Sunday, September 8, 2024
More
    Homeข่าวเด่นรอบวัน“ทวี”แถลงดีเอสไอส่งคืนรถหรู30คันกลับอังกฤษ

    “ทวี”แถลงดีเอสไอส่งคืนรถหรู30คันกลับอังกฤษ

    กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 ก.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายมาร์ค กูดดิ้ง (H.E. Mr. Mark Gooding) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด และ ผู้แทนหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักร (National Crime Agency : NCA)

    ร่วมกันแถลงรายละเอียดการส่งคืนรถยนต์หรู 30 คัน มูลค่า 3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงสหราชอาณาจักร หรือคิดเป็น 140 ล้านบาท ที่ถูกโจรกรรมจากสหราชอาณาจักรให้กับผู้เสียหายคดีพิเศษที่ 78/2561

    พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า หลังจากที่ดีเอสไอได้รับการร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา จากประเทศอังกฤษ ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สืบสวนสอบสวนจนพบว่ามีกลุ่มโจรกรรมรถยนต์หรูจากอังกฤษนำเข้ามายังประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย มีพฤติการณ์ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2560

    มีการกระทำของทั้งคนไทยและคนต่างชาติ นำโดยนายอินทระศักดิ์ หรือ บอย ยูนิตี้ มีพฤติการณ์ไปเช่าซื้อรถยนต์หรูจากบริษัทต่าง ๆ ในประเทศอังกฤษ และมีการสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศอังกฤษ ว่า เป็นรถยนต์ใหม่ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อจะได้ส่งออกทางเครื่องบินจากสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มายังประเทศสิงคโปร์ และได้ส่งออกจากประเทศสิงคโปร์ทางเรือเข้ามาในประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง มีทั้งสิ้น 35 คัน จำนวน 13 ยี่ห้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นรถที่มีราคาแพง

    อาทิ Porsche Lamborghini Range Rover เป็นต้น ซึ่งมีราคารวมในประเทศอังกฤษเกือบ 3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง หรือมากกว่า 100 ล้านบาทไทย

    ทางการของประเทศอังกฤษโดยหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักร (National Crime Agency : NCA) ได้สืบทราบถึงขบวนการดังกล่าว จึงได้ประสานความร่วมมือมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวและติดตามรถยนต์ที่ถูกโจรกรรม กลับคืนประเทศอังกฤษ

    กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงรับเรื่องไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 78/2561 และเนื่องจากการกระทำความผิดส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดจึงมอบหมายให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และมอบหมายพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มาร่วมสอบสวน

    นอกจากนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อย่างไรก็ตาม ทางการสอบสวนพบว่ารถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมีการนำเข้ามาในประเทศไทยได้สำเร็จ โดยกลุ่มผู้กระทำความผิดได้ใช้บริษัท 3 ราย  มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นผู้นำเข้า โดยนำเอกสารมาสำแดงและเสียภาษีต่อกรมศุลกากรเพื่อให้เป็นรถยนต์ที่ถูกต้อง สามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้

    พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า จากนั้นมีการขายต่อไปให้ประชาชนทั่วไปในประเทศไทย ต่อมาในวันที่ 18 พ.ค.60 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เปิดปฏิบัติการโดยใช้ชื่อว่า “Titanium Operation หรือ ปฏิบัติการไททาเนียม” ซึ่งมีหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักร หรือ NCA ร่วมสังเกตการณ์ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการนำหมายค้นเข้าตรวจค้นจุดต้องสงสัยในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 9 จุด

    จากการตรวจค้นดังกล่าว ได้มีการขยายผลจนนำไปสู่การตรวจยึดรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 30 คัน จากทั้งหมด 35 คัน อันประกอบด้วย BMW M4 จำนวน 5 คัน, Benz จำนวน 8 คัน, Nissan GTR จำนวน 3 คัน, Porsche จำนวน 5 คัน, Range Rover จำนวน 2 คัน, VW Golf GTI จำนวน 2 คัน MINI Cooper จำนวน 1 คัน Honda GT จำนวน 1 คัน Ford Mustang จำนวน 1 คัน Lexus จำนวน 1 คัน Lamborghini จำนวน 1 คัน

    และยังอยู่ระหว่างการติดตามรถยนต์อีก 5 คันที่เหลือ ได้แก่ Audi รุ่น Q7 S Line สีเทา เลขตัวถัง WAUZZZ4M4HD026469 BMW รุ่น M4 สีบรอนซ์ เลขตัวถัง WBS3R92030K344987 Ferrari สีขาว เลขตัวถัง ZFF79AMC000219631 Porsche รุ่น Boxster 718 สีเหลือง เลขตัวถัง WP0ZZZ98ZHS211836 ,LAND ROVER รุ่น Range Rover Sport สีดำ เลขตัวถัง SALWA2EE8HA132932

    พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ทางคดีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และได้ดำเนินคดีกับนายอินทระศักดิ์ กับพวก รวม 13 ราย ในความผิดฐาน ร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันรับของโจรเพื่อค้ากำไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) และมาตรา 357 วรรคสอง , ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง และมาตรา 268 , ฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงข้อกำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (1) (2) (3) (4) และฐานอั้งยี่หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210

    โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 13 ราย และเนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งคดีในชั้นสอบสวน คือ อัยการสูงสุด

    ต่อมาหลังจากที่อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้ว ได้มีคำสั่งให้จัดการของกลางรถยนต์ทั้ง 30 คัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 ซึ่งคือการให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อพนักงานอัยการไม่ได้ขอริบ ย่อมมีเหตุที่จะคืนรถยนต์ของกลางให้กับผู้เสียหายชาวอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องขอคืนรถยนต์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการประสานงานผ่าน NCA ในการคืนรถยนต์ต่อไป

    ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ครอบครองรถยนต์อีก 5 คันที่เหลือ ให้ตรวจสอบรถในความครอบครองของท่าน หากพบเป็นรถในบัญชีดังกล่าวข้างต้น ให้ติดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ สายด่วน 1202 ทันที

    พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ความสำเร็จในเรื่องนี้ เป็นการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักร (National Crime Agency : NCA)

    ตนต้องยกเครดิตให้ทีมของ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวน ถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความทุ่มเทอุตสาหะ เนื่องจากเป็นการโจรกรรมคอปกขาว คือ เป็นคดีของคนที่มีฐานะ จึงต้องทำอย่างรอบคอบ และถูกหลักกฎหมาย อีกทั้งประเทศไทยและอังกฤษมีความสัมพันธ์ผูกพันมาอย่างยาวนานเกือบ 170 ปี มีกระบวนการยุติธรรมในเรื่องของสนธิสัญญาต่างๆร่วมกัน

    อีกทั้งดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวนในคดีนี้กว่า 6 ปี สภาพทรัพย์สินของกลางยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์เตรียมส่งคืนให้ผู้เสียหายตัวจริงได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ขอความร่วมมือจากอังกฤษในกรณีการติดตามความคืบหน้าคดีหญิงไทยที่ถูกฆาตกรรมที่อังกฤษ ชื่อ “ลำดวน สีกันยา“ เพื่อขอให้มีการคลี่คลายการเสียชีวิตของเธอ เพราะญาติที่ไทยยังคงมีความหวังรอการเคลื่อนย้ายศพของลำดวน มาทำพิธีกรรมทางศาสนาที่ไทย

    ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการเยียวยาเจ้าของรถยนต์หรูที่มีการรับซื้อขายมาอย่างไร เพราะว่าของกลางทั้งหมดจะต้องส่งคืนให้กับประเทศอังกฤษในฐานะผู้เสียหายตัวจริงนั้น นายวัชรินทร์ กล่าวว่า การซื้อรถยนต์หรูดังกล่าวเป็นการซื้อมาจากการโจรกรรม ดังนั้น ผู้เสียหายสามารถไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคนขายหรือผู้ต้องหาในคดีได้

    ประการสำคัญในเรื่องนี้ คือ การซื้อรถหรูมันเกิดจากรถที่มีปัญหา ไม่ใช่รถที่มาจากการนำเข้าทั่วไป แต่เป็นรถที่ถูกขโมยมา ซึ่งตามหลักการประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 จะต้องมีการคืนของกลางให้กับผู้เสียหายตัวจริง อัยการสูงสุดจึงได้มีคำสั่งคืนรถกับทางสหราชอาณาจักร

    พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าวเสริมว่า ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เสียหาย 2 ราย  เป็นผู้ครอบครองรถที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษ ที่ได้มีการฟ้องร้องบริษัทขายรถนั้น ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาให้บริษัทที่ขายรถยนต์หรู ดำเนินการคืนเงินให้เต็มจำนวน ซึ่งถือเป็นคดีตัวอย่างที่ผู้ครอบครองรายอื่นสามารถไปดำเนินการฟ้องร้องได้เช่นกัน ส่วนกลุ่มผู้ครอบครองรถยนต์หรูในคดีอื่นที่นำเข้าโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายนอกเหนือจากรถที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ส่งคืนกว่า 100 คัน โดยอนุญาตให้นำไปใช้แต่ห้ามซื้อขายนั้น

    ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้ริบรถทั้งหมดคืนให้พนักงานสอบสวน แต่ปรากฏว่ามีผู้เสียหายรายหนึ่งไปยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอความเห็นใจเนื่องจากไม่มีเจตนากระทำความผิด เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้อายัดเล่มทะเบียนรถไว้แทน ถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ครอบครองรถ ซึ่งผู้เสียหายกลุ่มนี้สามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลได้ เพราะมีคำพิพากษาเป็นแนวทางอยู่แล้ว

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments