Friday, November 22, 2024
More
    Homeบทความทั่วไปเปิดรั้วโรงเรียน นรต.ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย

    เปิดรั้วโรงเรียน นรต.ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย

    เปิดรั้วโรงเรียน นรต. – พลิกโฉมการเรียนเน้นสิทธิมนุษยชน ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย

    โรงเรียนนายร้อยตำรวจกำลังปรับตัวเองครั้งใหญ่ให้เทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำ หันให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนและหันหน้าเข้าหาชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ลดความเข้มข้นแบบฝึกทหาร เพราะไม่มีความจำเป็นกับศาสตร์ตำรวจยุคใหม่ ชี้การปฏิรูปตำรวจควรเริ่มจากปฏิรูปสถาบันการศึกษาหรือหลักสูตรของโรงเรียน นายร้อยที่ทุกวันนี้เริ่มปรับตัวแล้วตำรวจรุ่นล่าสุดจบแล้วได้รับปริญญาสอง ใบ ขณะเดียวกันรั้วสามพรานกำลังเปิดกว้างในบุคคลภายนอกเข้ามาเรียนปริญญาโทและ เอกพร้อมทั้งเชื่อมโยงติดต่อกับมหาลัยทั้งในและนอกประเทศเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาโกอินเตอร์

    รร.นรต.วันนี้ มหาวิทยาลัยครึ่ง เหล่าทัพครึ่ง
    พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นายตำรวจดีกรีด็อกเตอร์ด้านบริหารและพัฒนาการศึกษายอมรับว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจครบรอบ 117 ปี เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา แน่นอนว่าโรงเรียนกำลังปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพราะการเรียนการสอนต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ รอบหลายปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก

    จากเดิม การตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เน้นที่การฝึกเหมือนทหาร แต่ปัจจุบันรูปแบบจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ตำรวจที่เป็นสากล สอดรับกับการผลิตตำรวจให้ออกไปทำงานสอบสวนและปราบปราม ดังนั้น ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับงานด้านการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ทุกวันนี้รูปแบบของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะคล้ายกึ่งมหาวิทยาลัย คือมีสภาพคล้ายกับโรงเรียนเหล่าทัพครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบมหาวิทยาลัย มีสภาการศึกษาของตัวเอง รูปแบบการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบปริญญาตรีในสาขาวิชาชีพตำรวจ มีความเชี่ยวชาญเรื่องวิชาชีพตำรวจโดยเฉพาะ

    เน้นเรียนกม. จบแล้วได้ปริญญา 2 ใบ
    พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวต่อว่า การเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดคือ หันมาเน้นการเรียนด้านกฎหมายมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้โรงเรียนนายร้อยตำรวจเรียนกฎหมายพอๆกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ กฎหมายบางตัวก็เรียนแบบเจาะลึก ทำให้นักเรียนนายร้อยรุ่นปัจจุบันถือว่าปฏิรูปก้าวหน้าไปมาก เพราะเมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับปริญญาพร้อมกัน2 ใบ คือ ปริญญาวิชาชีพตำรวจ และปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต โดยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการเรียบร้อยแล้ว ทำให้การเรียนการสอนทุกอย่างเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยทั่วไป

    ไม่ได้ผลิตแค่ตำรวจอย่างเดียว
    พล.ต.ท.ปิยะกล่าวด้วยว่า นอกจากการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรหลักนักเรียนนายร้อย 4 ชั้นปีแล้ว ยังเป็นสถาบันฝึกอบรมสำหรับบุคคลภายนอกที่สอบเข้ามาเป็นตำรวจ ขณะเดียวกัน ยังเป็นสถาบันการฝึกอบรมให้กับ อัยการ ศาล เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เจ้าหน้าที่ กกต. และเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกอบรมตลอดทั้งปี กลายเป็นว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่ได้ผลิตนายร้อยตำรวจอย่างเดียว แต่ยังอบรมให้กับหน่วยงานอื่นๆด้วย

    นอกจากนี้ยังเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท รวม 3 สาขาวิชา ประกอบด้วย ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ด้านการรักษาความปลอดภัย และด้านวิชาชีพตำรวจ และกำลังจะเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกในเร็วๆนี้

    ทุกหลักสูตรจะสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน
    “เนื้อหาสาระแต่เดิมในอดีต อาจจะเน้นการบรรยายในห้องเรียนเหมือนการเรียนนิติศาสตร์ทั่วไป แต่ปัจจุบันจะเน้นการปฏิบัติ จะเห็นว่าเราจะเรียนภาควิชาการตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมง แต่หลังจาก 3 โมงเย็น จะเน้นภาคปฏิบัติ เช่นเรียนยูโด เพราะเป็นกีฬาที่จำเป็นสำหรับตำรวจ การฝึกศิลปะป้องกันตัวแบบอื่นๆ การฝึกยุทธวิธี รวมไปถึงการฝึกปฏิบัติด้านภาษาต่างประเทศ ทั้งหมดจะสลับกันไปตลอดให้เหมือนวิชาชีพจริงๆ ลดความเป็นทหารลงไปเยอะ แต่ยังคงเน้นเรื่องการมีวินัย เพราะเป็นเรื่องสำคัญของงานตำรวจ สำหรับโลกยุคใหม่ตำรวจต้องทำงานกับชาวบ้านมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกหลักสูตร ทุกเนื้อหาสาระทุกการเรียนของนักเรียนนายร้อยตำรวจ จะถูกสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน การให้ความเคารพในสิทธิของบุคคล เป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องสอดรับกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจทั่วโลก”


    นรต.ถูกสอน อาวุธเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะใช้
    พล.ต.ท.ปิยะ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในหลักสูตรการยิงปืน ก่อนหน้านี้นักเรียนนายร้อยตำรวจ ต้องเน้นยิงปืนให้แม่นเป็นหลัก แต่ปัจจุบันตำรวจจะถูกสอน เมื่อไหร่จะใช้อาวุธเพราะเป็นเรื่องใหญ่กว่า คือ ใช้คำว่า “เมื่อไหร่จะใช้” แล้วถึงจะ “เมื่อไหร่จะยิง” เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะต้องเพิ่ม คือ วิชาเจรจาต่อรอง วิชาการสื่อสาร วิชาจิตวิทยา ต้องเติมเข้าไปเยอะมาก เพราะอาวุธเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะตัดสินใจใช้ ดังนั้นนักเรียนจะเรียนรู้เรื่องความอันตรายของอาวุธก่อน

    ถ้าจะยิงต้องยิงต่ำกว่าเอว
    ขณะเดียวกันตำรวจรุ่นใหม่จะถูกสอนให้เน้นเรื่องการควบคุมสถานการณ์ เพราะตำรวจไม่ได้เป็นตุลาการ จะไปตัดสินให้คนนั้นตายหรือไม่นั้นไม่ได้ แต่ตำรวจยุคใหม่มีหน้าที่ยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้มีรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อผ่านพ้นกระบวนการนี้แล้ว การยิงปืนจะสอนว่าจุดไหนในร่างกายของมนุษย์ที่จะหยุดยั้งได้ ดังนั้นนักเรียนนายร้อยจะถูกสอนว่า ถ้าต้องใช้อาวุธต้องยิงต่ำกว่าเอว เพื่อเป็นการควบคุม ซึ่งแตกต่างจากทหารแน่นอน

    ปลูกฝังจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่
    “การสอนเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนและยึดหลักกฎหมายปกครองเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิจะตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้ตลอดเวลา ตำรวจจะถูกสอนว่า เมื่อเขาไปพบคนหรือจะแจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิพี่น้องประชาชนอย่างไร จะถูกฝึกไว้ตลอดเวลา ส่วนอีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่คือการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม อันนี้จะปลูกฝังให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง ให้ทำเรื่องส่วนรวมก่อน แล้วถึงทำเรื่องส่วนตัว ถามว่ามันใช้เวลาบ่มเพาะหรือไม่ แน่นอนว่ามันต้องใช้เวลา ผลผลิตที่เกิดขึ้นปีนี้ จะใช้งาน 4 ปีข้างหน้า มันถึงจะเป็นรูปร่าง

    ตำรวจทั่วโลกถูกตรวจสอบเหมือนกัน
    พล.ต.ท.ปิยะ ยอมรับว่า ตำรวจที่ทำตัวเป็นปลาเน่ามีอยู่ แต่สัดส่วนเมื่อเทียบแล้วยืนยันว่าไม่เยอะ เพราะไม่เช่นนั้นโรงเรียน คงอยู่มาไม่ได้ถึง 117 ปี ตำรวจจึงต้องบ่มเพาะตัวเอง เช่น ฝึกความแกร่งในหัวใจของตัวเอง มีสภาพครอบครัวที่สมบูรณ์ การเรียนรู้นอกเหนือจากโรงเรียนให้ไป และการไม่ตกหล่มต่อสิ่งที่ยั่วยวนต่างๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายของโรงเรียนตำรวจทั่วโลก

    ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าตำรวจ เป็นหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบมากเพราะทำงานใกล้ชิดกับประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตำรวจอเมริกันหรืออังกฤษก็ถูกจับตามอง แบบมีความไม่ชอบปะปนอยู่ ยกเว้นตำรวจญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ หรือเยอรมัน สี่ประเทศนี้เป็นกลุ่มประเทศหลักในโลกนี้ ที่ตำรวจได้รับความเชื่อมั่นจากชาว บ้านส่วนใหญ่ นั่นเป็นเพราะความสม่ำเสมอของการทำหน้าที่ของเขา การเป็นที่พึ่งได้คลี่คลายปัญหาให้เขาได้ ไม่ถึงขั้นต้องจับผู้ร้ายได้ แต่รู้ว่าเป็นทุกข์ด้วยเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

    ตำรวจต้องมาตรฐานเดียวเหมือนหมอ
    “เราต้องมองเหมือนการเรียนการสอนแบบ หมอ คือ เป็นวิชาชีพ แล้วคนเชื่อมั่นว่าเรามีความรู้พอที่จะรักษาเขาได้ แล้วเพิ่มเติมเรื่องของการปฏิสัมพันธ์กับประชาชน หัวใจสำคัญคือ หมอทุกคนจะรักษาไม่ว่าจะคนรวยคนจน เหมือนกัน ตำรวจก็ต้องเหมือนกัน ต้องมีมาตรฐานเดียวในการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งที่เป็นหัวใจของ 4 ประเทศที่เรายกตัวอย่าง นั่นคือ ความมีมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ ความสุภาพ อ่อนน้อม อ่อนโยน แล้วก็ความเสมอภาคเป็นธรรมทั่วหน้า

    แต่ถามว่า มันทำยากหรือไม่ ใช่มันทำยาก แต่จริงๆถึงทำยากก็ต้องทำ เพราะคนไทยทุกคนต้องการ ชาวบ้านเขาไม่ต้องการเยอะหรอก เขาไม่ได้ต้องการตำรวจต้องพูดภาษาอังกฤษเก่งเป็นไฟ หรือตำรวจที่เก่งเทคโนโลยี แต่เมื่อเขามีความทุกข์ร้อน ตำรวจคลี่คลายปัญหาให้เขาได้ก็เพียงพอแล้ว นี่คือสิ่งที่โรงเรียนตำรวจยุคใหม่กำลังทำ

    หลักสูตร ตร.ไทยเรียนร่วมตร.ประเทศอื่นได้
    พล.ต.ท.ปิยะกล่าวด้วยว่า หลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจมีความก้าวหน้าสูงมาก ปัจจุบันมีนักเรียนตำรวจเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา มาเรียนอยู่ด้วย ขณะที่นักเรียนตำรวจไทยก็มีไปเรียนต่างประเทศทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะ ยาว ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เยอรมัน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น นั่นแสดงว่าหลักสูตรของตำรวจไทยสามารถที่จะเรียนร่วมกับตำรวจประเทศอื่นได้

    โดยเรามีเอ็มโอยู ร่วมกับสถาบันวิชาการตำรวจ มหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆทั่วโลก ทำให้นักเรียนนายร้อยทุกคนจะถูกผลัดเปลี่ยนออกไปศึกษาวิชาการใหม่ๆเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันเราเน้นเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อาชญากรรมทางไซเบอร์ เนื่องจากอาชญากรรมต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนบ่อยมาก นอกจากนักเรียนแล้วเรายังแลกเปลี่ยนครูอาจารย์ และผู้บริหารด้วย


    รร.นรต. เด็กสอบเข้ามากที่สุดใน 4 เหล่า
    ผบช.รร.นรต. กล่าวต่อว่า ตำรวจรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง เราต้องเคารพหลายอย่างของเด็กรุ่นใหม่ ทำให้โรงเรียนนายร้อยต้องปรับตัว แต่เดิมนั้นเราเน้นวิชาการใส่ไปอย่างเดียว แต่ปัจจุบันรูปแบบการเรียนการสอน 30-40 % อยู่ในห้องเรียน แต่ 60 % อยู่นอกห้องเรียน บางวิชาต้องไปทำโปรเจ็คร่วมกับนักศึกษาสถาบันอื่นๆ รวมทั้งทำกิจกรรมร่วมกับสถานทูตประเทศต่างๆด้วย นักเรียนรุ่นใหม่มีจุดแข็งด้านพัฒนาการทางภาษาส่วนหนึ่ง เป็นเพราะการสอบกลั่นกรองเข้ามาดี เพราะโรงเรียนนายร้อยตำรวจถือเป็นโรงเรียนที่มีคนสอบเข้ามากที่สุดใน 4 เหล่าทัพ

    อัตราการสอบเข้าอยู่ที่ นายร้อยตำรวจชาย 1 ต่อ 100 คน ส่วนนักเรียนร้อยตำรวจหญิงอยู่ที่ 1 ต่อ 160 คน โดยใน 1 ปีเราเปิดรับนักเรียนนายร้อยตำรวจชาย 240 คน และ นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง 60 คนเท่านั้น ทำให้เห็นว่าครอบครัวหรือตัวเด็กเองอยากเป็นตำรวจมาก ทั้งที่สังคมไทยกลับยังมีความเกลียดชังตำรวจปนอยู่

    ปฏิรูปตำรวจ ต้องเริ่มจากการเรียนรู้
    พล.ต.ท.ปิยะ ยังแสดงทัศนะต่อบรรยากาศของการปฏิรูปตำรวจที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่า การปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มจากการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของตำรวจตลอดชีวิต จุดอ่อนของตำรวจ คือที่ผ่านมา หลังสำเร็จการศึกษาและไปทำงานแล้ว นโยบายในการทำงานจะขึ้นอยู่กับหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆว่าจะเอาใจใส่เรื่องการพัฒนาตำรวจหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจนำเสนอในการปฏิรูปฯ ก็คือ ตำรวจต้องมีห้วงเวลาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น การกลับเข้ามาฝึกในระบบใหม่ที่ไม่ใช่ฝึกแบบทหาร แต่เป็นการออกกำลังด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา มีการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ การเข้าชมรมต่างๆที่มีถึง 29 ชมรม

    ตำรวจต้องพัฒนา 5ด้าน
    “ที่ผ่านมา นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นประธานอนุกรรมการด้านวิชาการ และเป็นคณะปฏิรูปด้วย ได้เอาโมเดลต่างๆในการพัฒนาโรงเรียนนายร้อยมาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาของตำรวจทั้งสัญญาบัตรและในชั้นประทวน โดยตำรวจต้องพัฒนา 5 ด้าน คือ 1.ด้านบังคับกฎหมาย ตำรวจต้องเชี่ยวชาญเรื่องนี้โดยเฉพาะตำรวจสัญญาบัตร แต่ตำรวจชั้นประทวนต้องเชี่ยวชาญด้านการตรวจจับตรวจค้น 2.คือวิชาการตำรวจ เป็นวิชาเฉพาะทางที่เหมือนวิชาแพทย์ วิชาช่าง 3.มหาวิทยาลัยไม่มี แต่เรามีคือยุทธวิธีตำรวจ เช่น การตรวจค้นจับกุม การต่อสู้ 4. คือเรื่องคุณธรรม จริยธรรม คือทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และ 5. คือสมรรถนะด้านร่างกาย ต้องเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา”

    พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวพร้อมกับบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ปฏิรูปไปก่อนหน้านี้คือ เรื่องอาวุธและอุปกรณ์การเรียนการสอบ ทุก วันนี้เป็นรุ่นที่ 3 แล้วที่ตำรวจจบออกไปแล้วมีปืนเป็นของตัวเอง ส่วนโน๊ตบุ๊คมีของตัวเองตั้งแต่เรียนในโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดจะขยายไปยังโรงเรียนนายสิบต่อไปในอนาคต

    อยากได้เด็กที่รักตำรวจมาเป็นตำรวจ
    “สิ่งหนึ่งที่ผมอยากได้ที่สุด คืออยากได้คนที่รักตำรวจจริงๆ รักตำรวจ เพราะอยากประกอบอาชีพเป็นตำรวจ อย่ามาเป็นตำรวจเพราะเกลียดตำรวจ หรืออย่ามาเป็นตำรวจเพราะตำรวจจับผู้ร้ายได้ คือ มันต้องเริ่มด้วยความรัก เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่สบาย คุณต้องรักที่จะเรียนหนัก ทำงานหนัก อาชีพตำรวจ ไม่ใช่อาชีพที่จะสร้างความร่ำรวยให้กับใครได้ เพราะโลกสมัยใหม่เป็นโลกที่ไม่สามารถที่จะไปทำอะไรไม่ดีไม่งามได้ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละเพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากฝาก คือตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่ารักอาชีพนี้จริงๆ เป็นอาชีพที่ต้องแสวงหาความรู้ตลอดเวลา ไม่นิ่ง คนที่รู้จักการพัฒนาตัวเอง รู้จักการที่จะแก้ปัญหาตามสถานการณ์ต่างๆได้ดี นี่แหละเหมาะที่จะเป็นตำรวจแล้ว”

    นรต.หญิง เข้าตำรวจเพราะอยากเปลี่ยนสังคม
    ขณะที่นักเรียนที่อยู่ในรั้วสีกากีอย่าง นรต.หญิง ชนนิกานต์ คงเสมา นรต.ชั้นปีที่ 2 อายุ 21 ปี กล่าวว่า เหตุที่มาเป็นตำรวจเพราะเห็นพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นแถวๆบ้านที่ชอบออกมา เที่ยวกลางคืนบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องยาเสพติดมีปัญหากันบ่อยมาก ช่วงกลางคืน เวลามึนเมา ชอบตีกัน โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับใครบ้าง เราเลยรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนสังคม เลือกมาเป็นตำรวจเพราะมันเป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยได้โดยตรงในการบังคับใช้กฎหมาย สิ่งหนึ่งที่เขายังปลูกฝังไว้เหมือนเดิม คือเรื่องการทำอาชีพตำรวจ เป็นตำรวจยังไงให้เป็นมืออาชีพ แล้วก็จิตวิญญาณตำรวจควรเป็นยังไง นั่นก็คือ เราควรมีความยุติธรรมให้กับประชาชน

    มุ่งมั่นลดปัญหาเงินนอกระบบ
    เธอยังให้ความเห็นถึงอาชีพตำรวจที่มักจะถูกมองเรื่องรับเงินนอกระบบว่า มันเป็นปัญหาของสังคมไทย มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในสมัยก่อนเราก็อยู่ในระบบ เจ้าขุน มูลนาย หากคิดจะเปลี่ยนทันทีคงจะยาก แต่ก็พยายามพัฒนาแก้ไขมาตลอด ตนถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ตอนนี้เรารู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร สิ่งที่เราทำได้ในอนาคต คือพยายามทำยังไงก็ได้ เพื่อให้ลดปัญหานี้ให้มากที่สุด ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูยากเกินไปแต่คิดว่าก็ต้องเกิดขึ้นได้ โดยที่เริ่มจากตัวเราเองก่อน โดยเลือกที่จะไม่รับเลยดีกว่า อาจจะปฏิเสธแบบไม่แข็งกระด้าง ไม่สร้างผลเสียให้กับใครโดยเฉพาะกับตัวเราเอง


    นรต.ปี 4 ชี้ปฏิรูปตำรวจควรเริ่มจากปฏิรูปการศึกษา
    ด้าน นรต.สุรพงษ์ รัตนวงศ์สวัสดิ์ นรต.ชั้นปีที่ 4 อายุ 23 ปี ยอมรับว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนตำรวจในปัจุบันแตกต่างกับทหารโดยสิ้นเชิง เพราะของตำรวจจะสอนให้รู้จักหลักการใช้เหตุผล การบังคับใช้กฎหมาย ถ้าหากไปเปรียบเทียบกับทหาร ทหารจะใช้การออกคำสั่งและการใช้กำลัง แต่ตำรวจจะใช้ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเรื่อง การเน้นตามตัวบทกฎหมายที่เขียนไว้และยังต้องเรียนเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เหมือนกับว่ามีอำนาจอยู่ อยู่ที่ว่าเราใช้อำนาจนั้นกับประชาชนอย่างไร

    “ดังนั้นการที่จะปฏิรูปตำรวจควรจะเริ่มจากการปฏิรูปการศึกษาและเรื่องการประสาน งานกับภาคกับประชาชน อาจจะเริ่มจากปรับเรื่องของหลักสูตร เพราะปัจจุบันตำรวจจะเรียนทุกด้าน แต่ว่าไม่สามารถนำด้านใดด้านหนึ่งมาใช้ให้ เกิดประโยชน์ได้สูงสุด ในบางวิชาที่ไม่จำเป็น อาจจะปรับออกไป ซึ่งตอนนี้ก็คิดว่าปรับดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน”

    การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญของการเริ่มต้น 
    ส่วน นรต.หญิง ธีรนาฎ ลิ่มสิริกุล นรต.ชั้นปีที่ 4 อายุ 21 ปี ให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า หากพูดถึงการปฏิรูปตำรวจควรเริ่มจากปฏิรูปเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญของการเริ่มต้นทุกสิ่งโดยอาจจะเรียนรู้จากผู้ที่ มีประสบการณ์ไม่ใช่อยากเรียนเฉพาะสิ่งที่เราอยากรู้เท่านั้น ในส่วนตัวแล้วเมื่อมาเป็นตำรวจหญิงก็รู้ว่ามีความกดดันเรื่องความสามารถใน การทำงานสืบสวนปราบปรามที่อาจจะสู้ผู้ชายไม่ได้ แต่ทุกวันนี้สังคมก็เรื่องเปลี่ยนไปผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในสังคม หากมีความรู้ตนเชื่อว่ามีการพัฒนาจนอาจจะทัดเทียมกับผู้ชายก็เป็นได้

    บทความนี้ตีพิมพ์เป็นรายงานพิเศษในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 เขียนโดย คุณวัสยศ งามขำ

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments