เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 ต.ค.67กระทรวงยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ว่า ยังไม่ได้รับรายงานโดยตรงจาก รรท.อธิบดีดีเอสไอ เพียงดูแต่ข่าวเท่านั้น แต่ในความเห็นส่วนตัว คดีฉ้อโกงประชาชน อยากให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมาย เพราะตำรวจทำมาดีอยู่แล้ว มีพนักงานสอบสวนและมีศักยภาพ
อีกทั้งคดีฉ้อโกงประชาชน ถ้าผู้เสียหายมีจำนวนมาก เราเหลืออีกแค่ 3 ฝาก เราก็ต้องส่งสำนวนภายในไม่เกิน 20 กว่าวัน ดังนั้น ต้องมีเวลาให้พนักงานอัยการพิจารณาใน 1 ฝาก เพราะคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่ประมาณ 4 ฝาก แต่อาจเป็นรายละเอียดของสำนวน เรื่องหลักการสอบสวนที่สำคัญที่สุดคือการสอบสวนนั้นชอบหรือไม่ชอบ
ขอนายกตั้งพงส.เดิมมาช่วยคดีจะสมูท
ถ้าคดีเข้าเขตกฎหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็อาจจะต้องส่งมาให้ใช้ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แต่ถ้าหากมีการรับเป็นคดีพิเศษ ก็อยากจะขอความกรุณา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้พนักงานสอบสวนเดิมที่ทำคดีมาเป็นพนักงานสอบสวน จะได้ไม่มีรอยต่อ
ส่วนเรื่องหากเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ หรือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และการฟอกเงิน อันนี้จะต้องมีการสืบสวน ต้องใช้เวลาในการรวบรวมหลักฐานทั้งทางด้านการเงินและทางด้านบัญชี จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการสอบสวนไม่ว่าจะอยู่กับใคร ก็ต้องทำให้เกิดความยุติธรรม และทำตามพยานหลักฐาน ความยุติธรรมถือเป็นเรื่องสำคัญ และบนฐานความยุติธรรมก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
นำอัยการร่วมตามพรบ.สอบสวนคดีพิเศษ
ไม่อยากให้มองว่าเรื่องมาดีเอสไอแล้วตำรวจหมดหน้าที่ แต่อยากจะขอให้ใช้ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่ง พ.ร.บ.ฯ นี้จะมีอำนาจพิเศษก็คือการให้พนักงานอัยการเข้ามาดูสำนวนเลย แทนที่ถ้าตำรวจต้องส่งสำนวนสัก 7 วัน หรือ 12 วันเพื่อให้อัยการพิจารณา
การให้อัยการเข้ามาดูสำนวนมาร่วมสอบสวนจะเป็นเรื่องที่ดี และตนจะขอให้ตำรวจเดิมที่เป็นพนักงานสอบสวนที่เคยทำก็ตั้งมาเป็นพนักงานสอบสวน แล้วมาร่วมกันทำสำนวน เพื่ออำนวยความยุติธรรมตามพยานหลักฐาน
ถ้าเราไม่เป็นหลัก ไม่เป็นมืออาชีพให้กับประชาชน ทั้งที่คดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก และมันก็เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ดีเอสไอเมื่อรับเรื่องมาก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนให้ได้ จะขอให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้เข้าไปดูและเข้าไปช่วยอำนวยความยุติธรรม
ถามว่าการที่จะให้ดีเอสไอเชิญอัยการมาร่วมสอบสวนด้วยนั้น เพราะเกรงว่าอาจพบเจอการกระทำความผิดบางช่วงบางตอนที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่าไม่ใช่เช่นนั้น เนื่องจากการสอบสวนคดีพิเศษ คดีใดที่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้อัยการร่วมสอบสวน ก็สามารถขอให้ร่วมได้ หรือขอให้เป็นที่ปรึกษาได้
เรื่องนี้หากจะเข้ามาร่วมสอบสวนหลายหน่วย คำครหาว่าจะช่วยเหลือใคร มันจะทำแทบไม่ได้เลย เพราะแต่ละหน่วยมีความเป็นอิสระ และที่สำคัญก็ยังให้ตำรวจเป็นพระเอกอยู่ ไม่ใช่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
เหยื่อแจ้งได้ทั้งตำรวจ-ดีเอสไอ
ส่วนความสับสนของประชาชนว่าถ้าเป็นผู้เสียหาย หลังจากนี้จะเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บช.ก. หรือเข้าไปพบที่ดีเอสไอ กรณีนี้ถ้าเป็นคดีพิเศษ เราก็จะตั้งพนักงานสอบสวนเดิม ซึ่งก็มีเยอะอยู่แล้ว อย่างไรก็ยังไปหาตำรวจได้ ถ้าเขาเป็นพนักงานสอบสวนที่ได้มีการเสนอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และก็ยังมาที่ดีเอสไอได้เนื่องจากผู้เสียหายจำนวนเยอะ
อีกทั้งเรื่องสำคัญที่เรายังเป็นอุปสรรคในอดีต คือ การเยียวยาหรือการคืนเงินให้ผู้เสียหายช้าไป ถ้าเป็นคดีพิเศษ ทรัพย์สินใดที่เป็นของประชาชนสามารถคืนให้ผู้เสียหายได้ควรเร่งคืนให้เขา
จ่อเรียก“บิ๊กต๊ะ โฆษกพปชร.”สอบ
ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นที่โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ออกมาแถลงข่าวและพูดถึงอักษรย่อของนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับดิไอคอนฯ ว่าจะต้องกำชับตรวจสอบอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อาจจะเรียกคนของพรรคพลังประชารัฐมาสอบปากคำ เพราะการที่ไปแถลงข่าวนั้นจริงหรือไม่จริง ซึ่งสามารถมาให้ข้อมูลได้ และถ้ากลัวอันตรายจากการเปิดเผยก็ให้คนแถลงข่าวมารับการคุ้มครองพยานก็ได้ มิเช่นนั้น จะเป็นการพูดให้คนเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่เห็น แต่เรียนว่าการสอบสวนครั้งนี้จะให้พยานหลักฐานเป็นคนพูด ไม่ให้โฆษกต่าง ๆ มาพูด เราจะยึดพยานหลักฐาน ทั้งนี้ การจะเชิญโฆษกพรรคพลังประชารัฐมาสอบถามหรือไม่นั้น ถ้าเขาให้ข่าว รรท.อธิบดีดีเอสไอก็ควรเรียกคนแถลงข่าวมาให้ข้อมูล เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่าเราต้องส่งเสริมให้ประชาชนเเจ้งข้อมูลข่าวสารและต้องเก็บเป็นความลับให้เขาด้วย
หากมีการกล่าวพาดพิงถึงใคร รรท.อธิบดีดีเอสไอก็ควรใช้อำนาจเชิญคนเหล่านั้นมาให้ข้อมูล เพราะเขากล้าพูดให้คนอื่น เขาก็ต้องรับผิดชอบว่าเป็นเรื่องจริงไหม เราก็ต้องมาสอบว่าคุณมีหลักฐานหรือไม่จากการพูดออกไป
รอฟังผลดีเอสไอคุยร่วมตำรวจ
สำหรับกรณีทางตำรวจได้ประชุมหารือกับดีเอสไอ ทางดีเอสไอ รรท.อธิบดีฯ ยังไม่ได้มีการรายงานมาเนื่องจากตนติดงานและไปต่างจังหวัด แต่วันนี้น่าจะมีการรายงานมา
ส่วนในช่วงกลางวันวันนี้ ทาง รรท.อธิบดีฯ จะมีการรับเป็นคดีพิเศษ หรือไม่ อย่างไร โดยส่วนตัว คดีฉ้อโกงประชาชนตำรวจทำได้อยู่แล้ว ทำให้สุดยิ่งดี แต่อะไรที่เป็นเรื่องของการฟอกเงินก็แยกออกมาทำอีกสำนวนนึง มันจะได้มีประสิทธิภาพ
แต่ทั้งหมดควรเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าตำรวจและดีเอสไอเห็นตามกฎหมายว่าควรเป็นคดีพิเศษ ก็ควรเป็นคดีพิเศษ เพราะเรื่องการต่อสู้คดี การสอบสวนชอบหรือไม่ชอบสำคัญที่สุด เราจึงต้องทำตามกฎหมาย คงต้องให้พนักงานสอบสวนได้พิจารณาจากพยานหลักฐานก่อนว่าแผนธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ถ้าจำเป็นอาจจะต้องจัดประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อป้องกันการต่อสู้เรื่องการสอบสวนไม่ชอบได้
สั่งกรมคุกแจงกรณี“อัจฉริยะ”พบผู้ต้องขัง
พ.ต.อ.ทวี กล่าวกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเข้าไปในห้องพนักงานสอบสวนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า หากเป็นการเข้าไปเยี่ยม ทุกคนสามารถเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องราชทัณฑ์ได้หมด ไม่ได้มีใครพิเศษ และราชทัณฑ์ไม่ต้องรายงานมาเพราะมันเป็นกฎหมายอัตโนมัติ
ส่วนกรณีที่นายอัจฉริยะ เข้าไปภายในห้องพนักงานสอบสวนของเรือนจำฯ ประชิดตัวผู้ต้องขัง สามารถทำได้หรือไม่ หากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริงตรงนี้ แต่อย่างไรก็ต้องดูเพราะตนยังไม่ได้รับรายงาน แต่โดยปกติทนายความสามารถเข้าได้อยู่แล้ว ส่วนจะไม่ได้เป็นทนายความ ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง ตนยังไม่ทราบรายละเอียด
ส่วนการสั่งตรวจสอบไปยังผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับรายงานข้อเท็จจริงและการตรวจสอบกล้องวงจรปิด ยังไม่ได้สั่งการไป แต่หลังจากทราบข้อมูลก็จะขอสั่งการไป เพีงแต่ต้องขอสอบถาม เพราะยังไม่ได้มีประเด็นนี้มา
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนี้ยังเป็นประเด็นสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวเข้าไปได้อย่างไร และเข้าไปในฐานะอะไร อีกทั้งทางราชทัณฑ์ยังไม่มีการชี้แจงออกมา พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลังจากนี้ จะให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้รายงานมา
ผู้สื่อข่าวยังถามต่อว่าตามหลักการข้อเท็จจริงปกติแล้วห้องพนักงานสอบสวนของเรือนจำมีไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเดียวหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทนายความ พนักงานสอบสวนต้องเข้าได้
อย่างไรก็ตาม สิทธิ์ของคดีระหว่างเราถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ หากเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาพยาบาล และมีสิทธิ์ที่จะพบทนายได้สองต่อสอง หากเขาเป็นทนายก็พบได้สองต่อสอง ซึ่งการพบสองต่อสองก็อาจจะเป็นในสภาพของเรือนจำอันนี้เป็นกฎหมาย ทนายมีสิทธิ์ดีกว่าพนักงานสอบสวน หรือเท่า ๆ กับพนักงานสอบสวน
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ต้องขังยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้นายอัจฉริยะเข้าพบนั้น ตนจะให้กรมราชทัณฑ์รายงานมา แต่ว่าในทางปฏิบัติ ถ้าการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ถ้าเป็นทนายความสามารถเยี่ยมได้ และเข้าสอบสวนได้ ส่วนบุคคลดังกล่าวจะเป็นทนายหรือไม่ตนยังไม่รู้รายละเอียดเดี๋ยวขอไปดูก่อน ซึ่งข้อเท็จจริงกรมราชทัณฑ์น่าจะรู้อยู่แล้ว เขาต้องรายงานไม่เกินวันที่ 1 พ.ย.และตนจะให้กรมราชทัณฑ์แถลงข่าว