Friday, February 21, 2025
More
    Homeข่าวทั่วไปกรมประมงขับเคลื่อนพะเยาโมเดล“เลี้ยงปลาในนาข้าว”

    กรมประมงขับเคลื่อนพะเยาโมเดล“เลี้ยงปลาในนาข้าว”

    กรมประมง..ร่วมขับเคลื่อน “พะเยาโมเดล” สู่ต้นแบบการพัฒนาภาคประมงที่ยั่งยืนหนุนส่งเสริม “การเลี้ยงปลาในนาข้าว” ยกระดับวิถีเกษตรเมืองเหนือ สร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร

    วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ หน่วยเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรประมง แหล่งน้ำชุมชนพื้นที่ ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

    กรมประมง..จัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงปลาในนาข้าว นำร่องสร้างหน่วยเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงแหล่งน้ำชุมชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนพะเยาโมเดลสู่ต้นแบบการพัฒนาภาคประมง ยกระดับวิถีเกษตรชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีแหล่งผลิตอาหารแบบเกษตรผสมผสาน ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

    โดยใช้หลักการควบคุมทางธรรมชาติ สร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง  เผยว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้งานวันรณรงค์การถ่ายทอดเทคโนโลยี “ส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง ให้เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”

    โดยกรมการข้าว และได้รับเกียรติจากนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งดำเนินการตามนโยบายการขับเคลื่อนพะเยาโมเดลสู่ต้นแบบความสำเร็จ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และกลุ่มเกษตรกร เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีคุณภาพมาตรฐาน

    ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค พร้อมเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการตลาด ส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ พร้อมต่อยอดไปสู่การบริหารจัดการสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ภายใต้กรอบแนวคิด “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”

    สำหรับกรมประมง สำนักงานประมงจังหวัดพะเยา กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ได้ร่วมสร้างต้นแบบการพัฒนาด้านประมงที่ดีภายใต้พะเยาโมเดล โดยจัดทำโครงการนำร่องหน่วยเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรประมง แหล่งน้ำชุมชนพื้นที่ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ร่วมกับ กรมการข้าว ในการส่งเสริมการเลี้ยงปลาควบคู่กับการปลูกข้าวสรรพสี หรือ ข้าวหลากสี ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

    ด้วยแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสานระหว่างการปลูกข้าวและการเลี้ยงปลาในระบบนิเวศเดียวกัน เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้สัตว์น้ำช่วยควบคุมและกำจัดศัตรูพืชรวมถึงสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโตของต้นข้าว

    และยังช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าว ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐาน นำมาพัฒนาดูแลรักษาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง (Natural Base Solution : NBS)

    สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นแนวปฏิบัติที่ช่วยลดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความยั่งยืน (Go Green) รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำเกษตรกรรม (Net Zero)

    นอกจากนี้ ยังช่วยให้เกิดการบริหารจัดการด้านการประมงในพื้นที่แหล่งน้ำของชุมชน ทั้งการอนุรักษ์ฟื้นฟู การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในแหล่งน้ำร่วมกัน ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีแหล่งอาหารประจำหมู่บ้าน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และพร้อมจะเป็นต้นแบบหน่วยเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านประมงให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพะเยาและพื้นที่อื่น ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

    โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ และคณะผู้บริหาร ได้เยี่ยมชมจุดสาธิตการเลี้ยงปลาในนาข้าว ณ หน่วยเรียนรู้การเลี้ยงปลาในนาข้าว ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลานิลแดง 200 ตัว ลงสู่แปลงนาสาธิตส่งเสริมการเลี้ยงปลาในนาข้าว ภายใต้โครงการนำร่องหน่วยงานเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงแหล่งน้ำชุมชน

    นอกจากนี้ กรมประมงยังได้สาธิตทำอาหารปลาจากวัสดุธรรมชาติ โดยใช้ฟางข้าวนำมาหมักเพื่อสร้างแหล่งอาหารในบ่อปลา (แซนวิชปลา) ซึ่งกรมประมงได้มีการส่งเสริมเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นควันในอากาศ (PM 2.5) ภายใต้พะเยาโมเดล รวมถึงการนำเสนอนิทรรศการการเลี้ยงปลาในนาข้าว ฟางมาปลาโต อาหารสัตว์น้ำลดต้นทุน (แหน ผำ) และชุดเพาะฟักพันธุ์ปลาเคลื่อนที่

    ซึ่งจะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้เข้าร่วมงานสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง ให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments