ช่วงหลังมามีโอกาสได้พูดคุยกับนักข่าวรุ่นใหญ่ในวงการข่าวอาชญากรรมหลายคน ได้ซึมซับบรรยากาศสนามข่าวในสมัยก่อน ตั้งแต่ยังใช้กล้องฟิล์ม พิมพ์ดีด ส่งข่าวทางเครื่องโทรสาร จนก้าวเข้ามาสู่ยุคเปลี่ยนแปลงอย่างกล้องดิจิตอล โทรศัพท์มือถือ ซึ่งในแต่ล่ะสมัยก็มีกลิ่นอายมนต์เสน่ห์แตกต่างกันออกไป
นายอดิษัยต์ หรือ “ใส” พรวนพิมพ์ ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ ข่าวสด
เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ผ่านสนามข่าวและสนามรบมาหลายรูปแบบเกือบ 30 ปี
เขาเติบโตจากรั้วมหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จ คณะนิเทศศาสตร์ รุ่นที่ 1 ปี 2529 ถือว่าเป็นรุ่นทดลองของการเรียนในสมัยนั้น
นิเทศศาสตร์ “บ้านสมเด็จ” รุ่นที่ 1
อดิษัยต์ เล่าถึงการศึกษาในด้านนิเทศศาสตร์ในยุคนั้นว่า สมัยนั้นตามหน่วยงานราชการยังคงมีเปิดรับเด็กที่จบมาด้านนี้โดยเฉพาะ เห็นว่าในอนาคตอาจจะเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างภาพ อย่างที่เคยฝันไว้ ทั้งนี้ในเรื่องการสอนที่เป็นรุ่นแรกก็ยังไม่มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้มากนัก ต้องออกไปศึกษาหาความรู้นอกรั้ว
โดยเฉพาะช่วงฝึกงานมีโอกาสได้เข้าฝึกงานกับกรมศิลปากร รับหน้าที่เป็นช่างภาพคอยถ่ายภาพโบราณวัตถุ – โบราณสถาน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ได้ประสบการณ์จากจุดนี้ค่อนข้างมาก
สัมผัสอุปกรณ์ถ่ายภาพชั้นดี
ใส หรือ อดิษัยต์ พูดถึงประสบการณ์ช่วงฝึกงานที่กรมศิลป์ ว่า เป็นเรื่องที่ดีมากได้เข้ามาฝึกงานที่นี้ นอกจากการฝึกถ่ายภาพแล้ว ยังมีโอกาสที่ได้จับกล้องรวมไปถึงอุปกรณ์ที่มีให้เลือกหลากหลายรุ่น ทำให้พัฒนาฝีมือได้อย่างรวดเร็ว และยังนำไปใช้ประโยชน์กับการเรียนในห้องเรียนได้อีกด้วย
ส่วนกล้องตัวแรกที่ใช้คือ กล้องฟิล์ม ยี่ห้อ Ricoh รุ่น Kr10 ส่วนเลนส์เป็นระยะ 50 มม. ที่ตกทอดมาจากคุณพ่อ นับว่าเป็นกล้องครูก็ว่าได้
ร่วมงาน 2สถานที่สำคัญงานศิลป์ชาติ
“ในช่วงระหว่างศึกษาในช่วงปีท้าย จนกระทั่งจบสำเร็จการปริญญาตรี ได้ทำงานที่หอภาพยนต์แห่งชาติ ในฐานะลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งช่างภาพ ได้ทำงานประเภทรวมฟิล่มภาพยนต์ในช่วงนั้น ถ่ายภาพเก็บข้อมูลโปสเตอร์หนัง และยังรับหน้าที่ถ่ายภาพในสตูดิโออีกด้วย
ทำอย่างนี้ประมาณ 1 ปี ก่อนที่รุ่นพี่ดึงไปทำงานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รับหน้าที่ช่างภาพเช่นกัน แต่ลักษณะเปลี่ยนมาถ่ายภาพโบราณสถานอย่างที่เคยเมื่อครั้งฝึกงาน” อดิษัยต์ เล่านึกย้อนวันเก่า
ก้าวสู่วงการข่าวอาชญากรรม
อดิษัยต์ เผยถึงชีวิตที่ผกผันก้าวเข้าสู่วงการข่าวอาชญากรรม ว่า หลังจากทำงานสายโบราณสถาน ก็ได้เข้ามาสมัคร งานที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดเมื่อปี 2534 โดยช่วงนั้นเปิดรับช่างภาพสปอร์ตนิวส์ เปิดรับ 5 ตำแหน่ง ได้รับเลือกเข้ามาเป็นหนึ่งในนั้น
ทดลองงานสายกีฬาอยู่ประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะผ่านช่วงทดลองงาน ทำสายกีฬาเรื่อยมา กระทั่งวันหนึ่งมีตำแหน่งช่างภาพตระเวนข่าวอาชญากรรมว่าง ได้รับการไว้วางใจให้เข้ามาทำงานในสายนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นงานใหม่ที่มีอะไรให้เรียนรู้เยอะมาก เพราะไม่เคยถ่ายภาพศพ หรืองานลักษณะนี้มาก่อน ต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างมาก
ศพแรก จำได้ชัดเจน
อดิษัยต์ ยังเล่าย้อนถึงเหตุการณ์เจอศพแรกให้ฟัง ว่า ศพแรกที่เจอนั้น เป็นอุบัติเหตุทางรถมีผู้เสียชีวิต 3 ราย เมื่อถึงที่เกิดเหตุรีบวิ่งลงไปเก็บภาพ แต่ต้องตกใจในสภาพศพที่น่ากลัว ใช้เวลารวบรวมสติพักนึงก่อนที่จะลั่นชัตเตอร์ คิดเพียงว่าภาพที่อยู่ตรงหน้าเป็นงานที่รับผิดชอบ สุดท้ายก็ผ่านงานอาชญากรรมครั้งแรกด้วย 3 ศพ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่เลยทีเดียว
ฝึกฝนหาแนวทางถ่ายภาพอาชญากรรม
รุ่นใหญ่จากค่ายข่าวสดกล่าวอีกว่า ในสมัยอดีตนั้นต้องใช้กล้องฟิล์มในการถ่ายภาพ ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษบวกกับงานแนวอาชญากรรม ที่ไม่สามารถพลาดแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว ต้องศึกษาแนวทางในการถ่ายภาพด้วยตนเอง เพราะในยุคสมัยก่อนไม่มีใครมานั่งสอน ต้องดูภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์หัวฝรั่ง แล้วนำมาปรับใช้กับหนังสือพิมพ์หัวสีที่ต้องการภาพอีกแนวทางหนึ่ง
พลิกวิกฤติเป็นโอกาส รับบทนักข่าว – ช่างภาพ
“พอถึงช่วงปี 2540 ฟองสบู่แตก บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิตตกต่ำอย่างรุนแรง ข่าวการฆ่าตัวตายของนักธุรกิจก็มีเยอะขึ้น ความเป็นอยู่ของผู้คนก็เริ่มมีปัญหา กระทบไปในหลายส่วนรวมไปถึงวงการสื่อสารมวลชนด้วย
มีการปรับตัว จากช่างภาพก็ต้องลงมาเป็นนักข่าวในตัว ต้องเริ่มฝึกหัดการเขียนข่าวเพิ่มเติมจากเดิม แต่ในช่วงเป็นช่างภาพได้เรียนรู้ประเด็นในการทำข่าวมาบ้าง ไม่ยากนักที่ปรับตัวเป็นนักข่าวอย่างเต็มตัว”
ได้สัมผัสทำหลายข่าวใหญ่
นายอดิษัยต์ พูดเกี่ยวกับเหตุการณ์ทำข่าวใหญ่ ว่า ได้สัมผัสงานข่าวใหญ่ ๆ มาตั้งแต่เป็นช่างภาพก่อนแล้ว อย่างเช่น ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เมื่อปี 2536 มีผู้เสียชีวิต 188 คน , ไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียน จ.ชลบุรี มีผู้เสียชีวิต 91 ราย , คลังแสงทหารระเบิด จ.นครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
3 เหตุการณ์ที่พูดถึงเป็นเหตุใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้วิ่งไปทำข่าวในที่เกิดเหตุ ด้วยความที่ยังเป็นวัยหนุ่มมีความอยากรู้อยากเห็นในการทำข่าวก็รับอาสาไปทำงาน
คลังแสงโคราชบึม เกือบเอาชีวิตไปทิ้ง
ใส ข่าวสดเล่าถึงเหตุระเบิดคลังแสงที่โคราช ว่า วันนั้นตระเวนเช้า มีรายงานเหตุว่าที่แผนก 5 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เกิดการระเบิด มีผู้ได้รับบาดเจ็บ – ตาย จำนวนมาก ทางโรงพิมพ์ ได้สั่งให้ไปที่เกิดเหตุทันที เมื่อไปถึงสถานการณ์ยังได้ยินเสียงระเบิด ควันไฟ และเปลวเพลิง อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ทหารยังไม่ได้กั้นพื้นที่รัดกุมมาก จึงเล็ดรอดเข้าไปถ่ายภาพ ทำข่าวได้
แต่มีเหตุการณ์ที่จำฝังใจเลยก็ว่าได้คือ ไปเจอชิ้นส่วนอะไรสักอย่าง ก่อนที่จะหยิบขึ้นมาดู ปรากฎว่าเป็นหัวระเบิดที่บรรจุเครื่องยิง ที่กระเด็นออกมาแต่ไม่ระเบิด ผมรีบวางแล้วรีบเผ่นออกมา เป็นเหตุการณ์เกือบเอาชีวิตไปทิ้งไว้เสียแล้ว
พฤษภาทมิฬ 35 สงครามกลางเมือง
เหยี่ยวข่าวรุ่นใหญ่ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ว่า ปี 2534 คณะ รสช. ได้รัฐประหารรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความไม่พอใจให้กับประชาชน เกิดการประท้วงตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.จนกระทั่งถึงวันที่ 17 พ.ค. ก่อนทีเจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุม วันนั้นมีการยิงกันไม่ทราบฝ่ายดังนานอยู่หลายนาที แต่มันเป็นนาทีที่นานที่สุดในชีวิต
“ผมหลบอยู่ในโรงพิมพ์สยามรัฐ ได้ยินเสียงกระสุนปะทะกระจก มีโอกาสเก็บภาพได้เพียงเล็กน้อย เพราะสถานการณ์ไม่ค่อยดี เสี่ยงเป็นอย่างมาก เพียงไม่นานทุกอย่างก็เริ่มสงบ จากนั้นก็ออกมาทำข่าว และสุดท้ายทางข่าวสดให้ถอนกำลังเข้าโรงพิมพ์”
คว้าถ้วยรางวัลพระราชทาน
นักข่าวหนุ่มรุ่นเดอะ กล่าวถึงความประทับใจในการได้รับรางวัลภาพข่าวว่า ในปี 2541 ได้รับถ้วยพระราชทานรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมจากสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ในชื่อภาพว่า “บ้า…บินนาทีเป็นนาทีตาย”
ภาพนี้ยังติดอยู่ในความทรงจำ มันเป็นเหตุชายเมายาบ้าขึ้นไปบนตึกอาคารพาณิชย์ 5 ชั้น เตรียมจะกระโดดลงมา ช่างภาพหลายสำนักมุ่งหน้าสู่พื้นที่เกิดเหตุ 3 ชั่วโมงผ่านไป
วินาทีแห่งความหวาดเสียวก็เกิดขึ้นเมื่อชายคนนี้กระโดดลงมา ผมลั้นชันเตอร์ของกล้อง nikon Fm2 เลนส์ 28 -85 ด้วยใจระทึก สุดท้ายก็ได้ภาพตามที่ใจต้องการ และเป็นที่มาของการได้รางวัลนี้
ที่2 ภาพเล่าเรื่อง งานนักข่าวตระเวน
“นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลอื่น ๆ อีก เช่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย จากภาพ “เทกระจาย” ที่เป็นภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ้งกำลังนำศพหญิงสาวที่เสียชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมา โดยมีนักข่าว ช่างภาพ ไปทำข่าวหลายคนยืนอยู่บนสะพานไม้ แต่ตัวผมเองอยู่อีกมุม
เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วสะพานไม้อันนั้นได้หักลง เจ้าหน้าที่กู้ภัย นักข่าวที่อยู่บนสะพานต่างตกใจหาที่ยึดเกาะกัน ผมจึงเก็บภาพนั้นไว้เพื่อนำมาถ่ายทอดให้คนอื่นเห็นการทำงานของนักข่าวอาชญากรรม”
นาทีชีวิต-ภาพข่าวยอดเยี่ยมปี56
เดอะใส เล่าถึงรางวัลที่คว้ามาครองต่อไปว่า เป็นรางวัลภาพข่าวอาชญากรรมยอดเยี่ยม จากสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2556 ในชื่อภาพ “นาทีชีวิต” เป็นภาพคนกำลังวิ่งหนีตายจากเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือน และมีแก๊สระเบิด
ข้อคิดถึงน้องๆนักข่าวอาชญากรรม
ผมไม่ได้เก่งในด้านการทำข่าวมากนัก แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายสิบปี อยากจะฝากให้น้องนักข่าวรุ่นใหม่ว่า ให้ขยันตั้งใจทำงาน อย่าติดขี้เกียจ ส่วนเรื่องประเด็นการทำข่าวก็อยากจะให้คิดคำถามที่ดีเหมาะสมกับที่เราไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนนั้น
ทั้งนี้ยังต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ข่าวสมัยนี้มาจากโซเชียลมากขั้น พยายามทำข่าวให้ลึกลงให้มากกว่ากระแส เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่าน
เขียนไข27/11/61