บิ๊กปั๊ด – พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ เว็บไซต์ Police News Varieties จากจุดเริ่มต้นการเข้ารับราชการตำรวจ ภารกิจ หน้าที่ ความรู้สึก ความทรงจำ ความประทับใจ ในชีวิตรับราชการตำรวจกว่า 39 ปี และสิ่งที่มุ่งหวังอยากเห็นการพัฒนาร่วมกันของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในอนาคต https://policenewsvarieties.com/เปิดใจบิ๊กปั๊ด6เดือนท/
https://policenewsvarieties.com/จาก-ร-ต-ต-ถึง-พล-ต-อ-บิ๊กปั/
มาถึงในห้วงสำคัญที่สุดในชีวิตรับราชการตำรวจของ บิ๊กปั๊ด จากวันที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เป็นนายพล แต่แล้วคนทำงานและมีฝีมือตัวจริง มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่อง บิ๊กปั๊ด ได้เลื่อนตำแหน่งจนมาถึงจุดสูงสุดในกรมปทุมวัน จากผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (คนที่ 12) https://policenewsvarieties.com/จาก-ร-ต-ต-ถึง-พล-ต-อ-บิ๊กปั-2/
ขึ้น ผบช.ส. ลุยคดีมั่นคง–ผบช.ภ.1ร่วมสางคดี บังฟัต ฆ่ายกครัว 8 ศพ
“ ช่วงเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ทำหลายคดี หลายคดีเป็นคดีความมั่นคง อาทิ ระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎ แล้วไปเป็น ผบช.ภ.1 ไปทำคดีฆ่ายกครัว 8 ศพ ที่จ.กระบี่ ใช้ลูกน้องเก่า ไอ้แนน –พ.ต.ท.ปทักข์ ขวัญนา รองผกก.ภ.จว.ภูเก็ต ไปจับบังฟัต โทรไปสั่งไว้ 5-6 วันก่อนได้ตัว
อันนี้เป็นจังหวะเหมือนกัน เพราะตั้งประเด็นไว้เรื่องความขัดแย้ง แต่พอจับแล้วไม่ใช่เลยสักอัน แล้วก็ไล่ตามระบบ มีโทรศัพท์เข้าที่เกิดเหตุ 4-5 เครื่อง ต้องพิสูจน์ทราบว่าใครเป็นคนถือและโทรเข้าไป มีอยู่หมายเลขหนึ่ง จดทะเบียนเป็นชื่อผู้หญิง เราไม่รู้ว่าใครถือ มีการใช้งานในพื้นที่จ.ภูเก็ต
“เราให้ไอ้แนน ตามหาผู้หญิงคนนี้ บอกเขาว่าถ้าเจอแล้วอย่าเพิ่งทำอะไร ให้บอกเราก่อน ในขณะเดียวกันเราก็ทำไป มีหลายทีมมอบให้เขาไป วันโอเปอเรชั่นก็ขออนุญาตพี่แป๊ะ–พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ว่าวันนี้จะเอาละ
อย่างทีมกองปราบ พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ให้ไปจ.นครศรีธรรมราช ไปหาคนถือโทรศัพท์อีกเบอร์หนึ่ง ทีมแหม๋ว–พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ให้ไปอีกที่หนึ่ง และมีลูกน้อง ผกก.สืบภาค 8 และมีไอ้ไก่–พ.ต.อ.พิษณุ พ่วงพร้อม ด้วย ตอนไปจับคดีที่ยิงไอ้เต้ย – พ.ต.ท.วีรากร ไวยวุฒิ รองผกก.สน.บางยี่ขัน ก็เอาไปด้วยที่มาเลเซีย คดีที่กระบี่ก็เจอไอ้ไก่อีก เราบอกให้รับผิดชอบไปตามนี้
คนแรกที่คว้าได้คือชุด พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ตอนแรกพอไม่เจอทินก็โทรมา เราบอกว่าไม่เป็นไร อย่าเพิ่งกลับอยู่ก่อน อย่าคิดว่าไม่เจอ ไหนๆก็ไปดูเลยว่าหนีไปยังไง ข่าวแตกจริงหรือเปล่า
เขาอยู่ต่ออีก 2-3 ชั่วโมง ปรากฏว่าได้ตัว จริงๆแล้วผู้ต้องหาไม่ได้หนีไปไหน ไปทำนา ปิดมือถือ แล้วเดินกลับมาบ้านมาเจอก็เลยได้ตัว
“พอซักได้ความว่าคนที่มาหลอกให้ไปทำอะไรทั้งหมดคือ บังฟัต มันหลอกว่าไปทวงหนี้ พอถึงเวลามันก็ฆ่าเขา แล้วบังฟัตคือใครไม่รู้เลย โทรศัพท์ก็ปิดไปหมดแล้ว บนชาร์ตการสืบสวนมีอยู่ 300-400 คน ให้ ไอ้นพ –พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ หาว่ามีใครชื่อใกล้เคียงไหม ปรากฏว่าไม่มีเลยแม้แต่คนเดียว
กำลังเวียนหัวอยู่เลย ไอ้แนนโทรมา บอกว่าพี่ครับผู้หญิงที่พี่ให้หา ผมไปเจอน้องสาวเขา ผมก็เลยมาเฝ้าที่บ้าน ปรากฏว่า มีรถ 1 คันกำลังจะมารับน้องสาว ดูเหมือนจะมาขนของย้ายบ้าน ในรถมีผู้ชายไทย 1 คนและมีผู้ชายแต่งชุดตะวันออกกลางอีก 2 คน เลยบอกให้ตำรวจเชิญตัวมาทั้งหมด ส่วนคนที่แต่งชุดตะวันออกกลาง ให้ไปฝากไว้กับเพื่อนที่เป็นตำรวจท่องเที่ยวก่อน อย่าเพิ่งปล่อยไปนะ มันก็ครับๆ
“ผ่านไปสัก 15 นาที ไอ้แนนบอกว่าโทรศัพท์ที่ผู้ชายหรือผู้หญิงถือสักคน อีมี่ตรงกับที่ให้ผมหา เลยให้ถ่ายรูปบัตรประชาชนส่งมาให้ดู ชื่อ ซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์สกุล คล้องกับบังฟัตพอดี”
เราก็เฮ้ยใช่เหรอ ก็เลยเอาบัตรประชาชนส่งให้ทีมกองปราบที่นครศรีธรรมราชดู ปรากฏว่าใช่จริงๆ
สรุปว่าเบอร์โทรศัพท์คือ ผู้หญิงคนนี้เอาบัตรประชาชนพี่ไปซื้อให้บังฟัตใช้ ผู้หญิงเป็นแฟนบังฟัต และเอาคนตะวันออกกลาง 2 คนมาหลอกตำรวจเพื่อบังหน้าหลบหนี ถ้าเจอด่านพวกนี้จะบอกว่าเป็นไกด์ส่วนตัวพาเที่ยว และไม่ได้วางแผนออกทางด่านท่าฉัตรไชยด้วย ผู้ต้องหาวางแผนจะไปลงเรือ
ถ้าตรงนี้ไอ้แนนไม่ได้ตัวจบเลย และไม่รู้เลยว่า ฟัด คือใคร
ส่วนประเด็นการก่อเหตุ ปรากฏว่าที่ตั้งประเด็นไว้ไม่ใช่เลย ไอ้ฟัตมีปัญหากับคนตายเมื่อ 2-3 ปีก่อนลงมือก่อเหตุ เพราะไอ้ฟัตไปปล่อยกู้ คนตายเอาที่ดินมาค้ำไว้ พอคนตายเอาเงินมาคืน จะขอที่คืน ไอ้ฟัตก็ชักดาบเขา มันก็อยู่ไม่ได้ ก็หนีมาอยู่ภูเก็ต
แล้วก็ไปแค้นเขา หาว่าอาชีพทั้งหมดในการปล่อยกู้จบชีวิตเลย คนอื่นที่มากู้มายืมไป ไอ้ฟัตก็ไม่กล้าไปทวง เพราะไม่กล้าเข้าพื้นที่ แล้วตอนที่ไปกะว่าจะไปเอาเงิน แต่คนตายจำเสียงไอ้ฟัตได้เลยต้องฆ่า
“อันนี้ต้องชื่นชมไอ้แนนเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ สมมติว่าวันนั้นเราพูดไปแล้วเขาไม่ได้ทำอะไร เราก็ไม่ได้ตาม”
ผู้ช่วยผบ.ตร.คุมงานสืบสวน – ลุยคดีผอ.กอล์ฟ ชิงทอง ยิง3ศพ
จาก ผบช.ภ.1 เลื่อนตำแหน่งขึ้น ผู้ช่วยผบ.ตร. ยังคงร่วมคลี่คลายคดีสำคัญ อาทิ คนร้ายใช้ปืนจี้ชิงทองในห้างสรรพสินค้าที่ จ.ลพบุรี และก่อเหตุยิงผู้อยู่ในเหตุการณ์เสียชีวิต 3 ศพ ต่อมาจับกุม ผอ.กอล์ฟ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ช่วงเป็นผู้ช่วยผบ.ตร.ได้คุมงานสืบสวนเหมือนเดิม ต่อมาได้ขึ้นเป็น รองผบ.ตร.
“ถามว่าคิดไหมว่าจะขึ้นถึง ผบ.ตร. เคยมีผู้ใหญ่มาบอกเหมือนกัน ว่า จะพยายามสนับสนุน แต่เราก็ฟังไปตามปกติ เพราะคิดว่าอยู่ตรงไหนทำอะไรได้ ก็ทำไป อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ทำ
ก็คิดแค่นั้น ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้เดือดร้อน ขึ้นมาขนาดนี้อีกไม่กี่ปีก็เกษียณ กะว่าเบิร์ดๆ ส่วนใหญ่อยากจะสร้างคนรุ่นใหม่ๆมากกว่า”
วันที่ ก.ต.ช.เสนอชื่อ เป็น ผบ.ตร. สิ่งแรกที่คิดทำคือพัฒนาศักยภาพตำรวจ
ในวันที่ ก.ต.ช. เคาะว่าเป็นเราที่ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. สิ่งแรกที่คิดว่าจะทำให้องค์กรคือ การพัฒนาตำรวจให้มีขีดความสามารถมากกว่าที่เป็นอยู่ ด้านความรู้ ด้านหลักการดำรงชีวิต หลักการรับราชการ
ก็กลับไปที่ความคิดตอนเป็น ร.ต.ต. ที่บอกว่ามันต้องมีครูที่ดีในชีวิตรับราชการตอนแรก จบมาใหม่ๆ ครูคนแรกสำคัญ สถานที่ทำงานครั้งแรก มันจะสร้างพื้นฐานให้เรา
เราอยู่กับตำรวจมาก็จะเห็นว่าถ้าฝึกพัฒนาให้เขามีความรู้ความสามารถ เขาจะมีความมั่นใจ พอเขามีความมั่นใจ เขาก็จะทำงานได้สำเร็จ พอเขามีความสำเร็จ เขาจะภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ มันจะทำให้เขาดีขึ้น ทั้งด้านจิตใจ ด้านความคิด
เราต้องทุ่มเรื่องการพัฒนาบุคลากรเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะคนในสถานีตำรวจ เป็นด่านแรกที่ต้องทำหน้าที่นี้ ไม่ว่าจะเป็น จราจร สายตรวจ สายสืบ พนักงานสอบสวน พนักงานให้บริการบนสถานี
ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าเราก็ยังทำได้ไม่ดี ใน 2 ปีที่ผ่านมา เราก็พยายามพัฒนา แต่ติดช่วงโควิดที่การฝึกอบรมขยับแทบไม่ได้เลย ก็เสียดายว่าขาดตรงนี้ไป
“1,400 สถานี พยายามจะปรับเรื่องแทคติค เรื่องยุทธวิธีให้เขา ให้เขาภูมิใจในหน้าที่ ถ้าคนเรามั่นใจว่าทำอะไรได้ในตำแหน่งหน้าที่ มันจะมีความสุขกับเรื่องแบบนี้”
อย่างตอนนี้ปัญหาคนคุ้มคลั่ง คนบ้า แล้วมีอาวุธ เป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ต้องยอมรับว่าตำรวจแต่ละโรงพักทำได้ไม่เท่ากัน แต่ในปีที่ผ่านมา เราก็พยายามปรับอุปกรณ์เรื่องการฝึกให้ตอบรับเรื่องพวกนี้ แต่อันนี้ก็เป็นแค่ส่วนเล็กๆ
มองคนเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่มองคนเป็นค่าใช้จ่าย
“โดยรวม การพัฒนาคน คือ มองคนเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่มองคนเป็นค่าใช้จ่าย ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราก็ต้องทำให้คนมีความสามารถ เขาจะได้ภูมิใจในความสำเร็จการทำหน้าที่ของเขา ให้เขามีความรู้
เราก็เลยมีเรื่องของการสร้างมาตรฐาน มีการสอบความรู้สายตรวจ การสอบความรู้จราจร สอบความรู้ฝ่ายสอบสวน เราพยายามทำให้คนที่อยู่ในสถานีต้องผ่านงานสอบสวน เพื่อใช้กับการแต่งตั้ง ที่ประกาศไปแล้ว ว่า ผกก. รองผกก.ต้องผ่านงานสอบสวน
“นอกจากนี้ ในส่วนของหน่วยสนับสนุนก็สำคัญไม่แพ้กัน อาทิ งานพิสูจน์หลักฐาน ตรงนี้ยังไม่ได้เริ่มทำอย่างเป็นรูปธรรมนัก แต่ได้ทำโรดแมปการปรับองค์กรไปแล้ว คือ จะพยายามลดสัดส่วนของฝ่ายอำนวยการ และเพิ่มสัดส่วนของผู้ปฏิบัติมากขึ้น จะลดเป็นปีๆไป
อาทิ เกษียณ 1 หมื่นคน เป็นตำแหน่งอำนวยการ 30 เปอร์เซ็นต์ ปฏิบัติ 70 เปอร์เซ็นต์ เวลาจะบรรจุตำรวจใหม่ ก็อาจจะลดฝ่ายอำนวยการเหลือ 28 เปอร์เซ็นต์และฝ่ายปฏิบัติเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นมีการยุบรวมและใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ แต่มันก็ยังมีอุปสรรคในอนาคตอีกเยอะ”
บทบาทเจรจาม็อบ – จดจำลูกน้อง เสียสละ กล้าหาญ บาดเจ็บ เลื่อนตำแหน่งให้ตอนเป็น ผบ.ตร.
อีกหนึ่งภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เป็นรองผบก.น.1 คือเจรจาต่อรองกับม็อบ ทำให้ได้ศึกษายุทธวิธีต่างๆ เคยมีเหตุการณ์ที่ลูกน้อง 2 คน เป็นรองสารวัตร ชื่ออ้นกับเพชร ทำหน้าที่หาข่าวในกลุ่มม็อบ
ตอนนั้นม็อบปักหลักที่ถนนราชดำเนินนอก อ้นกับเพชรเข้าไปหาข่าว ระหว่างนั้นมีสิ่งบอกเหตุไม่น่าไว้ใจ อีก10นาทีต่อมา เราเลยโทรหาเพชรให้ออกมา จากนั้นเพชรก็ออกมา ส่วนอ้นติดต่อไม่ได้ และไม่ออกมา
เราประสานงานเข้าไปปรากฏว่าอ้นถูกตีหัวหมดสติ มีการ์ดคุมตัวเอาไว้ จับมัดมือ ผ้าปิดตา ถุงดำคลุมหัว จนวันรุ่งขึ้นอ้นถึงได้ปล่อยตัวออกมา ทราบว่าม็อบเอาแพทย์จากโรงพยาบาลมาเย็บแผลสดๆให้ อ้นถูกเย็บแผล 15 เข็ม ถูกการ์ดชุดแรกทำร้าย และการ์ดชุดหลังมาดูแล
เหตุการณ์วันนั้นทำให้แม่ของอ้นมาคุยกับเรา บอกว่าไม่อยากให้ลูกทำงานเสี่ยงขนาดนี้
จากนั้นเราก็ให้เขาไปทำงานยาเสพติด ปรากฏว่าอ้นถูกยิงบาดเจ็บสาหัส รักษาตัวนานเป็นเดือน ส่วนลูกน้องเป็นนายดาบกับนายสิบถูกยิงเสียชีวิตทั้งคู่
แม่เขาก็บอกเหมือนเดิมไม่อยากให้ลูกเสี่ยง มาถึงตอนที่เราเป็น ผบ.ตร. ก็หาตัวอ้นว่าอยู่ที่ไหน และให้เขาเลื่อนตำแหน่ง ส่วนเพชรยังเจอกันยังทำงานด้วยกันตลอด
อย่างกรณีจับเหตุขนระเบิดที่แยกสวนมิสกวัน เราก็ยังจำความกล้าหาญของสารวัตรติ๊บ ที่ตอนนั้นทีมตำรวจกระโดดคว้าตัวผู้ต้องหาที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์ขนระเบิดได้ที่แยกสวนมิสกวัน
เราสะกดรอยมาตั้งแต่สะพานพระปิ่นเกล้า ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก และมาดักจับที่นั่น รถจักรยานยนต์เขาล้ม โดยที่มีระเบิดทั้งที่ตัวและที่รถจักรยานยนต์ แต่ยังไม่ได้ต่อสวิชต์ ตอนนั้นต้องเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ออก
สารวัตรติ๊บอาสาขี่รถจักรยานยนต์ออกไป เขาบอกว่าผู้ต้องหาขี่มาได้ เขาก็ขี่ออกไปได้ ไม่น่าจะเกิดเหตุอะไร เป็นอีกคนที่เราจดจำได้
เจรจาต่อรองแกนนำม็อบจนยอมถอย
อีกหนึ่งประสบการณ์ในการเจรจาฝูงชน ช่วงเป็นรองผบก.น.1 มีม็อบจะมาบุก บช.น.ตอนกลางคืน เขย่ารั้วบช.น.จะพังประตู ตำรวจอยู่ข้างในทั้งหมด ตอนนั้นถ้าปล่อยไปคิดว่ารั้วพังแน่ ถูกบุกแน่ ไฟฟ้าในบช.น.ดับทั้งหมด มีการยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา ม็อบจึงล่าถอยออกไป สักพักก็กลับมารวมตัวกันใหม่ ประกาศให้คนยิงกระสุนยางออกไป
ตอนแรก พี่เบื้อก – พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รองผบช.น. ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ จะออกไปเจรจา เราก็ห้ามไว้ เพราะพี่เขาทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ออกไปไม่ได้ เราอาสาออกไปเอง ตอนนั้นคิดว่าเราเอาตัวรอดได้
ก็ปีนรั้วออกไปคนเดียว ม็อบส่วนหนึ่งเหมือนจะทำร้ายเรา แต่มีการ์ดกับแกนนำคนหนึ่งซึ่งเป็นคนจ.ฉะเชิงเทรา บ้านเดียวกับเรามาพูดคุยกัน
เราบอกว่าจากสถานการณ์ถ้าคุมไม่อยู่ จากกระสุนยางจะกลายเป็นกระสุนจริง เราถอยกันดีกว่าไหม ไม่อยากให้บานปลาย ตอนนั้นม็อบก็ยอมถอย
จากนั้นเราจะกลับเข้าบช.น. ปรากฏว่าเราปีนรั้วกลับไม่ได้ รั้วสูง ตอนปีนรั้วออกไปมีที่เหยียบ แต่ตอนปีนกลับไม่มี มาขอให้ตำรวจ ปจ.ที่รักษาการตรงประตูเปิดให้ เขาก็ไม่เปิด เพราะเราแต่งชุดนอกเครื่องแบบ จนต้องโทรศัพท์หาลูกน้องให้มาเปิดประตูให้ (หัวเราะ)
นำประสบการณ์มาปรับยุทธวิธี – ฝึกตำรวจควบคุมฝูงชน
หลายสถานการณ์ในม็อบทำให้มองเห็นว่าผู้ปฏิบัติไม่มียุทธวิธี ไม่มีทักษะเลย ทักษะเป็นศูนย์ ไปยืนพอเขาดันๆกำแพงก็แตก ในยุคที่เรามาเป็นผบ.ตร.จึงมาปรับยุทธวิธี ใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน
ยุทธวิธีมี 4ข้อ 1.ยึดหลักกฎหมาย 2.ใช้หลักสัดส่วน เขามา 100 เราก็ไป 100 3.ใช้หลักความจำเป็น และ 4.ใช้หลักความเหมาะสม คืออาจมีหลายวิธี แต่เราเลือกวิธีที่เหมาะสม
รวมทั้งมีการฝึกตำรวจทุกระดับ 1.ระดับบังคับบัญชา บริหารเหตุการณ์ 2.ระดับควบคุมผู้ปฏิบัติ และ3.ระดับปฏิบัติ ทำเป็นแผนของตำรวจที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ขณะที่ในปัจจุบันมีปรากฏการณ์พิเศษเพิ่มขึ้นมาด้วย คือ การแย่งชิงมวลชนในโลกโซเชียล และสงครามข่าวสาร เกิดเฟคนิวส์ ตำรวจต้องแก้สถานการณ์ให้ได้
ฝากสานต่อการพัฒนา–เป็นกำลังใจให้ตำรวจทุกระดับชั้น
ฝากถึงผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติชุดต่อไป เราสตาร์ตมาให้แล้ว การขับเคลื่อน การพัฒนาต้องมีต่อไป ผมเชื่อว่าผู้บริหารองค์กรที่เติบโตมาขนาดนี้รู้ปัญหาทุกคน เป็นกำลังให้ตำรวจทุกระดับชั้นมากกว่า ไม่ว่าคุณจะเล็กจะใหญ่คุณมีความสำคัญในตัวของทุกคน และต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
“คำว่า เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ เป็นประโยคแรกที่ตำรวจต้องท่องเอาไว้ในใจ เป็นคำปฏิญาณของเราอยู่แล้ว”
“ผมพูดหลายๆที่ว่าชีวิตข้าราชการตำรวจ เราต้องไม่เดินคนเดียว ต้องเดินไปเป็นกลุ่ม มีคนที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตเดินไปกับเรา เราช่วยเขา เขาช่วยเรา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ส่วนปัญหามันแก้ได้หมด ขอให้คนเรามีความรู้ความสามารถ กลับไปเรื่องการพัฒนาคน ให้โอกาสคน สร้างคน ภายใต้ภาวะจำกัดทุกๆอย่าง ปัญหาผมว่ามันแก้ได้ ตอนนี้โครงการที่ทำอยู่ก็เชื่อว่าเขาคงทำต่อเนื่อง พัฒนาบุคลากรเพิ่มเติมไป พัฒนากระบวนการทำงานไป”
เราเปิดโครงการเล็กๆ เอาไว้ 2 เรื่อง
1.ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ ซ้อมการแก้ปัญหากรณีคนร้ายใช้อาวุธอานุภาพร้ายแรงในเขตชุมชน ที่ฝึกซ้อมเสมือนจริงที่คริสตัลปาร์ค เมื่อวันที่ 19 ก.ย.65 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษใช้สถานที่จริงในการฝึก เพื่อเตรียมพร้อมการประชุมเอเปค 2022 รวมทั้งให้เขารู้จักเอายุทธวิธีมาประยุกต์ด้วย เพราะเห็นปัญหาที่เหตุกราดยิงที่ เทอมินอล 21 โคราช
เรื่องที่ 2.เรากลับไปที่ โครงการ International visiting program ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่เคยไปดูงานช่วงเป็นรองผบก. เอาแนวคิดนั้นมาใช้กับวันนี้ เปิดบ้านให้นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดู อยากให้เขาเข้าใจว่าแต่ละวันตำรวจทำอะไร เขาจะชอบหรือไม่ชอบไม่ว่ากัน แต่ขอให้รู้ว่ามันอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เขาคิด หรืออาจจะดีกว่าที่เขาคิด
มันให้คน 2 เจนเนอเรชั่นได้รู้จักกัน แต่ถ้าโครงการนี้มันเวิร์ค ถึงวันหนึ่งอีก 10 ปี เขาเป็นอัยการ เป็นศาล เขาอาจจะมีความทรงจำว่าสมัยหนึ่ง เขาเคยมาดูตำรวจ แล้วตำรวจทำอะไรให้เขาเห็น
ตื่นเช้าตี 5 มายืนแช่น้ำตามสี่แยกโบกรถ ไปเฝ้าจุด อยากให้คนในสังคมคุยกัน ดีกว่าไปนั่งด่ากัน เพราะสุดท้ายจริงๆก็มีแต่ตำรวจที่ช่วยเขา คนที่พาคุณขึ้นศาล ช่วยคุณกลับบ้าน สุดท้ายก็คือตำรวจทั้งนั้น ต่างกับคนที่มาตามกระแส มาแล้วก็หายไป
“อย่างเหตุกราดยิงที่ห้างเทอมินอล 21 โคราช สุดท้ายก็มีแต่ตำรวจที่เข้าไปตาย วันนั้นรู้ว่าเข้าไปเสี่ยง แต่ต้องเข้าไป”
”พยายามบอกลูกน้องว่าเราสำคัญในสังคม ทุกคนก็สำคัญ แต่สำคัญตรงไหนในสังคม เราต้องเอาประโยชน์มาแชร์กันและทำให้สังคมเราอยู่ได้ เราต้องถือว่าเรามีโอกาสดีกว่าคนอื่น ที่เขาให้อำนาจหน้าที่เรามาด้วย แต่ถ้าเราใช้ไม่เป็น เราไม่รู้จะใช้ยังไง หรือไปใช้ในทางผิดๆ ก็เสียดาย เสียหาย คือ สังคมมันอยู่ไม่ได้ ประเทศมันอยู่ไม่ได้ และเราไม่ได้เป็นตำรวจไปจนตาย เรามีลูกหลาน ถ้าลูกหลานเราไปเจอคนแบบนี้ หรือเจอตำรวจไม่ดีเราก็แย่ นี่อีกไม่กี่วันก็เป็นชาวบ้านแล้ว เราก็ไม่อยากเจอตำรวจไม่ดีเหมือนกัน”
แสวงหาความร่วมมือกับ ศาล อัยการ แก้ปัญหาความเชื่อมโยงพยานหลักฐาน
อีกเรื่องที่สำคัญคือการแสวงหาแนวทางใหม่ๆในการแก้ปัญหา มองออกไปนอกองค์กร ก่อนหน้านี้ผมไปสัมมนาร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระบวนการยุติธรรม ได้กราบเรียนท่านประธานศาลฎีกาไปแล้วว่าเราต้องมีคณะทำงานเพื่อจะทำงานอย่างใกล้ชิด ระหว่างตำรวจ อัยการ ศาล ในการแก้ไขปัญหาความเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อให้กระบวนการสามารถทำไปได้ด้วยความราบรื่น
ท่านก็เห็นด้วยในหลักการ มีหลายอย่างที่คณะทำงานนี้จะต้องพิจารณาศึกษา เพราะระบบกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา จะเก่าไปไหม โบราณไปหรือเปล่า สอดคล้องกับยุคสมัยหรือเปล่า มีหลายเรื่องที่ผมไม่แน่ใจว่ากระบวนการยุติธรรมเราแก้ปัญหาได้
เช่น ความผิดประเภทรถจอดขวางถนนหน้าบ้าน สุนัขไปถ่ายในบ้านเขา เราแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไง หรือเมื่อเร็วๆนี้ผู้ชายไปตามตื้อผู้หญิง อาละวาด ด่าทอ สุดท้ายก็ฆ่ากันตาย กฎหมายทุกวันนี้ กระบวนการยุติธรรมทุกวันนี้ เราออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาพวกนี้ได้หรือเปล่า
รวมถึงประเด็นที่คนสนใจในตอนนี้ คือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เรามีความรวดเร็วในการอายัดทรัพย์ได้สักเท่าไหร่ ทันไหม ตำรวจแสวงหาความร่วมมือกับ ปปง.อยู่ เราใช้อำนาจ ปปง. อยู่ เรามีคณะทำงานพิจารณาร่วมกัน แต่ว่ามันก็ยังไม่ทัน ต้องกลับมาคิดว่าเราจะมีวิธีการอื่นไหม
เราไม่ได้มาคิดหน่วยเดียว ตำรวจต้องคิดร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆทั้งกระบวนการ ต้องหาวิธีการใหม่ๆ อาจต้องมีศาลพิเศษ มีกระบวนการพิจารณาพิเศษหรือเปล่า
หรือประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ผู้เสพถ้าสมัครใจบำบัดก็ถือว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ถามว่าแล้วเราบำบัดที่ไหน ผู้เสพเป็นผู้ป่วย แล้วผู้ป่วยมีที่รักษาไหม เราก็จะเห็นข่าวว่า พ่อฆ่าลูก เพราะไม่อย่างนั้นก็ถูกลูกฆ่าตาย
“วันก่อนมีคดีขับรถชนรถจักรยานยนต์ แล้วเอาปืนลูกซองไปยิงเขา แล้วเผารถเขา คนติดยาเสพติดควรมีที่รักษาเป็นเรื่องเป็นราว อาจนอกเหนืองานของเรา จริงๆองค์กรก็อาจจะแสวงหาแนวทางใหม่ๆ แล้วเอาปัญหาเป็นตัวตั้งมานั่งคุยกันว่าเราจะแก้ปัญหาตรงนี้ยังไง”
ตำรวจก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้วย มันคงไม่ไปจบในหน่วยเดียวในองค์กรเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องการปรับตัวต้องรวดเร็ว ต้องตอบสนองกับปัญหาได้เร็ว แต่ถ้าถูกมัดมือมัดเท้าแบบนี้ก็น่าเป็นห่วงว่าจะอยู่กันไปยังไง อยู่ยากขึ้น”
ชี้ พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ เกณฑ์อาวุโส 100% ทำให้องค์กรปรับตัวยาก
ในเรื่องของ พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ ความเห็นส่วนตัว มองว่าเป็นกฎหมายที่ออกแบบโดยนักกฎหมาย ไม่ได้ออกแบบโดยนักบริหาร ถ้าออกแบบโดยคนอื่นที่ไม่เข้าใจว่าวันๆตำรวจทำอะไร เช่น การบอกว่าจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นต้องใช้อาวุโส 100 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้องค์กรปรับตัวยาก เพราะในอนาคตคนจะอยู่รอดต้องปรับตัวเร็ว แต่ปรากฏว่าเราทำให้มันปรับตัวยาก มีไหมองค์กรไหนในโลกที่ใช้ระบบอาวุโส 100 เปอร์เซ็นต์แล้วเจริญก้าวหน้า
“จะเห็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำระบบรับแจ้งความออนไลน์ เราตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(สอท.)ขึ้นมา มันก็เป็นการเริ่มต้น ต้องใช้เวลาพัฒนาอีกยาวไกล กว่าจะตอบโจทย์
อย่าลืมว่าคนร้ายไม่ได้อยู่นิ่ง แล้วการจะปรับองค์กรถ้าเอาตามกฎหมายใหม่เราทำยากมาก จะทำให้เป็นการสร้างปัญหามากกว่าจะช่วยเรา เขาอาจจะมองในเรื่องการควบคุม มองว่าผู้บริหารมีแนวโน้มใช้อำนาจในทางไม่ชอบจึงต้องมาควบคุม
แต่จริงๆแล้วมันต้องหาจุดพอดี มีวิธีการอื่นที่จะควบคุมผู้บริหารได้เยอะ หลักการถ่วงดุลการใช้อำนาจการสร้างระบบตรวจสอบสำคัญกว่าที่จะใช้วิธีมัดมือมัดเท้า คุณต้องให้เขาทำงานเต็มที่ มีอิสระ แต่คุณต้องมีระบบตรวจสอบที่เป็นธรรม ต้องมีการถ่วงดุลกัน ไม่ใช่ห้ามเขาทำโน่นทำนี่ ถ้าเป็นบริษัทเอกชนคงเจ๊งครับ”
จบ 39 ปี 8 เดือน ชีวิตตำรวจ – 1ต.ค.65 จัดระเบียบชีวิตใหม่
ถามว่า วันที่ 1 ต.ค.65 เราจะทำอะไร สิ่งแรกคือจะจัดบ้าน จะรื้อแฟ้มเอกสาร บางทีมีคดีเก่าๆที่เก็บไว้เต็มไปหมด ที่บ้านเคยบอกว่าจะเอาไปเผาทิ้ง แต่เราจะเก็บไว้ดู บางเรื่องก็เล่าให้ใครฟังไม่ได้เลย ใกล้ตายเมื่อไหร่อาจจะเขียนหนังสือ วางแผนว่าจะพาครอบครัวไปเปิดหูเปิดตาบ้าง อันนั้นคงระยะสั้น
คงใช้เวลาอยู่กับการจัดระเบียบชีวิตใหม่สักพักหนึ่ง เพราะจริงๆ เราก็ต้องถอดเครื่องแบบ เราอยู่กับมันมา 39 ปี 8 เดือน ก็อาจมีความไม่คุ้นชินอยู่บ้าง แต่เมื่อถึงวันนั้น มันก็ต้องไป
“ระยะแรกยังไม่ได้มีแผนการจะทำอะไร มีพี่ พรรคพวกเพื่อนฝูงภาคเอกชนมาทาบทามให้เป็นประธานที่ปรึกษา กรรมการอิสระ แต่ก็ขอบคุณเขาไป คงไม่เอา ถ้าจะทำ ทำเองดีกว่า ส่วนถ้าเชิญเป็นอาจารย์พิเศษมาสอนรุ่นหลังๆอาจต้องดูเป็นเรื่องๆไป เพราะเราก็คิดว่ามาถึงจุดที่เราพอแล้ว”
ไม่ยึดติดตำแหน่งแห่งที่ ยกขึ้นได้ก็วางลงได้ ทำงานด้วยใจ
“ชีวิตการรับราชการส่วนใหญ่ของผมอยู่กับงานสืบสวน ชีวิตตำรวจนักสืบ เราอยู่กันอย่างครอบครัวใหญ่ เราไม่ยึดติดกับตำแหน่งแห่งที่ ชีวิตลูกผู้ชาย ยกขึ้นได้ก็วางลงได้
เราดูแลซึ่งกันและกัน ไว้ใจกัน ฝากชีวิตไว้ด้วยกัน ลาภยศสรรเสริญ ยศฐาบรรดาศักดิ์เป็นสิ่งสมมติ มีเพื่อใช้ในการปกครองบังคับบัญชาตามวิถีทางราชการ เราทำงานกันด้วยใจ ด้วยความทุ่มเท ด้วยชีวิต เพียงหวังให้งานสำเร็จ”
ฝากตำรวจ 200,000 นาย เป็นเสาหลักค้ำจุนสังคม – อวยพรแคล้วคลาดภยันตรายทั้งปวง
ถ้าตำรวจทุกคนสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดำรงตนอยู่ในความยุติธรรม ทุกคนช่วยกันทำหน้าที่ของตนเองให้ดี เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ ตำรวจกว่า 200,000 คน จะสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ เป็นเสาหลักค้ำจุนสังคม เป็นที่พึ่งของประชาชนทุกๆคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนควรได้รับความเป็นธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แล้วสังคมก็จะสงบสุข เรียบร้อย ประเทศชาติจะมั่นคง ลูกหลานเราจะได้อยู่ในสังคมที่มีความสงบร่มเย็น
ขอให้น้องๆทุกคน เข้าใจและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ให้ประสบความสำเร็จ เอาชนะอุปสรรคขวากหนาม แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง ให้เป็นที่รักที่ศรัทธาของประชาชนให้สมกับการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
ปร์วีร์30/9/65