Friday, November 22, 2024
More

    จากรุ่นสู่รุ่น

     

    จู้กหู้กกู้กราบสวัสดี..

    ความสุขสมหวังกลับมาอีกครั้งกับ “ค่ำคืนแห่งความสุข

    ก่อนหน้านี้ เมื่อย้อนกลับไปสมัยที่ “เลสเตอร์” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร เมื่อปี 2016

    มีบทสัมภาษณ์ของ วิชัย ศรีวัฒนประภา อดีตประธานสโมสรผู้ล่วงลับ ที่เคยเล่าเรื่องราวในอดีตก่อนที่ตัวเองจะตัดสินใจซื้อ เลสเตอร์ ซิตี

    ย้อนกลับไปเมื่อปี 2005 ก่อนเกมยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ รังเหย้าของ เชลซี

    นายวิชัย ศรีวัฒนประภา พาครอบครัวเข้าไปชมเกมการแข่งขันในนัดดังกล่าว แต่มีปัญหาเล็กน้อยกับเจ้าหน้าที่สนาม เรื่องเกือบจะบานปลาย

    ตอนนั้นการ์ดสนามเกือบเอาเครื่องสแกนวัตถุมากระแทกที่คาง ทำให้เขาต้องเอามือปัด และการ์ดสนามก็ไม่พอใจ

    เหตุการณ์วันนั้นทำให้ วิชัย ศรีวัฒนประภา ไม่พอใจเป็นอย่างมากเนื่องจากเขาเข้าไปชมเกมในฐานะลูกค้าของสโมสร

    สโมสรแห่งนี้ก็ถือเป็นทีมแรกที่เขาลงเงินสนับสนุนด้วยการซื้อบอร์ดลงโฆษณาคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ในสมัยนั้น

    จนเจ้าตัวต้องส่งจดหมายไปถึงผู้บริหารเพื่อตำหนิการกระทำของการ์ดสนาม

    อดีตประธานสโมสรผู้ล่วงลับตัดสินใจที่จะไม่เดินทางไปชมเกมการแข่งขันในสแตมฟอร์ด บริดจ์ อีกต่อไปในฐานะแฟนบอล

    พร้อมกับพูดประโยคเด็ดกับลูกชาย อย่าง อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ที่ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรคนปัจจุบันของเลสเตอร์ ซิตี้ ว่า

    “วันหนึ่งเราจะซื้อทีม แล้วเอามาสู้เชลซีให้ได้”

    “คุณต๊อบ” อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ย้อนความทรงจำ สมัยที่ครอบครัวเข้ามาซื้อสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ในช่วงปี 2010 ก่อนจะพบความจริงว่า

    การเข้ามาเป็นเจ้าของทีมสักหนึ่งทีม ถือเป็นเรื่องที่หนักหนามาก โดยเฉพาะทีมจากเกาะอังกฤษ ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ และประเพณี รวมถึงแฟนบอลที่มีความผูกพันอย่างมหาศาลกับทีมที่ตัวเองเชียร์

    ดังนั้น การที่สโมสร ซึ่งเป็นตัวแทนของแฟนบอลถูกซื้อไป ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจหลายอย่าง สถานการณ์ยากลำบากเป็นทวีคูณ

    เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยกลุ่มที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลกอย่าง “คนไทย”

    พร้อมกับภาพลักษณ์ที่หลายคนมองว่า นี่อาจเป็นนักธุรกิจที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากวงการลูกหนัง

    “ตอนแรกผมคิดว่า ตัวเองแค่ไปนั่งดูบอลแบบหล่อๆเท่านั้น”

    เขาเล่าต่อกับความคิดแรก ที่มองว่าการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการไปนั่งชมเกมข้างสนาม และปรากฏตัวต่อหน้าฝูงชนเท่านั้น

    “เราต่างต้องเคยเล่นเกมฟุตบอล เมเนเจอร์ เราคิดว่ามันคงเป็นแบบนั้น แค่เลือกตัวนักเตะลงไปเล่น พูดคุยกับโค้ช เหมือนกับตอนที่เราออกคำสั่งในเกม ซึ่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย”

    “นี่เป็นเหมือนกับการเข้าไปบริหารบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ เราต้องเอาวัฒนธรรมของเราเข้าไปผสมรวมด้วย พร้อมกับให้เขาเข้าใจว่า คนไทยเข้าไปทำงานแล้วเป็นยังไง”

    “การต่อต้านมหาศาลมาก”

    เขาเล่าต่อ” ทั้งจากแฟนบอล และสตาฟ เพราะเขาทำงานกันมา 20-30 ปี แฟนบอลมองว่า พวกเขาจ่ายเงินซื้อตั๋วมาตั้งแต่รุ่นปู่-รุ่นพ่อ พวกเขาสนับสนุนทีมมาตลอด การที่เราเข้ามาเอาเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อบริหารไปในทิศทางใด มันเป็นสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้”

    “เราต้องผ่านแบบทดสอบหลายอย่าง ทั้งจากการที่แฟนบอล และสตาฟไม่ยอมรับ

    เราต้องเอาความเป็นไทยเข้าไป ผมมองว่า การเป็นคนไทยมันดีอย่างหนึ่ง นั่นคือความเอาใจใส่ เราเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับพนักงาน และใส่ใจพวกเขาในทุกด้าน”

    “ผมเคยจัดงานเลี้ยงอาหารให้สตาฟ โดยให้เอาพ่อแม่ และเอาลูกมาด้วย ตอนแรกฝรั่งยังไม่เข้าใจหรอกว่าเราทำไปทำไม น่าจะเอาเงินไปพัฒนาส่วนอื่นดีกว่า

    แต่นี่เป็นจุดเล็กๆที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักเรา นี่เป็นจุดเล็กๆที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของเลสเตอร์ ซิตี้”

    “ในส่วนของนักเตะ นี่คือส่วนสำคัญของทีมฟุตบอล ทีมเล็กอย่างเลสเตอร์ ซิตี้ เราจะสร้างทีมเวิร์คให้เอาชนะทีมใหญ่ได้ยังไง ?

    ผมกับคุณพ่อก็เริ่มเข้าไปหานักเตะ เราเจอปัญหาว่า นักเตะก็เหมือนกับนักเรียน อายุ 20 จนถึงราว 32 ปี

    พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีเงินมาก แต่ยังไม่รู้จักการบริหาร และไม่รู้จักใช้เงินให้ถูก เราเลยลงไปช่วยเหลือพวกเขาทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ปัญหารถเสีย จนถึงทะเลาะกับแฟน”

    “การที่จะทำทีมสักทีม ไล่ตั้งแต่คนทำสนาม, คนทำอาหาร, นักกีฬา และสตาฟ ทุกอย่างมีความสำคัญหมด

    ทีมเวิร์คไม่ใช่แค่นักฟุตบอลในสนาม แต่มันรวมถึงทุกคนในสโมสร

    ตั้งแต่วันที่เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ กาลเวลาผ่านไปนานนับทศวรรษ เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ความเอาใจใส่” ที่เคยพูดไว้ สามารถผลักดันทีมเล็กๆแห่งนี้ ก้าวมาเป็นหนึ่งทีมระดับหัวแถวของอังกฤษ และจากทีมระดับเดอะ แชมเปี้ยนชิพ สามารถก้าวมาคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ราวกับเทพนิยาย

    ความเอาใจใส่” ในเชิงสโมสร เขาลงทุนอย่างมหาศาลกับสนามฝึกซ้อมแห่งใหม่ เพื่อให้นักฟุตบอลเค้นศักยภาพสูงสุดของตัวเองออกมา

    เสริมมาด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และวิทยาศาสตร์การกีฬา เท่าที่ทีมสักทีมควรจะมี ที่สำคัญ เขาลงลึกกับทุกภาคส่วนของทีม จนทุกคนรู้สึกถึงความเป็นครอบครัว

    “ความเอาใจใส่” ในเชิงท้องถิ่น เขาบริจาคเงินช่วยเหลือชุมชนในหลายแง่มุม เพื่อให้ชาวเมืองเลสเตอร์ มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับแฟนบอล เขาออกเงินเลี้ยงน้ำเลี้ยงขนม และค่าเดินทางไปเชียร์ทีมรักอยู่บ่อยครั้ง

    “ความเอาใจใส่” เหล่านั้นเอง ช่วยเปลี่ยนเจ้าของสโมสรที่เคยถูกแฟนบอล รวมถึงคนในด้วยกันเองปรามาส และต่อต้านอย่างหนัก สู่เจ้าของทีมที่มีการบริหารดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก จากการจัดอันดับของ “กิ๊ฟมี สปอร์ต” สื่อชื่อดังของประเทศ

    ความใส่ใจส่งผลในวันนี้กับถ้วยแชมป์เอฟเอ คัพ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร

    ท้ายนี้จู้กหูกกู้ขอเป็นกำลังใจในบทสัมภาษณ์ดีๆจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกมาช่วยเยียวยารักษาความเครียดจากสถานการ์ณปัจจุบัน และเราต้องผ่านมันไปได้

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments