ในที่สุด ที่ประชุมก.ต.ช.มีมติเอกฉันท์ 6-0 เลือก บิ๊กเด่น-พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เป็น ผบ.ตร.คนที่13
เมื่อ4-5ปีที่แล้ว เคยมีโอกาสจับเข่านั่งคุยกับว่าที่ ผบ.ตร.คนนี้ สมัยยังเป็น ผบช.สทส.รรท.ผบช.ภ.3
วันนี้จะนำมาให้ย้อนอ่านกันอีกครั้ง ถึงเส้นทางชีวิต แนวความคิด ความเป็นมาเป็นไป กว่า”บิ๊กเด่น”จะไต่บันไดมาถึงยอดปิรามิดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านอะไรมาบ้าง จะได้รู้จักกับว่าที่แม่ทัพตำรวจคนนี้ได้ดีขึ้น
สอบได้ทั้งเตรียมทหาร เตรียมอุดม
พี่เป็นคน จ.แพร่ ครอบครัวทำธุรกิจส่วนตัว มาเรียนกรุงเทพฯ มศ.1 ที่บดินทรชา ใฝ่ฝันอยากจะเข้าเตรียมอุดม คิดอยู่ว่าอยากเป็นวิศวะ หรือหมอ แต่พอดีเพื่อนชวนไปสอบ พ่อเพื่อนเป็นทหารอากาศ พ่อเขาอยากให้เป็นทหาร ก็เลยซื้อใบสมัครเข้าเรียนเตรียมทหารให้ ก็เลยไปกับเขา ก็สอบได้ทั้งคู่เลยนะ เตรียมอุดมก็สอบได้บดินทรก็เรียนต่อได้เลย ก็เลยตัดสินใจว่าจะเอาที่ไหนดี ยังลังเลอยู่ ก็เลยเข้าไปมอบตัวที่เตรียมทหาร จริงๆ อยากจะกั๊กๆ ไว้ เพราะมอบตัวที่เตรียมอุดมทีหลัง ก็เลยจะลองเชิงดู
แต่พอเข้าไปลองแล้ว รู้สึกว่าถ้าเราออก เขาจะหาว่าเราใจไม่สู้ พอเข้าเตรียมทหาร ก็เลือกเหล่า แรกๆรู้สึกว่าอยากเป็นทหารอากาศ แต่สายตาเริ่มไม่ดี เลยคิดว่าไปแล้วคงไม่รุ่ง เป็นนักบินไม่ได้เลยเปลี่ยนใจ มาเลือกเหล่าตำรวจแทน
สอบได้ที่ 2 นรต.38
บรรจุครั้งแรกที่ พลับพลาไชย 2 เพราะสอบได้เป็นที่ 2 ของรุ่น รุ่นพี่มีพี่ปิยะ อุทาโย ที่ 1 พี่ปิยะ ต๊ะวิชัย ที่ 3 ทุกคนเรียนเก่ง พอลงพลับพลาไชย เริ่มทำงานพักหนึ่ง ก็คิดว่า ตัวเองอยากไปเรียนต่อที่อเมริกา ใช้ทุนตัวเอง
ที่พี่ไป เพราะพี่ณัฐธร เพราะสุนทร เป็นรองสารวัตรอยู่สน.ปทุมวัน มาบอกว่า เด่น พี่จะไปแล้วนะ ก็ถามว่าไปทำไม พี่ไหวเหรอ พี่เขาก็ว่า มี 6 หมื่น ก็เรียนไหว ไปตายเอาดาบหน้า ก็มาคิดว่า โอ้โห พี่เขายังสู้เลย ก็เลยคิดว่า ไปเรียนบ้าง ก็เลยไปเรียน
พอกลับมาเขาให้ไปช่วยกำลังพล ก็ไปเจอนายฮ้อ-พล.ต.ต.สมชาย วาณิชเสนี เป็นผู้การ บก.น.เหนือ
เรียนรู้วิชาจากนายฮ้อ-นายเล็ก
คราวนี้นายก็เห็นเราจบใหม่ ก็มีเกี่ยวกับเรื่องใช้งาน แล้วตอนหลัง นายเขาเป็นผู้การก็ชวนเราไปเป็นนายเวร ตอนนั้นเพิ่งกลับจากอเมริกาไม่นาน ยัง ร.ต.ท.อยู่แล้ว ทีนี้เลยมาอยู่กับนาย อยู่ยาว จนเป็น สว.ทะเบียนพล บช.ก. ไปอยู่กับนายเล็ก-ท่านอัยยรัช เวสสะโกศล ท่านเป็นผบช.ก. ก็ได้เรียนรู้งาน
โดยเฉพาะท่านสมชาย ส่วนใหญ่เวลานายเขาไปที่เกิดเหตุ ไปประชุม ไปอะไร ก็ได้เห็นตัวอย่างการทำงานของผู้ใหญ่ สมัยนั้นก็มีปัญหาเยอะ ที่ บก.น.เหนือ ทั้งอาชญากรรม ทั้งบ่อนการพนัน ได้เห็นการทำงานของกองสืบไปด้วย แล้วพอไปอยู่ บช.ก.เป็น สว.รถไฟ ก่อนกลับไปเป็น สว.ตม.ตอนนายสมชาย เป็นผบช.สตม. แล้วมาเป็นผู้ช่วยนายเวร รอง ผบ.ตร. เสร็จแล้ว ไปลง รองผกก. ป.สน.บางรัก ขึ้นเป็นนายเวร รอง ผบ.ตร. กลับมาเป็น ผกก.สน.คลองตัน
ตำรวจ อาชีพที่ทำเพื่อคนอื่น
พอเป็นผกก.สน.คลองตัน ได้ทำงานแบบรู้สึกว่า ถูกใจเรามากเลย ได้ลงพื้นที่ เป็นหัวหน้าสถานีเต็มตัว เพราะตอนที่เป็น รอง ป.นี่ก็ยังไม่เต็มตัว ได้ช่วยคน รู้สึกว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่ได้ทำเพื่อคนอื่น คิดดูว่าถ้าเรากินเงินเดือนบริษัท ประสบความสำเร็จเงินเดือนเป็นแสน มันได้เงินเป็นค่าตอบแทน
แต่อันนี้ เราได้ความสุขจากการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของคนอื่น ได้ประสานช่วยอะไรเขา ก็รู้สึกแต่ละชิ้นงาน เราแฮปปี้ รู้สึกว่าตัดสินใจถูกมากที่เป็นตำรวจ
ผ่านงานในหน้าที่หลากหลาย
อยู่คลองตัน 3 ปี ก็ได้ประสบการณ์การทำงานเยอะ ได้แก้ปัญหายาเสพติด เรื่องบ่อนการพนัน ปัญหาเรื่องอาชญากรรม แล้วต่อมาเป็น รองผู้การ อก.ได้เรียนรู้ระบบงบประมาณการเงิน หรืออะไรต่างๆ ปีกว่าๆ
แล้ว โชคดีได้มาเป็น รองผู้การ 191 ทำงานเกี่ยวกับม็อบตลอด ช่วงนั้น มีชุมนุมประท้วงพอดี ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2552 ม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง มีปฏิวัติ ก็คลุกคลีกับม็อบตลอด เลยรู้สึกว่า ได้ประสบการณ์การทำงาน ในการควบคุมกำลัง ได้ประสบการณ์มาก
หลังจากนั้น พอครบวาระ ก็ได้เป็นผู้การอำนาจเจริญ 1 ปี แล้วก็ได้มาเป็นผู้การนครบาล 2 คือเป็นรองผู้การ 191 ก็มีเจ้านาย ท่านจักรทิพย์ เป็นผู้การ ท่านศรีวราห์ ก็เป็นผู้การเหมือนกัน แล้วตอนหลังก็ได้มาอยู่กับท่านจักรทิพย์อีกที ตอนท่านเป็น น.1 พี่เป็นผู้การนครบาล 2 มีเหตุให้ต้องไปอยู่ ผู้การพะเยา แล้วก็ขึ้น รอง ผบช.ภาค 5 แล้วก็มาเป็นกำลังพล
ผู้ใหญ่เมตตา ทั้งสอนทั้งแนะนำ
ไอดอลนายตำรวจ ถ้าที่ทำงาน ก็ต้องนายเก่าๆ ที่เรานับถือ ทั้งท่านสมชาย วาณิชเสนี ท่านอัยยรัช เวสสะโกศล ท่านสมชาย มิลินทางกูร ที่ได้สัมผัสนะ ใกล้ชิดหน่อยก็ 3 ท่านนี้
ท่านสมชาย วาณิชเสนี นี่ใกล้ชิดอยู่แล้ว ท่านอัยยะรัช ก็อยู่ด้วยปีหนึ่ง ท่านสมชาย มิลินทางกูร เพราะนายเขาใกล้ชิดกัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับคณะทำงานมือปืน เราไปช่วยงานนายเขา เลยได้ใกล้ชิด และได้เห็นการทำงานท่าน รู้สึกว่าท่านเป็นคนดีมากๆ แล้วท่านก็สอนตลอด ตอนเป็น ผกก.สน.คลองตัน ท่านก็สอนตลอด เพราะท่านอยู่ในเขตคลองตัน ท่านก็เรียกมาสอนโน่น สอนนี่ ท่านก็หวังดี สอนงานให้
ทำยังไงก็ได้ให้ชาวบ้านรักตำรวจ
มีแนวคิดมีความรู้สึกว่าตำรวจเนี่ย เป็นอาชีพที่ต้องสัมผัสกับประชาชนมากอาชีพหนึ่ง เป็นอาชีพที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย มีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันสูง ประชาชนจะเกลียดชังได้ง่าย ทีนี้มันก็เลยทำให้ความรู้สึกต่อตำรวจมันไม่ดี
ความรู้สึกเลยอยากจะให้ประชาชนรักตำรวจมากขึ้น ทำยังไงก็ได้ ความต้องการนะ อยากให้ประชาชนยอมรับตำรวจมากขึ้น ต้องหาทางช่วยกัน
เหมือนตอนเป็น ผกก.สน.คลองตัน ก็มีกระแสชูวิทย์ แรงมากเลย ตำรวจเละเทะเลย ก็เลยเรียน ผบ.ตร.ว่า เราควรชี้แจงตำรวจในพื้นที่ให้ดีนะ ว่าตำรวจทำงานนะ อะไรอย่างนี้ ก็ทำวารสารสน.คลองตัน ออกมา เวลาเราทำอะไร ชาวบ้านต้องรู้ อีกหน่อยการสื่อสารถึงชาวบ้านแล้ว ชาวบ้านก็จะติดต่อสื่อสารกับเราได้ การแก้ปัญหาก็จะต้องแจ้งให้เขาทราบด้วย
ภูธรไม่ใช่นครบาล ต้องปรับบ้าง
ก็กะว่าจะทำทุกวิถีทางให้ชาวบ้านรักตำรวจ ก็ถือว่าเรารู้พื้นที่ หรือขนบธรรมเนียมของเขามาบ้าง เข้าใจหมดแล้ว เพราะเคยไปเป็นผู้การอำนาจเจริญ ถ้าไปเอาระบบนครบาล ไปใช้ มันก็จะตึงเกินไป น่าจะไม่เหมาะเสียทีเดียว ต้องปรับบ้าง เพราะเป็นความเคยชินของพื้นที่ กับระบบที่เป็นอย่างนี้มายาวนาน
นครบาล มันก็อีกสภาวะหนึ่ง เราจะคาดหวังตำรวจต้องทำงานได้ 24 ชั่วโมง เป๊ะๆ เวิร์กฮาร์ด เลย วันหยุดก็ไม่ได้หยุด มีพิธีสำคัญ มีรับเสด็จฯ ก็ต้องมา มีม็อบ ก็เห็นตำรวจก็ต้องอยู่ตลอด แล้วต่างจังหวัด เราก็ทำอย่างนั้น มันจะเครียดไป เราก็ปรับหน่อย ผลงานต้องดี แต่ปรับวิธีทำงานให้ซอฟท์ลง ก็เข้าใจ คงไม่เน้นมาก
ให้ชาวบ้านสื่อสารตำรวจได้ดีขึ้น
อย่างประชุม ก็จะไม่ประชุมวันจันทร์ วันศุกร์ เพราะเขาเตรียมตัวกลับไปพักผ่อน แล้วเขาต้องเดินทาง เพราะบ้านเขาบางทีอยู่ไกล หรืออย่างวันจันทร์ บางทีเขาก็มาไม่ทัน ต้องให้เวลาเขาเตรียมตัว ก็จะประชุมอังคาร หรือพฤหัส
แต่ถ้านครบาล มันได้หมด ประชุมวันศุกร์ วันเสาร์ บางทีกลางคืน ก็เรียกประชุมได้เลย บางทีมันก็มีความเคยชินกันอย่างนั้น บ้านเราอยู่ชั่วโมงหนึ่ง แต่ต่างจังหวัดมันยังไม่เคยชินที่จะต้องอะเลิร์ทตัวเองอย่างนั้น มันก็หนักไป ถ้าหนักไปกลัวจะไม่ได้รับความร่วมมือจากเขา
เวลาไปตรวจสอบแอบไป ก็คงมีบ้าง แต่ต้องมอบนโยบายไปก่อน ว่านโยบายเราจะเน้นทางสายกลาง จะดูเท่าที่ทำได้ นโยบายเราจะเน้นประชาชน ทำอย่างไรก็ได้ ให้ประชาชนรู้สึกดีกับตำรวจ แล้วก็สื่อสารกับตำรวจได้ดีขึ้น คือ ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้
อะไรไม่ดี ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่หลักการพี่คือ อยากให้ระดมมันสมองในพื้นที่ เราจะให้นโยบาย เราก็ควรให้นโยบายลักษณะที่เป็นยาสามัญ ไม่ใช่ยาเฉพาะทาง เพราะยาเฉพาะทางต้องให้คนในพื้นที่มาคิด แผน โครงการ เพราะสภาพพื้นที่สภาพบุคลากร มันไม่เหมือนกัน
แต่ว่าหลักการคือต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ทุกพื้นที่ต้องรู้ว่าจะแจ้งตำรวจยังไงได้บ้าง ใครรับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าโทร.มา 191 ก็ไม่มั่นใจ ยุคนี้มันมีทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก แล้วก็ทำได้หมด การโทรศัพท์ต้องเน้นทุกจุด การสื่อสารถึงประชาชน ก็คือต้องรองรับความเดือดร้อนของเขาได้
อะไรที่เป็นเสียงสะท้อนมาว่า ไม่ดี ก็ไม่ควรทำ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เช่น ไปตั้งด่านที่หวังเงินรางวัล ซึ่งมันไม่ใช่เจตนาเพื่อให้เขาปลอดภัย แบบนี้ก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีเจตนาที่ชัดเจน ถ้าตั้งแล้วหวังรางวัลก็ไม่ได้ ตั้งต้องมีเหตุผล ตั้งตรงนี้จะเกิดประโยชน์อย่างไร ต้องตอบได้ ไม่ใช่ว่าตั้งบ่อยๆ แต่ถ้าลดอุบัติเหตุ ลดอาชญากรรมแบบนี้ไม่ว่า แต่ต้องชัดเจน ต้องตอบได้ วิเคราะห์มาแล้ว ว่าตรงนี้มันเกิดเหตุเยอะ ต้องอาศัยฐานข้อมูล ไม่ใช่จะใช้จินตนาการ ว่าถ้าตั้งตรงนี้แล้วอุบัติเหตุจะไม่มี แล้วอุบัติเหตุเคยมีมั้ย อย่างนี้ไม่ได้
ไม่ดุ แต่ไปไหนฟันลูกน้องทุกที่
ปกติ พี่ไม่ดุ แต่เรื่องงานก็จริงจัง นิสัยใจดี แต่อยู่ที่ไหนก็ฟันลูกน้องทุกที่ ถ้าลูกน้องคนไหนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน เกี่ยวข้องยาเสพติด หรือว่าไปตบตีเงิน อะไรพวกนี้ ต้องดำเนินคดี ทำมาเยอะแล้ว ทำทุกที่แหละ ส่วนใหญ่ไม่เคยรอด อยู่คลองตัน ก็เอาลูกน้องออก บางคนก็โดนย้าย ไปก็หลายคน ที่อำนาจเจริญ ที่พะเยา ก็หลายคน อยู่เชียงใหม่ ก็มีลูกน้องถูกจับ
คือ ไม่เคยเลี้ยงลูกน้องที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่จับผิด เพราะจะเตือนก่อนว่า อย่าไปยุ่งนะ มีหัวข้อไว้เลย ว่า ขอร้องกันเลย ทุกโรงพักจะได้เตรียมปรับตัว ประชาชนต้องมาก่อน
วันนี้ ออเดิร์ฟเรียกน้ำย่อย ให้รู้จักเส้นทางชีวิตและแนวคิดของ “บิ๊กเด่น”ว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่ก่อนครับ
เฮียเก๋30/8/65