แฟ้ม (ไม่)ลับสีกากี
พันตำรวจตรี ดิษฐ์วุฒิ พิทักษ์ราชพงศ์ หรือ สารวัตรเอ สารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา
เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 อายุใกล้เข้าวัย 34 ปี จบชั้นมัธยมศึกษาจากรั้วชมพู-ฟ้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น122
ศึกษาต่อที่ นักเรียนพลตำรวจ โรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่นที่ 77 และ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 64 ปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิต(รปบ.ตร.)
รับราชการครั้งแรกขึ้นไปอยู่ที่อีสานของประเทศ บรรจุเป็นพนักงานสอบสวน (สบ1) สถานีตำรวจภูธรเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
ต่อมา ได้เป็นนายเวรผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง และ นายเวร ผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 2
ย้ายข้ามภาคเข้านครบาล เป็น รองสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลบางมด และ มาขึ้นสารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา
แรงบันดาลใจในชีวิตรับราชการตำรวจ ไม่ใช่คนอื่นไกล คือ คุณพ่อของสารวัตรเอ เอง พ.ต.อ.หาญภักดี พิทักษ์ราชพงศ์
ปัจจุบันคุณพ่อเสียชีวิต เหลือไว้แต่เพียงแบบอย่างของความดีที่คุณพ่อเคยทำไว้ให้ศึกษาและเป็นแบบอย่าง
มุมมองต่ออาชีพตำรวจ ที่สารวัตรเอ มองนั้นเจ้าตัวบอกว่า
โดยส่วนตัวสัมผัสกับอาชีพตำรวจมาตั้งแต่เด็ก ภูมิใจมากครับ ที่เกิดเป็นลูกตำรวจ ท้ายที่สุดแล้วตัวเองก็มาเป็นตำรวจ
ผมมองว่าตำรวจเป็นอาชีพที่น่าสงสาร คนจะนึกถึงตำรวจ เฉพาะเวลามีความทุกข์เท่านั้น
สารวัตรเอเล่าต่อว่า ในแง่ของการทำงานปัจจุบันการทำงานค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากผู้กระทำความผิดในปัจจุบันไม่เกรงกลัวต่อกฏหมาย
มิหนำซ้ำกลับกลายเป็นใช้สื่อโซเชียลเล่นงานเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องจนเสียหาย
ส่งผลกระทบไปถึงชีวิตครอบครัวที่ต้องได้รับผลของผู้กระทำผิดกฏหมายที่มักง่ายและขาดจิตสำนึกเหล่านั้นด้วย นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งนะครับ
แต่ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หลงผิดติดในลาภ ยศ ผลประโยชน์จนเสียกระบวนการทางความคิด และจิตสำนึกในความถูกต้อง
ผมมองว่ายังเป็นส่วนน้อยของข้าราชการตำรวจทั้งประเทศนะครับในส่วนนั้นก็ต้องยอมรับและเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป
ถ้าจะถามว่าชอบงานส่วนไหนมากที่สุด ส่วนตัวแล้วตอบได้เลยว่า ชอบแต่งเครื่องแบบตำรวจ ชอบพบปะ ช่วยเหลือ แก้ปัญหาของผู้อื่นครับ
สำหรับน้องๆ หลายๆ คนที่มีความฝัน และกำลังเดินตามความฝันของตนเองอยากที่จะรับราชการตำรวจ สารวัตรเอกล่าวว่า
ตำรวจอาจไม่ใช่อาชีพที่ดีที่สุด แต่ถ้าน้องได้มาเป็นแล้วน้องจะต้องภูมิใจครับ
ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสใช้วิชาชีพตำรวจช่วยเหลือผู้อื่น โดยที่เราไม่เคยคิดถึงสิ่งตอบแทนไม่เคยคิดถึงความเสี่ยงใดๆ
ถึงแม้บุคคลผู้นั้นที่ได้รับความเดือดร้อนจะไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่เพื่อน หรือแม้แต่คนที่เรารู้จักก็ตาม
เราก็จะทำจนสุดความสามารถเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พวกเขาเหล่านั้น
มีคำพูดติดตลกจากผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งซึ่งพี่ได้ยินมาตั้งแต่ยังเด็ก
“ตำรวจเป็นได้ทุกอาชีพได้ แต่ทุกอาชีพเป็นตำรวจไม่ได้”
สุดท้าย ได้ทิ้งคติในการทำงาน ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน