Thursday, November 21, 2024
More
    Homeคนข่าวมีรางวัลจุ๊บแจง-ทัศนีย์ ดำมุณี นักข่าวมือรางวัลช่อง9

    จุ๊บแจง-ทัศนีย์ ดำมุณี นักข่าวมือรางวัลช่อง9

     

    เหยี่ยวข่าวสาวมากประสบการณ์ วัย45ปี มือรางวัลของโต๊ะข่าวอาชญากรรม สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี

    จากเด็กสาวชาวสุราษฎร์ธานี ที่ครอบครัวประกอบอาชีพสวนยางพารา เข้าเมืองหลวงมาเรียนคณะนิเทศศาสตร์ วิชาเอกสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

    ได้ฝึกงานกับประชาชาติธุรกิจ ทำข่าวแบบฉบับหนังสือพิมพ์

    กระทั่งปี 2542 เรียนจบในช่วงวิกฤตฟองสบู่แตก หนำซ้ำยังประสบอุบัติเหตุหนัก ต้องกลับบ้านไปรักษาตัวนานถึง 4 ปี

    จากนั้นเข้ากรุงเทพฯอีกครั้ง เพื่อสมัครงานเป็นสื่อสารมวลชน จุ๊บแจงเล่าว่า

    การสมัครงานในสิ่งที่เราถนัดนั้นเป็นเรื่องยากมาก จำได้ดีช่วงนั้นถือเอกสารใบสมัครงานยื่นทุกบริษัทที่ประกอบกิจการเกี่ยวข่าว

    เดินหางานจนส้นรองเท้าหักก็ยังไร้วี่แววตอบรับ

    กระทั่งที่สุดท้าย ขอเป็นแค่เด็กฝึกงานเพียงแค่ติดตามนักข่าวตระเวนเท่านั้น

    ผ่านไป 6 เดือน ผู้ใหญ่เห็นแววการทำงานมีไหวพริบ ขยัน มุ่งมั่น อดทน ให้มาเป็นสตริงเกอร์ข่าวสายสังคม ประจำกระทรวงพาณิชย์ ของช่อง 9

    อัตราตอบแทนข่าวชิ้นละ 150 บาท หากคลื่นวิทยุของสถานีนำไปใช้อีก จะได้เพิ่มอีก 50 บาท

    ถือว่าเป็นการเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนตั้งแต่ ปี 2546

    ปี 2548 ได้บรรจุเป็นพนักงานสัญญาปีต่อปี อยู่สายอาชญากรรมตระเวนข่าวเต็มรูปแบบ พร้อมเริ่มฝึกฝีมือทำสกู๊ปข่าว

    ผ่านไปหลายปี ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากนางนิรมล ใจสุด ภรรยานายสุชาติ ใจสุด ผู้ต้องขังที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต

    คดีนี้นายสุชาติ ถูกตำรวจจับ ข้อหาร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 46 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี

    แต่ครอบครัวและชาวบ้าน ต่างทราบกันดีว่าไม่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดใดๆ พยายามหาพยานหลักฐาน มาต่อสู้คดีอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี

    มองว่าเป็นเคสแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้น เลือกทำสกู๊ปชิ้นนี้ทันที

    แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่าคดีนี้มีผลกระทบต่อวงการสีกากีและเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

    ถึงขนาดมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่โทรศัพท์มาให้หยุดเผยแพร่สกู๊ปข่าว

    กลัวว่าจะทำให้ตัวเองและครอบครัวนั้นมีอันตราย อีกทั้งครอบครัวก็อยู่ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี  ได้โทรศัพท์ปรึกษากับหัวหน้า ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า

    “ถ้าคิดจะเป็นนักข่าวต้องสลัดความกลัวไปให้ได้”

    จากนั้นโทรศัพท์ปรึกษาคุณพ่อได้คำตอบว่า

    “ทำไปเถอะลูกมันเป็นหน้าที่ คนเรามันจะตายมันก็ต้องตาย

    ลูกเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวเสมอ”

    เมื่อพร้อมทำหน้าที่ ก็ลงมือตามหาพยาน หาข้อมูลเชิงลึก ออกสกู๊ปไป 5 ตอน จนได้หลักฐานใหม่

    นำไปร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ แล้วรับไว้เป็นคดีพิเศษในที่สุด เพื่อขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีอีกครั้ง

    จากการเผยแพร่เรื่องราวดังกล่าว หัวหน้าได้หยิบสกู๊ปข่าวชิ้นนี้ส่งเข้าประกวดได้รับ รางวัลแสงชัยสุนทรวัฒน์ ข่าวสืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยม อันดับ 2 ของปี 2556 ในชื่อรื้อคดีแพะยาเสพติด

    ต่อมาปี 2557 ได้รับรางวัลสาขาสืบสวนสอบสวนโทรทัศน์เป็น ถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

     ปี 2558 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ จัดประกวดข่าวสืบสวนสอบสวนสืบสวนสอบสวน ได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่นที่ 1

    สกู๊ปชิ้นดังกล่าวสามารถคว้ารางวัล 3 ปีซ้อน

    ต่อมาได้เจอคดีฆ่าแม่ต่อหน้าลูก 8 ขวบ เนื่องจากมีป้าของผู้ต้องหา 1 ใน 2 คน มาร้องทุกข์ตำรวจจับหลานชายในคอคดีทำร้ายร่างกาย แต่ยัดคดีฆ่าคนตาย

    เป็นคดีที่ภูมิใจมาก เด็กทั้ง 2 คน โดนโทษประหาร อยู่ในเรือนจำแล้ว 2 ปี

    ทำสกู๊ปตีแผ่จนอัยการสั่งปล่อยตัวทันที เนื่องจากมูลความผิด เป็นสำนวนแต่งขึ้นมา

    จนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ปี 2562 จากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ชื่อสวมคดีพิมาย

    ล่าสุดเป็นคดีปัญหาของชาวบ้านใน ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ที่ถูกนายทุนออกโฉนดทับที่ทำกินมานานกว่า 30 ปี

    ติดตามช่วยเหลือออกสกู๊ปไป 20 ตอน จน DSI รับเป็นคดีพิเศษ

    พบว่าคดีนี้มีการโอโอนซื้อโอนขายเปลี่ยนมือ น.ส.3 ไม่ถูกต้องตามพรบ.ที่ดินปี 2540 สรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

    สกู๊ปชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาช่วยเหลือสังคมดีเด่น จากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ปี 2563

    18ปี กับวงการสื่อสารมวลชน คว้ารางวัลคุณภาพ 5 รางวัล

    เจ้าตัวบอกไว้ว่า ไม่ได้ตั้งใจล่ารางวัล จุ๊บแจงแค่ชอบการช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยาก

    คิดขณะการทำงานว่า ข่าวที่เราทำให้อะไรกับสังคมได้บ้าง เราได้ถ่ายทอดความเป็นจริงหรือไม่

    เราดำเนินเรื่องมีความน่าสนใจมากแค่ไหน สิ่งที่เราทำมันสามารถช่วยอะไรพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดมันคือตัวเรา

    กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำหัวหน้าเห็นชอบนำสกู๊ปข่าวไปส่งประกวดแล้วตอบโจทย์จุดหลักของการตัดสินรางวัลเท่านั้นเอง

    หลายคนอาจมองเป็นเทคนิคการได้รางวัล แต่อยากให้มองว่าทำด้วยความสนุกความชอบที่ออกมาจากจิตใจจริงๆ

    “แค่ได้ช่วยเหลือหรือพยายามจะช่วยเหลือสิ่งที่ประชาชนหรือชาวบ้านตาดำดำ ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต้องการแค่นี้อันนี้คือรางวัลสูงสุดแล้ว

    นักข่าวสาวอาวุโสเผยถึงความในใจ

    ดั่งคติประจำใจของจุ๊บแจง จงเป็นคนโง่ตลอดเวลา แล้วคุณจะฉลาดขึ้นในทุกวัน

    เกรียงไกร พรมยะดวง บันทึก5/3/64

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments