    พล.อ.สุรยุทธ์ ถึงออกมาการันตีว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม ไม่ใช่โอนย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม 

    dsc_0004

    แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรตำรวจจะปลอดการแทรกแซงทางการเมือง

    อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมอดีตผู้นำสีกากีที่กลับมารวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องความชอบธรรมให้แก่องค์กรเก่าทั้งที่ตัวเองแทบไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการผ่าโครงสร้างตำรวจในครั้งนี้เลย

    หัวหอกคนสำคัญในการรวมตัวของอดีตนายตำรวจใหญ่จึงหนีไม่พ้น พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจที่ครั้งหนึ่งเคยถูกอำนาจทางการเมืองเล่นงานปลดออกจากเก้าอี้ผู้นำหน่วยมาแล้ว

    พล.ต.อ.สวัสดิ์ เปิดใจผ่านนิตยสาร COP’S ครั้งนั้นถึงเรื่องราวการรวมตัวต่อสู้ให้บรรดาตำรวจรุ่นหลังว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นตัวที่จะเป็นแกน หรือปลุกประเด็น แต่เคยเป็นอธิบดีกรมตำรวจรู้ว่า การพัฒนาองค์กรตำรวจตามเหตุผลหลายอย่างมีสิ่งที่ต้องพัฒนา แต่ในแนวทางพัฒนาที่เห็นในครั้งนี้ไม่ถูกต้อง  บังเอิญ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ได้โทรศัพท์ไปหา หลังจากทราบว่า ครม.อนุมัติผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจจึงเชิญอดีตนายตำรวจหลายคนมาปรึกษาหารือกัน

    “ความจริงไม่ใช่ผมเป็นหัวหอกอะไรหรอก แต่พอมาถึงที่นี่ ปรากฏว่า อธิบดีที่แก่ที่สุด อาวุโสสุดที่มากลายเป็นผม ตอนแรกผมก็จะไม่ยอมนั่งเป็นประธาน แต่ พล.ต.อ.ประชาเห็นว่า เหมาะสม ผมก็เลยนั่งเป็นแกนนำ เอาความคิดของแต่ละคนที่มองกันหลายประเด็นมารวมกันเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี”

    พล.ต.อ.สวัสดิ์บอกว่า เมื่อมองในเรื่องของการกระจายอำนาจ ตนเห็นด้วย ในฐานะที่เคยไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540  ยอมรับในตัวรัฐธรรมนูญที่การกระจายอำนาจในส่วนราชการต่าง ๆ ควรสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่นี้ไม่ใช่ลักษณะกระจายโดยแท้จริง เป็นการกระจายอำนาจแบบแบ่งอำนาจ เหมือนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจเต็มที่ แล้วแบ่งอำนาจไปให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธร 1-9 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และให้ไปแตะต้องไม่ได้ แต่เดิมผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธร บริหารงานแบบประสานกันได้ มีขอบเขตกว้างขวาง แต่พอแบ่งอำนาจลงไปต้องสร้างฝ่ายอำนวยการเพิ่มขึ้นมา ต้องใช้งบประมาณ แล้วจะเอางบที่ไหนใช้ เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนทุกอย่างต้องดำเนินการ ภายใน 60 วันนับตั้งแต่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ถ้าเงินไม่มีถามว่า ทำได้หรือไม่ อาจทำได้แต่ไม่มีประสทธิภาพ 

    dsc_0040

    แกนนำปลุกอดีตบิ๊กตำรวจขึ้นคัดค้านโครงสร้างตำรวจใหม่บอกอีกว่า ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและภูธรภาค ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ มองดูแล้วว่า ประเทศไทยไม่ใช่ใหญ่โตอะไร ทำไมต้องไปเรียกเป็นอธิบดีถึง 10 คน วันนี้ยังไม่ แต่วันหลังก็เพิ่มยศยกระดับขึ้น ส่วนตัวคิดว่า ถ้าจะกระจายอำนาจต้องไปที่หน่วยปฏิบัติการที่สัมผัสประชาชน  ระดับโรงพักมากกว่า   “ผมเคยออกสำรวจความเห็นในฐานะเป็นกรรมาธิการตำรวจ พบปะตำรวจตามต่างจังหวัด พบว่า ไม่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ น้ำมนรถมีไม่เพียงพอในการทำงาน ผมถึงว่า ตำรวจทำงานโกงประชาชน เช่น จัดสายตรวจตรวจตามเวลาอาชญากรรม ตีสองมักเกิดบริเวณนี้ แต่มีน้ำมันให้เขาไม่พอ เขาออกไปแล้วจะตรวจมั้ย ก็ไม่วิ่ง จอดอยู่เฉย ๆ  ขาดการป้องกัน นี่คือสื่งที่ต้องตระหนัก”

    “ในจุดนี้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหลายคนยังบอกกับผมว่า เขาไม่สนใจนะว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะขึ้นกับใคร ขอให้มีอุปกรณ์บริการประชาชนเต็มที่ สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาหมดความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมกับผู้บังคับัญชาแล้ว แต่ยังมีความรับผิดชอบต่อการทำงาน แสดงว่า ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถจัดอะไรให้เขาทำงานได้ แล้วยังกลับมาสร้างแท่งคอนโดสูงขึ้น เพื่อหวังผลอะไรข้างหน้า ผมก็ไม่ทราบ”พล.ต.อ.สวัสดิ์กล่าว

    อดีตอธิบดีกรมตำรวจยังมีความคิดว่า แท่งคอนโดที่ให้อำนาจผู้บัญชาการ 10 คนเทียบเท่าอธิบดีกรมตำรวจจะเกิดปัญหาต่อไปในอนาคต เพราะประเทศไทยไม่เหมือนสหรัฐอเมริกาที่แบ่งการปกครองเป็นรัฐ ซึ่งอเมริกาก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะประสานงานกันไม่ได้ ต่างคนต่างทำงาน เมื่อออกนอกพื้นที่ก็ไม่มีอำนาจ แต่อเมริกาแก้ไขโดยให้หน่วยตำรวจสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอเปิดอบรมทั้งปี เรียกหัวหน้าตำรวจทุกแห่งหมุนเวียนเข้าไปอบรมเพื่อให้รู้จักกัน ประสานงานระหว่างรัฐได้ แต่ของเมืองไทยทำไมต้องทำแบบนั้น ประเทศเล็ก ๆ แบบนี้ต้องมานั่งประสานกัน เป็นสิ่งที่เป็นห่วง 

    dsc_0051

    อย่างมุมของ พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ มองว่า องค์กรต่าง ๆที่มาบริหารงานตำรวจในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ตช. ตามโครงสร้างตำรวจใหม่ มีจำนวน 19 คน แต่ มี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นตำรวจคนเดียว  ใครก็ไม่รู้มาเป็น ก.ตช. ทั้งที่ควรมีหน้าที่แค่วางนโยบาย ไม่ใช่ล้วงลูกการแต่งตั้งตำรวจ หากต้องการให้ปลอดการเมือง แต่คณะกรรมการ ก.ตช.มีทั้ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างกระทรวง หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน มีทนายความ ยกตัวอย่าง แค่ทนายความ คืออะไร ตำรวจเป็นพยานโจทก์ ทนายเป็นพยานจำเลย ไม่มีทนายที่ไหนชอบตำรวจ ถามว่า ถ้าตำรวจคนหนึ่งเอาจำเลยติดคุก เป็นจำเลยที่ทนายคนนี้ว่าความอยู่ ก็เล่นงานตำรวจคนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สบายใจ แต่หากจะวางนโยบายอย่างเดียวก็น่าจะเป็นสิ่งดี 

    พล.ต.อ.สวัสดิ์ ระบุอีกว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องของเงินเดือน ค่าตอบแทน เงินสวัสดิการ ที่จะต้องทำให้ใกล้เคียงกับอัยการ ผู้พิพากษา ถามว่า คิดไว้หรือยัง กฎหมายบอกอีก 60 วันต้องใช้ได้ งบประมาณยังไม่ตั้งเลย แค่เงินเดือนครูค้าง 2 พันกว่าล้านยังไม่มีให้ ขณะที่ตำรวจชั้นปะทวนที่มีวุฒิปริญญาตรี ปริญญาโทจะตั้งให้เป็นสัญญาบัตร ปัจจุบันมี 3 หมื่นคนแล้วจะปรับยังไง อีก 10 ปี 20 ปี ก็ยังปรับไม่หมด เหมือนทำอะไรเพ้อฝัน เรื่องที่นายกรัฐมนตรีพูดว่า ถ้าตำรวจเห็นด้วยก็ทำได้เลย เป็นการล่อใจ วางโครงสร้างข้างบนเรียกเป็นอธิบดี เป็นอธิบดี 10 คน คือสิ่งที่มีความเป็นไปไม่ได้ ทำไมไม่พัฒนาระดับล่าง 

    “การพัฒนาระบบตำรวจไม่ใช่ต้องแก้ไขกฎหมายเสมอไป ก่อนหน้าปฏิวัติ ผมก็ไม่เห็นด้วยเลยที่ตำรวจไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เอาใจนายกฯโดยไมได้สั่ง คนไหนเดินขบวนขัดแย้งกับรัฐบาลกลับดำเนินคดี คนไหนช่วยนายกฯ อย่างเช่นที่ ห้างสยามพารากอนไม่จับเขา สถาบันการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นพรรคประชาธิปัตย์เปิดเวทีปราศรัยที่เชียงใหม่ ผมบังเอิญเป็น สว.เชียงใหม่ได้ติดตามเรื่องนี้ มีคนชุมนุมจะเอาเก้าอี้ไปฟาดคุณชวน หลีกภัย ที่ปรึกษาพรรคสถาบันการเมืองที่อนุมัติถูกต้องตามกฎหมาย ในทีวี วิดีโอก็มีภาพคนทำร้าย แต่ว่าไม่มีใครกล้าเอามาสอบสวน จับให้ไม่ได้ เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้หนีพ้นระบอบการเมือง” 

    dsc_0043

    อดีตผู้นำตำรวจที่เคยถูกอำนาจการเมืองบีบพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยอมรับว่า ถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ทำตามอำนาจการเมืองที่สั่งมาได้หรือไม่ ทำได้ แต่ก็อยู่ในตำแหน่งไม่ได้ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาแก้ไข ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร.จึงควรเป็นตำรวจที่เลือกตั้งอดีตนายตำรวจเข้ามานั่งบริหารให้ถูกตามระบบ ไม่ใช่ปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้ง ปล่อยให้ ผู้บัญชาการตำรวจพิจารณาการแต่งตั้งโดยทุจริต และเป็นทาสนักการเมืองถึงเวลาแล้วที่ ประธาน ก.ตร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เทียบเคียงกับ คณะกรรมการตุลาการคณะกรรมการอัยการ ที่ใช้คนในระบบเท่านั้น มีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เดียวใครก็ไม่รู้ 18 คน มีตำรวจคนเดียว

    “สมัยผมเป็นอธิบดี เวลาแต่งตั้งโยกย้ายก็มีเด็กฝากนักการเมือง มีทุกกระทรวงก็ต้องยอมรับว่า เด็กฝากบางคนเป็นคนที่ถูกละเลยไม่ได้รับการดูแล 10-20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นไปรับใช้นักการเมือง ผมต้องแก้ปัญหากลุ่มนี้ เมื่อฝากมาเราก็จะตรวจสอบประวัติย้อนกลับไปให้รัฐมนตรี หรือนายกฯ ว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็น แต่ถ้าท่านเห็นว่าเหมาะสมให้ท่านอนุมัติลงมาเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผมสามารถชี้แจงที่ประชุม ชี้แจงสังคมได้ทำไมถึงตั้งเด็กคนนี้ ปรากฏว่า ไม่มีนักการเมืองคนไหนกล้า แต่ความในใจมันสะสมมานาน เมื่อน้ำเต็มตุ่มเมื่อไหร่ผมก็ต้องไป”

    พล.ต.อ.สวัสดิ์ย้อนลำดับเหตุการณ์ที่ตัวเองถูกปลดฟ้าผ่าเพราะอำนาจการเมืองครอบงำองค์ตำรวจว่า  พันกันหลายเรื่อง รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่มีนักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ด้วย สมมติกรมตำรวจมีงบประมาณ 1พันล้านบาท นักการเมืองคนนั้นมีบริษัทของพรรคพวกเสนอราคามา 1.5 พันล้านบาท แล้วโทรมากำชับให้เสนอไปเลย ที่เหลือรัฐมนตรีจะจัดต่อเอง 

    “ ผมยกเลิกเลย เพราะตัวนักการเมืองต้องการเอาเงินไปบำรุงพรรค บวกกับคนรอบข้างมองเรื่องการแต่งตั้งไม่พอใจ เลยยุส่ง กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ผมเป็นอธิบดีกรมตำรวจที่ถูกปลดแล้วมีตำรวจนับหมื่นๆ คนด้วยกันมาเดินขบวน เพราะไม่พอใจ กระทั่งมีข่าวทหารแจ้งมาว่า ให้ผมเดินขบวนแล้วให้ผมลาออก พวกเขาจะปฏิวัติ  ผมไม่ชอบการปฏิวัติ คือถ้าปฏิวัติเพราะรัฐบาลเป็นอย่างนั้นอย่างนี่ถือว่า เหมาะสม แต่ถ้าเป็นเรื่องระหว่างผมกับผู้บังคับบัญชาโดยตรง ผมคิดว่าไม่เหมาะ  คืนนั้นตอนตีสองผมต้องบอกผู้บัญชาการ ตชด.ให้วิทยุเรียกกำลังลูกน้องกลับไป อย่าเลย ให้ผมต่อสู้ในวิถีทางของผมเองดีกว่า ต่อสู้อยู่ 60 วัน นักข่าวล้อมบ้านอยู่ทุกวัน สุดท้ายก็ต้องทำตามคำสั่งนักการเมือง” อดีตผู้นำสีกากีคนดังจำไม่ลืม

    “ผมถึงบอกว่า พวกเราเห็นตรงกัน คือ ประธาน ก.ตร.ต้องเลือกตั้งเป็นอิสระ หากนักการเมืองที่คุมตำรวจสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะตั้งคนนั้น คนนี้ เมื่อเข้า ก.ตร.แล้ว ประธาน ก.ตร.ที่มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิ์ที่จะไม่ยอมก็ได้ เราไม่มีอะไรผูกพัน การเมืองจะแทรกแซง ก.ตร.ที่เป็นอดีตตำรวจไม่ได้ ขนาดตอนหลัง ๆ มีอยู่ยุคหนึ่ง ผมนั่งอยู่ใน ก.ตร. แล้วนายกฯ กระซิบบอกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าเดี๋ยวจะออกไปนอกห้อง ถึงเวลาต้องตั้งให้ นาย ก.เป็นที่นี่นะ ถ้าไม่ทำคุณก็อยู่ไม่ได้ เชื่อมั้ยครับว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องยกมือไหว้กรรมการ ก.ตร.ทีละคน เพื่อขอร้อง และบอกว่าท่านสั่งผมไว้ ถ้าทำไม่ได้เขาก็ย้ายผม”

    “ดังนั้น ก.ตร.ต้องมาจากเลือกตั้ง สมมติเอาผมเป็นประธาน ก.ตร. ผมก็ไม่ยอมทำอะไรผมไม่ได้ วันนี้พวกผมถึงต้องรวมตัวกันขึ้นมา ขนาดอดีตผู้นำตำรวจบางคนยังมาบอกผมเลยว่า พวกเราแก่ ๆ กันทั้งนั้น เราออกจากบ้านมาแล้ว คนอยู่ในบ้านเขายังไม่พูดเลย แต่ผมก็จะสู้ สู้เพื่อบ้านหลังเก่า เพื่อให้หลายคนได้รับความเป็นธรรม” พล.ต.อ.สวัสดิ์กล่าวทิ้งท้าย

    ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ย้ำในที่ประชุมวงเสวนาค้านการผ่าโครงสร้างตำรวจด้วยว่า ตำรวจผ่านวิวัฒนาการมายาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกับวิวัฒนาการขององค์กรกระบวนการยุติธรรม ไม่เหมือนบริษัท หลักการกระจายอำนาจ ไม่ใช่การมอบอำนาจเท่านั้น แต่ต้องดูโครงสร้างด้วยว่า มีขนาดใหญ่เล็กแค่ไหน ไม่เข้าใจหลักกระจายอำนาจของกระทรวงยุติธรรมว่า เหตุใดจึงทำให้โครงสร้างของตำรวจเป็นแท่ง มีอธิบดีเพิ่มขึ้นมากมาย ถือเป็นการตัดอำนาจไม่ใช่กระจายอำนาจ ช่วงก่อนการปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ตำรวจถูกมองไม่สนองอำนาจของผู้มีอำนาจ เพราะไม่ยอมเข้าร่วมการยึดอำนาจตั้งแต่แรก ทั้งที่รู้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีใครอยากร่วมคณะปฏิวัติ หลายสมัยที่ผ่านมาเอาตำรวจไปร่วมด้วย ตำรวจมีกองกำลัง กลัวตำรวจจะตั้งกองกำลังสู้ ทางที่จะควบคุมตำรวจได้ต้องปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างของตำรวจใหม่ เพื่อลดอำนาจไม่ให้มีบทบาท  

    สมัย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็น อ.ตร. ได้ริเริ่มปฏิรูปตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทยไปขึ้นอยู่ตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงทางการเมืองในกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลชั่วคราวไม่ควรจะเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม สมควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง เหตุใดถึงนำโครงสร้างใหม่เข้าวาระจร ครม. ทั้งที่ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ไม่ใช่คิดจะเปลี่ยนได้ทันที ไม่ใช่สร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นคอนโดมิเนียมมี 10 กว่าแท่ง มีอธิบดีตำรวจเพิ่มขึ้นมากมาย เอาเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ มาเป็นรางวัลล่อใจให้ตำรวจกว่า 3 หมื่นคนที่มีตำแหน่ง สมัยเคยเป็น อ.ตร.ก็คิดปรับ แต่ในทางปฏิบัติจริงทำไม่ได้ ติดขัดเรื่องตำแหน่ง และไม่มีอัตราเงินเดือนเพิ่มให้ได้ 

    “สิ่งพวกนี้เป็นเหยื่อล่อปลา แต่ความจริงทำไม่ได้ นายกฯ ต้องมีความเข้าใจ หากทำอะไรประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร การปรับตำรวจประชาชนเสียหาย การกระจายอำนาจตามโครงสร้างใหม่นี้ เหยื่ออาชญากรรมไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องถามว่า ประชาชนจะได้อะไร ส่วนตำรวจได้ประโยชน์ค่อยว่ากันทีหลัง ผลกระทบไม่ใช่เกิดขึ้นกับตำรวจเท่านั้น แต่ทำให้เกิดปัญหาวงกว้าง กระทบถึงการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” พล.ต.อ.สวัสดิ์ระบุ

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments