“บช.ก.” ร่วม “กรมการขนส่ง” เปิดปฏิบัติการ “ปราบรถเถื่อนวิ่งเกลื่อนเมือง” เผย ทะเบียนปลอมหมายเลขเดียวมีรถใช้ซ้ำกันมากถึง 26 คัน
เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 31 ก.ค.67ที่ ห้องประชุมชั้น 2 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล. พ.ต.ท.หญิง กัญจิรา นรสาร สว.ปรก. กก.3 บก.ป. นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก
ร่วมแถลงผล ปฏิบัติการ “ปราบรถเถื่อนวิ่งเกลื่อนเมือง” หลังนำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุดในจ.สมุทรสาคร ราชบุรี ชัยภูมิ และศรีสะเกษ จับกุมผู้กระทำผิดได้ 4 รายตรวจยึดของกลางเป็น รถยนต์,รถจักรยานยนต์ และแผ่นป้ายทะเบียนปลอม ได้รวมกว่า 30 คัน
พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก.กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สืบเนื่องจากที่ผ่านมา ตำรวจทางหลวงได้ตรวจพบ มีการนำรถผิดกฎหมายมาสวมป้ายทะเบียนปลอมวิ่งบนท้องถนนจำนวนมาก อีกทั้งทะเบียนบางหมายเลข ยังถูกนำไปสวมรถมากถึง 26 คัน
นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจุบันรถสวมทะเบียนปลอมเหล่านี้มักถูกนำไปใช้กระทำผิดกฎหมายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิ ใช้ในการขนยาเสพติด ลักลอบขนแรงงานต่างด้าว อาวุธเถื่อน ของหนีภาษี จึงได้ประสานข้อมูลร่วมกับกรมการขนส่งทางบก จนนำมาสู่การบูรณาการกำลังร่วมกันเปิดปฏิบัติการดังกล่าว
ด้านพล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการขยายผลต่อเนื่องจากกรณีจับกุมขบวนการส่งออกรถสวมทะเบียนประเทศเพื่อนบ้านเครือข่าย “เจ๊มะลิ” ในพื้นที่ อ.เมืองเลย เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ก่อนพบข้อมูลเลขทะเบียน ข้อมูลป้ายภาษี ข้อมูลยี่ห้อรถยนต์ ข้อมูลตัวถังรถยนต์ กว่า 2,000 รายการ เชื่อว่าเป็นข้อมูลเอกสารที่มีการปลอมขึ้นมาเพื่อจัดจำหน่ายไปยังลูกค้าที่มีการสั่งซื้อ
“จากข้อมูลดังกล่าว จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก หมายเลขทะเบียนอยู่ในฐานข้อมูลกรมการขนส่งแต่ระบุประเภทรถไม่ตรงตามจริง กลุ่มที่สองหมายเลขทะเบียนมีข้อมูลในระบบกรมการขนส่ง ระบุข้อมูลตรงกับตัวรถแต่มีจำนวนหลายคัน หรือ เรียกว่ารถแฝด และ กลุ่มที่สาม ไม่พบข้อมูลในระบบของกรมการขนส่ง หรือ เป็นรถติดป้ายทะเบียนว่าง หรือ หมายเลขทะเบียนที่ยังไม่ได้เปิดใช้”
พล.ต.ต.มนตรี กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลรถกว่า 2,000 รายการเหล่านี้ พบว่า ส่วนใหญ่ยังมีกรรมสิทธิ์เป็นของบริษัทไฟแนนซ์ ประมาณว่า ผู้ครอบครองหลังเช่าซื้อรถมาแล้วได้นำไปจำนำ บางส่วนตั้งใจจะขาย ขณะที่บางส่วนถูกผู้รับจำนำเชิดหนีแล้วนำไปขายซึ่งในส่วนของผู้ที่มาซื้อต่อนั้น บางรายรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถผิดกฎหมาย แต่เห็นแก่ราคาถูก หรืออาจตั้งใจจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด แต่ก็ยังมีบางรายที่ไม่รู้ว่าเป็นรถผิดกฎหมาย เพราะถูกย้อมแมวขาย เนื่องจากมีการปลอมป้ายทะเบียนและคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์
“จากนั้นตำรวจกองปราบจึงรวบรวมพยานหลักฐานนำมาสู่การเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายทั้ง 4 จุด จนนำมาสู่การจับกุมผู้กระทำผิดทั้ง 4 ราย ได้ดังกล่าว สำหรับกลุ่มผู้ต้องหาที่จับมาในครั้งนี้เป็นเพียงแค่เครือข่ายเดียว หรือ ส่วนหนึ่งในฐานข้อมูลที่เราตรวจพบ โดยหลังจากนี้จะเร่งขยายผลในส่วนที่เหลือเพิ่มเติม”
ขณะที่ พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล.กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมาตำรวจทางหลวงยึดรถสวมทะเบียนได้ 67 คัน ส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในลักลอบขนยาเสพติด ขนแรงงานต่างด้าว สินค้าหนีภาษีหรือของเถื่อน รวมไปถึงใช้ในการทำผิดกฎหมายอื่นๆมากมาย
ด้าน นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวว่า ในส่วนของกรมการขนส่งทางบก ที่ผ่านมาประสานข้อมูลร่วมกับตำรวจมาอย่างต่อเนื่องตรวจสอบทะเบียนรถต่างๆ ป้องกันการกระทำผิด ทำให้ทราบได้ว่า รถคันใดบ้างเป็นรถถูกต้องหรือผิดกฎหมาย ส่วนกรณีที่พบข้อมูลว่ามีรถใช้แผ่นป้ายทะเบียนหมายเลยเดียวกันถึง 26 คัน นั้น จากการตรวจสอบพบเป็นแผ่นป้ายปลอม อีกทั้งทะเบียนดังกล่าวนั้นก็ยังไม่ได้มีการเปิดใช้
นายเสกสม ฝากเตือนไปถึงผู้ซื้อรถว่า อย่าใช้วิธีการซื้อรถแบบโอนลอย เพราะอาจจะถูกย้อมแมวขาย รถถูกเปลี่ยนสภาพ ถ้าตัองการความมั่นใจในการซื้อรถขอให้มาที่กรมขนส่ง เพื่อตรวจสอบรถที่ต้องการจะซื้อว่าถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่