ป.ค้น19จุด7จังหวัดยึดทรัพย์รวม279ล้านบาท เครือข่าย”ใบขวัญ-รัชญา” เจ้าของค่ายเพลงดังอ้างบุคคลสำคัญ สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อเงินกู้มหาศาล ตุ๋นเงินนักลงทุนสูญรวมกว่า 2 พันล้านบาท
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 11 ม.ค.67 พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต. มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.สุเทพ โตอิ้ม รอง ผบ.ก.ป. พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง รอง ผกก.3 บก.ป.
ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการทลายเครือข่ายศิลปินดังแอบอ้างโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลวงเหยื่อสูญเงินกว่า 2,000 ล้าน หลังจับกุมผู้ต้องหาขบวนการดังกล่าวได้ 10 คน ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอสารราชการปลอม, ทุจริตหรือหลอกลวง โดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, ร่วมกันฟอกเงิน, สมคบฟอกเงิน”
พร้อมของกลาง รถหรู 1 คัน รถยนต์ 6 คัน เงินสด 554,800 บาท กระเป๋าแบรนด์เนม 59 ใบ นาฬิกาแบรนด์เนม 6 เรือน เครื่องประดับ 41 รายการ แว่นตาแบรนด์เนม 38 รายการ หมวกแบรนด์เนม 20 ใบ กีตาร์ 3 ตัว พร้อมอายัดเงินสดในบัญชีธนาคาร 174 ล้านบาท และอายัดอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 60 ล้านบาท รวมทรัพย์สินทั้งหมด 279,178,683 บาท
พล.ต.ต.โสภณ กล่าวว่าเมื่อปี 2559 น.ส.รัชญา หรือ ใบขวัญ พร้อมกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 10 ราย ร่วมกันหลอกลวงเงินผู้คนอ้างรู้จักสถาบันการเงิน สามารถเข้าถึงโครงการเงินกู้วงเงินสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำได้ พร้อมแอบอ้างชื่อองคมนตรี หน่วยงานราชการต่างๆ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ หากใครที่ต้องการกู้เงินไปลงทุนทำธุรกิจ สามารถดำเนินการผ่านตนเองได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียม หรือค่าดำเนินการ
มีผู้ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินค่าธรรมเนียมให้ น.ส.รัชญา และพวกกว่า 300 คน ตั้งแต่หลัก10 ล้านไปจนถึงร้อยล้านบาทเพราะหวังต้องการจะได้เงินกู้เงินหลักพันล้านบาทมาประกอบธุรกิจ
พล.ต.ต.โสภณ กล่าวต่อว่า ต่อมาช่วงต้นปี 2566 น.ส.รัชญาเสียชีวิตกะทันหันด้วยโรคประจำตัว กลุ่มผู้เสียหายทั้งหมดตรวจสอบว่าเงินที่ น.ส.รัชญาไปดำเนินการอย่างไรต่อ จึงทราบว่าไม่มีโครงการกู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งหมดแอบอ้างกุเรื่องขึ้นมา อีกทั้งแนวทางสืบสวนยังพบว่า เดิมที น.ส.รัชญา นั้นประกอบอาชีพ ขายของออนไลน์ แต่หลังจากได้เงินที่หลอกลวงผู้เสียหายมานั้น นำมาสร้างบริษัทค่ายเพลง ร่วมงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการอำพรางแหล่งที่มาเงินรายได้
พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป.กล่าวว่า ตรวจสอบเส้นทางการเงินพบมีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 2,000 ล้านบาท โอนไปยังบัญชีธนาคารเครือญาติ ซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ รถหรู บ้าน ของแบรนด์เนม เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับ พร้อมกระจายกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 19 จุด ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา พิษณุโลก เชียงใหม่ กำแพงเพชร และสมุทรปราการ จนนำมาซึ่งการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 10 ราย พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้มาจากการกระทำผิดดังกล่าว
“ทั้งนี้จากการสอบสวนผู้ต้องหาส่วนใหญ่ยังคงให้การภาคเสธ ยอมรับเพียงว่าเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารจริง แต่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเงินผู้คน แต่ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ นำตัวส่ง คณะพนักงานสอบสวน บก.ป. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ผกก.3 บก.ป. กล่าว