บช.น.สั่งสำรวจอาคารยานพาหนะย้ำตำรวจทำงานงานเต็มที่ด้วยความสำรวม ระวังเรื่องการยิ้มและการหัวเราะทำเสียภาพลักษณ์ น.1 แจงเหตุข่าวสารที่ได้รับผลกระทบจาก “แผ่นดินไหว” พบมีข้อมูลบิดเบือนสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
กรณีเวลา13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม68 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด ความลึก 10 กม. มีจุดศุนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ตามรายงานโดยกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงเวลาประมาณ 14.35 น.
แผ่นดินไหวครั้งนี้ ส่งแรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง มีทั้ง อาคารถล่ม แตกร้าว ทรัพย์สิน และยานพาหนะของประชาชนหลายครัวเรือนต้องพินาศวอดวายโตึกดยเฉพาะสูง 30 ชั้น ที่กำลังก่อสร้างเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ใกล้ตลาดนัดจตุจักร พังถล่มลงมาจนมีผู้เสียชีวิตและยังสูญหายติดในซากปรักหักพัง
ความคืบหน้าเมื่อช่วงหัวค่ำ วันเดียวกัน พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ปฏิบัติหน้าที่ รอง ผบช.น.และ หัวหน้า ศปก.น. มีข้อสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล บก.น.1-9 เร่งจัดเตรียมข้อมูลตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 10 เพื่อรวมรวมข้อมูลรายงาน ศปก.น. ในเวลา 20.00 น. และเวลา 22.00 น. โดยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการดังนี้
1. อำนวยการจราจรในที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียง
2. ประชาสัมพันธ์เส้นทาง จร.
3. ปิดเส้นทางจราจรที่จะเข้ามายังที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้การจราจรติดขัด (น้ำไม่ให้ไหลเข้าท่อ)
4. บริหารการจราจร เส้นทางจราจร
5. อำนวยการส่งผู้ได้รับบาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
6. สนับสนุนการปฏิบัติเมื่อได้รับการร้องขอ
7. ยอด ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ให้รอบรับการรายงานจาก ปภ.
8. สำรวจความเสียหาย กำลังพล ยานพาหนะ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาปฏิบัติ
9. จนท.ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ อย่าแสดงอาการ ยิ้ม หัวเราะ ให้สำรวม และปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่
10. การรวบรวมหลักฐานและการดำเนินคดีต่างๆ ให้กระทำการอย่างรัดกุม
ทั้งนี้ข้อสั่งการทั้ง 10 ข้อนั้น สิ่งที่เป็นประเด็นกล่าวถึงในหมู่ผู้ใต้บังคับบัญชามากที่สุด คือข้อสั่งการ ที่ 9 ซึ่งบรรดาผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่หลายนายอาจคาดไม่ถึง กรณีหากมีภาพการปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่เหมาะสมหลุดออกไป ตามโซเชียลมีเดียและภาพถ่ายจากสื่อมวลชน แม้จะเป็นข้อสั่งการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็สามารถป้องกันไม่ไห้ภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเเย่ลงกว่าที่เป็นอยู่
ไล่เลี่ยกัน พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. สั่งการให้ พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. ตรวจสอบข้อมูลจุดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่มีการเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลว่ามีข้อมูลใดที่เป็น “จริง” และข้อมูลใดที่เป็น “เท็จ”
ป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและสร้างความตื่นตระหนกโดยมีข้อมูลประกอบดังนี้
ข้อมูลจุดเกิดเหตุที่เกิดขึ้นจริง
ได้แก่เกิดเหตุตึกสูง 30 ชั้นถล่มบริเวณจตุจักรขณะที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งช่วยเหลือผู้ติดค้างอยู่ภายใน
ข้อมูลที่เป็นเท็จและมีการบิดเบือนได้แก่
1. สะพานกรุงธนฯ ไม่สามารถให้รถข้ามได้ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง
2. กรณีที่มีการแชร์ภาพบริเวณถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้าช่วงหน้าโรงพยาบาลบางมดว่า ถนนมีลักษณะทรุดตัวจนเป็นคลื่นจากเหตุแผ่นดินไหว ส่งผลให้ต้องปิดการจราจร ไม่เป็นความจริง ลักษณะถนนบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นแบบนี้อยู่แล้วเนื่องจากมีคลอง 2 คลองที่อยู่ติดกัน ถนนจึงเป็นเนินเพื่อข้ามคลองไม่ได้เกิดการทรุดตัว
3. ทางด่วนลงดินแดงตัดขาดนั้น ไม่เป็นความจริงแต่สาเหตุที่มีการปิดการจราจรเนื่องจากเศษวัสดุที่หล่นจากคอนโดกำลังก่อสร้างตกลงผิวการจราจรทำให้ต้องเคลียร์พื้นผิวการจราจรตอนนี้ยังไม่เปิดการจราจร
4. สะพานภูมิพลรถไม่สามารถข้ามได้เพราะสลิงเกิดความเสียหายกรณีนี้ก็ไม่เป็นความจริงสะพานสามารถใช้งานได้และเปิดการจราจรปกติ
พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวต่อว่านอกจากนี้ยังมีการอัปเดตจุดเกิดเหตุต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลนพรัตน์ มีการอพยพผู้ป่วยลงมาพื้นที่ด้านล่างจริง แต่ตอนนี้ นำผู้ป่วยเข้ารักษาทั้งหมดบนอาคารตามปกติแล้ว
ขณะที่บริเวณแยกบางโพพื้นที่รับผิดชอบสน.เตาปูน เกิดเหตุเครนถล่มมีผู้ติดค้างสามารถเข้าช่วยเหลือได้พบผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย และ ผู้เสียชีวิต 1 ราย
อย่างไรก็ตามขณะนี้รถไฟฟ้า BTS และ รถไฟฟ้าใต้ดินยังคงหยุดให้บริการทุกเส้นทาง เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหาย
ทั้งนี้อยากฝากเตือนพี่น้องประชาชนให้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนจะเผยแพร่ไปยังช่องทางต่าง ๆ อาจจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับพี่น้องประชาชนได้และหากพบว่ามีข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมได้ ด้วยความปรารถนาดีจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล