“ตม. X-RAY ร้านจำหน่ายอาหารย่านลาซาลรวบแรงงานชาวลาว หลังพบลอบทำงานไร้ใบอนุญาต”
วันที่14ส.ค.67 พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดยกระดับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักของ สตม. โดยสั่งการและกำชับให้เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่รับผิดชอบงานสืบสวนเน้นลงพื้นที่ X-RAY ตรวจสอบป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง
บก.ตม.1 โดย พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1 พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับเรื่องร้องเรียนและเบาะแสจากประชาชนทั้งทางช่องทางการร้องเรียนหลัก และทางสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการลักลอบทำงานของคนต่างด้าวโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน การทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะกระทำได้ หรือในลักษณะแย่งอาชีพสงวนของคนไทย
สั่งการให้ พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.ฯ นำชุดปฏิบัติลงพื้นที่ตลาดและร้านขายอาหารริมทางเท้าย่านลาซาล ผลการตรวจสอบพบว่าหลายร้านเป็นคนไทย หรือมีการจ้างแรงงานที่มีเอกสารประจำตัวและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารบางในย่านดังกล่าวบางร้าน ยังพบมีแรงงานสัญชาติลาวลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ทั้งในลักษณะเปิดร้านเอง และเป็นลูกจ้าง รวมทั้งหมด 5 ราย เป็นหญิง 4 ราย และ ชาย 1 ราย
เบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มผู้ต้องหาชาวลาวทั้ง 5 คน ว่า“เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะกระทำได้”นอกจากนี้ผู้ต้องหาคนหนึ่งไม่สามารถแสดงหนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” อีกข้อหา ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ก่อนจะผลักดันกลับประเทศต้นทางในขั้นตอนต่อไป
พ.ต.ท.สุริยะ ฝากประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนผ่านผู้สื่อข่าวว่า ”บุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากจะต้องเข้ามาตามช่องทางอนุญาตตามกฎหมายและได้รับการตรวจลงตราโดยถูกต้องแล้ว หากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ในส่วนของเจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานยังมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ สตม. เมื่อมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของตนอีกด้วย“
อนึ่ง สตม. จะมีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามคนต่างด้าวที่เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ใดให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามมาตรา 64 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี