Saturday, November 23, 2024
More
    Homeข่าวเด่นรอบวันตม.สนามบินเตือนเดินทางช่วงปีใหม่เผื่อเวลาเช็กอิน3ชม.

    ตม.สนามบินเตือนเดินทางช่วงปีใหม่เผื่อเวลาเช็กอิน3ชม.

     

    ตม.สนามบิน เผย 6 มาตรการรับคนเข้าออกไทยปีใหม่ คาดเกิน 1.5.แสนต่อวัน เตือนเช็คอิน 3 ชม.

    เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.66 พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 (ผบก.ตม.2) ดูแลท่าอากาศยานนานาชาติ และ โฆษก สตม.กล่าวถึงความพร้อมในการเตรียมรองรับนักท่องช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ว่า

    คาดการณ์ว่าจะมีคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ กว่าวันละ 1.5 แสนคน จากเดิมราววันละ 1.2 แสนคนต่อวัน อันเนื่องมาจาก นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว วีซ่าฟรี ของทางรัฐบาล

    พล.ต.ต.เชิงรณ เผยว่า ปัจจุบันสนามบินอาจมีการแออัดของผู้โดยสาร เนื่องจากการขยายตัวของเที่ยวบินและคนเดินทางที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสุวรรณภูมิเทียบกับพื้นที่อาคารผู้โดยสารที่มีในปัจจุบัน ดังนั้นจำเป็นต้องใช้วิธีบริหารจัดการ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้เดินทาง ในช่วงที่มีเที่ยวบินหนาแน่น  จะมียอดคนเข้าประเทศสูงสุดราว 5,000-6,000 คนต่อชั่วโมง และคนออกประเทศสูงสุดราว 4,000 -5,000 คนต่อชั่วโมง

    ทาง บก.ตม.2 ในฐานะรับผิดชอบการตรวจคนเข้าออก ทางด่าน ตม.สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ทำหน้าที่คัดกรองคนเข้าออกประเทศ ภายใต้หลักความมั่นคงของประเทศ ได้กำหนดมาตรการรองรับสำคัญ ได้แก่

    1.จัดกำลังพลเสริมหน้าที่เวร โดยให้ จนท.ตม.เสริมเวรประจำเคาท์เตอร์ ก่อนเวลาเข้าเวรปกติ 3-4 ชม.เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังพล โดยได้รับการสนับสนุน จนท.ตม.จากด่านต่างๆทั่วประเทศ จาก ผบช.สตม.มาอีก 150 นาย ซึ่งจะสามารถจัดกำลังพลประจำเคาเตอร์ตรวจเข้า และออก ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้ขอความร่วมมือ จนท.ตม.งดขาด ลาพักผ่อน เพื่อช่วยกันดูแลพี่น้องที่เดินทางระหว่างประเทศได้อย่างเต็มกำลัง

    2. ใช้วิธีการเกลี่ยปริมาณ ผู้โดยสารขาเข้า ที่สุวรรณภูมิ ทั้ง 3 โซน ให้สมดุลกัน โดยหากฝั่งใดที่มีผู้โดยสารลงเครื่องหลายเที่ยวบินพร้อมกัน เป็นคลื่นคนขนาดใหญ่ทางฝั่งใด หากโถง ตม.ฝั่งนั้นเริ่มเต็ม ก็จะมี จนท.ตม.โบกให้ ผู้โดยสาร ไปโซนถัดไปที่หนาแน่นน้อยกว่า ซึ่งจะทำให้ได้รับการตรวจหนังสือเดินทางได้เร็วขึ้น

    3. ผู้โดยสารที่มีเด็กเล็ก มีผู้สูงอายุ ผู้พิการ จะมีการคัดแยกให้รับการตรวจที่ช่องทาง Priority เพื่อความสะดวกในการรับการตรวจ

    4.สำหรับผู้โดยสารคนไทย ได้ลดขั้นตอนการสแกนลายนิ้วมือที่ช่องตรวจหนังสือเดินทางไทย ทั้งขาเข้า และขาออก เนื่องจากคนไทยมีฐานข้อมูลหนังสือเดินทางไทยในระบบอยู่แล้ว

    5.ประสานงานร่วมกับสายการบิน กรณีพบผู้โดยสารที่เสี่ยงตกเครื่อง ในขาออก ให้ประสานกับทาง ตม.ขาออก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทันขึ้นเครื่อง

    6. พัฒนาระบบ Autometic channel ขาออก สุวรรณภูมิ ให้รองรับการตรวจคนต่างชาติที่ใช้ E-passport กว่า 70 ชาติทั่วโลก โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ 15 ธ.ค.66 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ของ สตม.ตามนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

    พล.ต.ต.เชิงรณ กล่าวอีกว่า ในช่วงเที่ยวบินลงที่สุวรรณภูมิพร้อมกัน บางชั่วโมงสูงถึง 25 เที่ยวบิน จะมีคลื่นผู้โดยสารขนาดใหญ่โถมเข้าที่โถง ตม.  อาจมีภาพการสะสมของผู้โดยสาร  ทาง ตม. มีมาตรการเร่งระบาย  ใช้เวลาตรวจคัดกรองกว่า 7 ขั้นตอนตามมาตรฐานความมั่นคง ทันทีที่ยื่นพาสปอร์ตให้ จนท.ใช้เวลาไม่เกินคนละ 45 วินาที เท่านั้น

    นอกจากนั้น ยังมีการทดลองจับเวลาผู้โดยสารที่เดินเข้าโถง รอคิว และรับการตรวจต่อคน พบว่า ใช้เวลารอเข้ารับการตรวจราว 18-20นาที ซึ่งทาง ตม.จำเป็นต้องคัดกรองคนร้ายชาวต่างชาติที่อาจแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยวมาด้วยเช่นกัน

    ส่วนขาออกที่สุวรรณภูมิ ต้องเผื่อเวลาในขั้นตอนการ check in ที่ Airline การผ่านจุดตรวจค้นตามหลักความปลอดภัยสากล การผ่าน ตม. และการเดินไปที่หลุมจอดเพื่อขึ้นเครื่อง ซึ่งโดยรวมอาจต้องเผื่อเวลาไว้ล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 3 ชม. ซึ่งในส่วนของ ตม. หลังจากที่มีการใช้ Autometic channel ขาออก สุวรรณภูมิ ให้รองรับการตรวจคนต่างชาติที่ใช้ E-passport กว่า 70 ชาติทั่วโลก แล้ว พบว่า สามารถระบายความหนาแน่นผู้โดยสารได้ดีขึ้น ราว 6,000 คนต่อชั่วโมง จากเดิมตรวจระบายได้เพียง 4,100 คน

    พล.ต.ต.เชิงรณ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึง ผบช.สตม. ให้ความสำคัญ กับการอำนวยความสะดวกภายใต้หลักความมั่นคง และ ตม.ถือเป็นหน้าตาของประเทศ จึงต้องใส่ใจในการปฏิบัติให้ดีที่สุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่จะเรียกคืนบรรยากาศท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม โดย พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม.จะเดินทางมามอบนโยบาย แก่ จนท.ตม.ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ใน 21 ธ.ค.2566 ต่อไป

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments