Thursday, April 25, 2024
More
    Homeท่องปทุมวันนักบินรบ เอฟ 5 ลัดฟ้าเป็นผู้การกองบินตำรวจ

    นักบินรบ เอฟ 5 ลัดฟ้าเป็นผู้การกองบินตำรวจ

    ตอนยังเป็นเด็กผู้ชายตัวน้อย บ้านอยู่ใกล้กองบิน 7สุราษฏร์ธานี  เห็นเครื่องบินรบโอวี10 บินขึ้นลงอยู่ทุกวัน ทำให้ซึมซับอยากขับเจ้านกเหล็กทะยานอยู่บนฟ้า

    โตขึ้นมาหน่อย ย้ายที่เรียนตามบิดาที่เป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ไปรับราชการที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

    ผู้เป็นพ่อสนิทสนมกับ ผู้การกองบิน 4 ชื่อ กันต์ พิมานทิพย์  หนุ่มน้อยคนนี้เลยมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับนักบิน เครื่องบินอยู่ตลอด

    กระทั่งพ่อย้ายไปอยู่นครปฐม ถูกส่งเรียนประจำที่ ภปร. เพราะไม่อยากกระเตงย้ายที่เรียนตามพ่อไปตลอด

    กระทั่งเรียนจบเด็กหนุ่มคนนี้ สอบเข้าเตรียมทหารรุ่นที่ 24 เป็นนักเรียนนายเรืออากาศ รุ่นที่31 สมที่ตั้งใจใฝ่ฝัน
    “สอบได้ปี 2526 พอเข้ามาเรียน ก็เล่นรักบี้ แล้วติดทีมชาติตั้งแต่เป็นนักเรียน เล่นฮุกเกอร์ ทั้งที่จริงอยู่ภปร. เล่นดนตรี เป่าทรัมเปต  พอเรียนเตรียมทหารถึงมาเล่นรักบี้  เข้ามาเรืออากาศ ก็ติดทีมชาติเลย…..” 
    พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ เพชรรักษ์ ผบก.บ.ตร. อดีตนักบินขับไล่ ทอ.ฟื้นความหลังเส้นทางชีวิตราชการก่อนย้ายมาอยู่ตำรวจ
                   
    เริ่มชีวิตทัพฟ้าเป็นนักบินรบเอฟ5
    จบแล้วรับราชการเป็นนักบินไฟต์เตอร์ ฝูง 561 หาดใหญ่ ขับทีเบิร์ด เครื่องเจ็ท คือนักบินไฟต์เตอร์ จะคัดเลือกจากที่ 1-10 ของรุ่น ไปเรียนไฟต์เตอร์ ผมเป็น 1 ใน 10 ก็ตามๆ เพื่อนไป

    แล้วย้ายไปอยู่ฝูงบิน 231 เอฟ 5 อุดรฯ เป็น เครื่องเอฟ 5 เอบี 2 ที่นั่ง บินไม่กี่เดือน ขอกลับมาบินเครื่องบินลำเลียง แอฟโร 748 เครื่อง 40 ที่นั่ง ของ ทอ.ฝูงเครื่องพระที่นั่ง ที่ 602 และ 603 บน.6  

    ลาออกบินแอร์ไลน์ตอบข้อสงสัยชีวิต
    ปี 2542  ยศนาวาอากาศตรี ลาออกไปอยู่สายการบินพีพีแอร์ ตอนลาออกก็คิดว่าเป็นความท้าทายของคนหนุ่ม  อยากสัมผัสอะไรใหม่ๆ ผมว่าทุกคนมีข้อสงสัยกันหมด

    แต่ผมสงสัยแล้วผมทำเลย ก็ไปเลย คุยกับนาย แล้วก็ไป ช่วงที่ไปทำงาน ก็ได้โอกาสค่อนข้างดี ที่พีพีแอร์ บินเครื่องฟ็อกเกอร์ 28 เป็นเครื่องเจ็ท  แล้วไปอยู่นกแอร์พักหนึ่ง

    หายสงสัยกลับรับราชการใหม่เป็นตำรวจ
    ออกไป7 ปี กลับเข้ารับราชการใหม่เป็นตำรวจ คืออยากเอาเวลาคืนมากกว่า เพราะตอนทำงานบริษัท เขาใช้เราเต็มที่ เวลาไม่ค่อยตรงกับครอบครัว บิน 6โมงเช้า ตื่นตั้งแต่ตีสามครึ่ง ไปโชว์ไทม์ก่อนชั่วโมงครึ่ง ก็เลยมาเอาเวลาคืน ผมว่ามันพอแล้ว

    13 ปี จากพ.ต.ต.เป็นผู้การกองบิน
    จังหวะนั้นนักบินฟิกวิงของตำรวจลาออกเยอะ เลยขอกลับเข้ารับราชการตำรวจ  ทั้งที่ตอนนั้นสายการบินกำลังโตเลย แต่ผมมีความรู้สึกว่ากลับมารับราชการ มันทำอะไรได้เยอะกว่า มีเวลาได้ทำอะไรอย่างอื่นด้วย

    ออกไปตอนนาวาอากาศตรี กลับมาเป็น พ.ต.ต.เมื่อปี 2550 ทำมา 13 ปี ถึงไต่เต้ามาเป็นนายพล

    ผู้การตู่เล่าต่อถึงเส้นทางขีวิตสายตำรวจ

    เริ่มจาก พ.ต.ต.ตำแหน่งนักบิน  เลื่อนขึ้นเป็นนักบิน สบ 1-5  เข้าตำแหน่ง รอง ผบก.หลักเมื่อปี 2562

    ปี 2563 ได้รับพิจารณาขึ้นเป็น ผบก. คือเป็น รอง ผบก.5 ปี ครบก็ขึ้นเลย เป็นนักบิน สบ 5 อยู่ 4 ปี เป็น รอง ผบก.หลัก อีก 1 ปี แล้วมาเป็น ผบก.

    โตเฉพาะด้านเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
    คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำแท่งขึ้นมาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่แล้ว เป็นเรื่องของเครื่องบิน ก็เลื่อนไหลขึ้นมาเรื่อยๆ

    แล้วจังหวะดีได้ทำงานกับนาย และเป็นช่วงเวลาที่กองบินตำรวจพัฒนาเยอะ มีเครื่องใหม่เยอะ มีทั้งเครื่องบินเจ็ต ที่เรารับมา  
                   
    จังหวะดีได้ทำงานให้ผู้ใหญ่
    ตอนที่กลับเข้ามา ตอนนั้นบินเครื่องชอท 330 เป็นเครื่องเก่า มีใบพัด 2 เครื่องยนต์ ภารกิจคือทิ้งร่ม สนับสนุนการกระโดดร่มของ ตชด.ที่ค่ายนเรศวร เป็นหลัก แล้วมีโอกาสได้ไปเรียนเครื่องฟ็อกเกอร์ 28 ตอนนั้นมีแล้ว แต่เราก็ได้ไปเรียนซิมที่ต่างประเทศ กลับมาบินเครื่องวีไอพี

    เสร็จแล้ว ตร.ก็ซื้อเครื่องใหม่ คือคาซ่า 235 สุดท้ายไปรับเครื่องเจ็ต จากฝรั่งเศส ฟอลค่อน 2000 เอส เป็นโอกาสที่ค่อนข้างดีได้ทำงานให้นาย ก็ได้คุยกับนายบ้าง

    นำประสบการณ์แอร์ไลน์มาใช้
    ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก จากทหารมาเป็นตำรวจ แต่ผมว่าโชคดีก็คือเป็นจังหวะที่ได้รับเครื่องใหม่ๆเยอะ การรันอัพ เนื่องจากตอนที่อยู่แอร์ไลน์ ผมดูแลเรื่องการฝึกนักบิน แล้วทำงานในตำแหน่งบริหารด้วย เป็น ชีปอินสตรัคเตอร์แพรอท เป็นไฟร์ทเทรนนิ่ง เมเนเจอร์

    อัพเกรดนักบินส่งฝึกซิมที่ยุโรป               
    พอเข้ามาตำรวจ ก็มาช่วยแนะนำให้กองบินตำรวจปรับเปลี่ยนจากการบินด้วยอะนาล็อก จากเครื่องเข็มไปเป็นดิจิทัล ช่วยในเรื่องการเทรนนิ่ง การฝึกบิน  เลยมีโอกาสได้นำเสนองานกับนาย

    แล้วเรื่องซิสเต็ม การเทรนนิ่งเราค่อนข้างดี เพราะเราส่งนักบินไปเข้าซิม(ซิมูเรเตอร์ )ที่ยุโรปตลอด เป็นศูนย์ฝึกที่มีมาตรฐาน ช่วยให้เราอัพเกรดคนของเราไปได้เรื่อยๆ
     

    อย่างผมไปฝึกฟอลค่อน ก็ไปฝึกที่อังกฤษ ไปฝึกที่ศูนย์ซีไออี ที่อังกฤษ แล้วก็กลับมาบินที่ฝรั่งเศส  

    ทบทวนทุกปีเพื่อความปลอดภัย
    บินอยู่ตลอด ประสบการณ์เฉียดๆ ก็มีบ้าง แต่ผมว่า ดีที่สุดคือเรามีสติกับมันชิ มีความรู้ ก็ทำให้ทุกอย่างไม่เฉียดกับอันตราย ทำตามการฝึก

    เพราะฉะนั้นตัวความรู้ ตัวซีมูเรเตอร์ช่วยเราเยอะ มันจะสร้างเหตุการณ์สมมติให้เรา เราก็จะไม่พาตัวเองเข้าไปสู่จุดนั้น ต้องทบทวนตลอด ไปปีละครั้ง ไปฝึกเพื่อช่วยให้ตำรวจปลอดภัย  
                   
    ภารกิจหลักถวายความปลอดภัย
    หน้าที่ของกองบิน เราเป็นหน่วยสนับสนุนหลักให้กับ ตร.ทุกภารกิจ โดยเฉพาะเรื่องภารกิจถวายความปลอดภัย สำคัญเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นภารกิจใน ตร.
    อีกภารกิจหนึ่งที่เน้นทำมากๆคือช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เมื่อได้รับการร้องขอ
    เดือนหนึ่งมีประมาณ 4-5 เคส อย่างเชียงใหม่ บ่อยมาก เพราะเดินทางด้วยรถยาก มันช้า  
    รอเสริมเขี้ยว ทวินออโตอีก 2ลำ
    เรา มี 22 หน่วยบิน แต่ว่าเราโอเปเรท อยู่ที่ 14 หน่วยบินกระจายอยู่ทั่วประเทศ หนักสุดที่ ศชต.คือที่ทางใต้ เรามีศูนย์อยู่ที่นั่น  
    เรามีเฮลิคอปเตอร์  52 ลำ ฟิกวิง มี 6 ลำ ฟอกเกอร์ กาซ่า 2 ตัว  ฟอลค่อน 1 คิงส์แอร์ อีก 2

    กำลังจะตรวจรับ ทวินออโต้ อีก 3 ตัว เป็นเครื่องบินใบพัด 2 เครื่องยนต์ มี 19 ที่นั่ง บินถ่ายรูปได้ ลงน้ำได้ ทิ้งร่มได้ อเนกประสงค์  

    เมื่อถามว่าจากการเป็นทหารแล้วมาเป็นตำรวจมีอะไรติดขัดมั้ย เจ้าของรหัสเวหา1 บอกว่า

    จริงๆ แล้วธรรมชาติการทำงานแต่ละที่ไม่เหมือนกัน แต่ตำรวจนี่ชัดเจน ถ้าคุณทำหน้าที่นักบิน คุณก็บินทั้งชีวิต ถ้าเป็นทหารพอพ้นจากผู้ฝูงไปแล้ว แทบจะไม่ได้ขับ

    แต่ตำรวจนี่จะอยู่ในตำแหน่ง สบ ตลอด เป็นผู้เชี่ยวชาญไปตลอด เป็นผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ  จะได้บินตลอดเวลา ความแตกต่างจะอยู่ตรงนั้น

    ต้องพัฒนาตัวเราไปสู่สากล
    ถึงวันนี้มารับหน้าที่นายพลกองบินตำรวจ  อยากจะพัฒนาตัวเราขึ้นไปสู่สากล เพราะเราหนีไม่ออกจากการที่จะต้องไปมีส่วนร่วมในเรื่องการปฏิบัติงาน ไม่ว่าเราขึ้นบิน ก็ต้องมีรูทของการบิน มีการติดต่อ มีการคอนโทรล มีการประสานงานกับฝ่ายเรดาร์

    สิ่งที่สำคัญ คือเราต้องพัฒนาตัวเองไปสู่สากลให้ได้  ต้องตามเขาให้ทัน

    ถ้าเราไม่พัฒนาเข้าไปสู่สากล เราจะไปเป็นภาระให้กับห้องคอนโทรล ศูนย์ควบคุมทางอากาศ สิ่งที่ต้องการคือตรงนี้  

    กำลังพลนักบินตึงๆแต่ไม่โหลด
    ตอนนี้เรามีกำลังพลทั้งหมด 474 คน นักบินมีอยู่ประมาณ 110 คน ได้  ถามว่าขาดแคลนมั้ย ก็ตึงๆไม่ถึงกับขาด คือขาดนักบินเฮลิคอปเตอร์

    แต่ตอนนี้ก็ไม่โหลดนะ เพราะไม่ได้บินทุกวัน อาทิตย์หนึ่งอาจจะได้บินสัก 2 ครั้ง  ถ้าเป็นแอร์ไลน์จะโหลด เพราะเขาใช้ทั้งวัน

    แต่เราไม่ได้ทั้งวัน เราใช้เป็นภารกิจบินไปแล้วไปนั่งรอแล้วบินกลับ

    ช่างเครื่องต้องมีไลเซ่น
    ส่วนเรื่องของช่างเครื่อง เรากำลังรีเอนจิเนียริ่งช่างเครื่องใหม่ ผมให้นโยบายไปตอนนี้คือเราจะเข้าไปสู่สากล สิ่งที่เราต้องการคือ ต้องการช่างที่มีใบอนุญาต ช่างที่มีไลเซ่น

    กำลังสร้างช่าง สร้างคนขึ้นมาเพื่อให้ไปสู่ตรงนั้น ในมินนิ่งคือเรามีคนที่มีประสบการณ์ แต่เรื่องของเปเปอร์ เราไม่ค่อยได้ทำ เรื่องเซอร์ทิฟิเคทไม่ค่อยได้ทำ

    ซ่อมบำรุงระยะสั้นซ่อมเองได้
    ผมบอกชัดเจนว่า ต้องทำเหมือนกับการรับผิดชอบ  ช่างนี่รับผิดชอบเครื่องตัวนี้มีใครบ้าง ต้องแยกฟีดออกมาให้ได้ แล้วพยายามที่จะเข้าไปดูแลฟีดได้ด้วยตัวเอง

    ตอนนี้เราอาจจะจ้างบริษัทเข้ามาดูแลค่อนข้างเยอะ แต่ในอนาคต การซ่อมบำรุงในระยะสั้น ต้องทำได้เอง เราต้องไม่พึ่งเขา

    พัฒนาช่างเครื่องไปสู่สากล
    ยกตัวอย่าง เครื่องคิงส์แอร์ เราตรวจ 400 ชั่วโมง เป็นการตรวจใหญ่ใช้ช่างทำ เหมือนเข้าศูนย์ เปิดทุกอย่าง เราเข้าไปตรวจเช็คให้ช่างเราทำเอง

    เพราะฉะนั้นพอฟีดนี้ทำได้แล้ว เราก็จะเห็นฟีดต่อไปเรื่อยๆ นี่คือการพัฒนาช่าง เราเข้าไปสู่เป้าหมายเลย เราเดินเข้าไปสู่สากล แต่เราอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ 100%

    แต่เราก็ต้องทำให้ได้มากที่สุด ตำแหน่งช่าง ตอนนี้มีเยอะอยู่ 167 คน  กับนักบิน ก็มี 200 กว่า พร้อมจะสนับสนุนทุกภารกิจ

    รับงานขยายรันเวย์หนองสาหร่าย
    ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.บอกว่า จะขยายรันเวย์ที่ศูนย์ฝึกหนองสาหร่าย นั่นก็เป็นความรับผิดชอบของกองบิน 

    ผบ.ให้นโยบายมาค่อนข้างจะชัดเจน ตรงนั้นเป็นศูนย์ฝึก แล้วมีในเรื่องของ รพ.จะทำเป็นศูนย์ส่งกลับ คือ รพ.น่าจะเป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์ ที่อยู่ใกล้กัน  
                  
    อนาคตรองรับบิสิเนสเจ็ต
    แล้วจะเป็นศูนย์รวมที่สนามบิน สามารถที่จะสนับสนุนภารกิจหลักได้ คือเมื่อทำเสร็จแล้ว เครื่องเราลงได้ทุกแบบ แล้วรองรับพวกบิซิเนสเจ็ทได้ คือทำในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย   
                 
    ใช้4หลักบริหารงานกองบิน
    ส่วนหลักบริหารที่ผมใช้ตลอดเวลา เบื้องต้นเราทำในบ้านก่อน ที่ผมใช้มี 4 หัวข้อหลัก 1.คือเรื่องนโยบายผู้บังคับบัญชา เราต้องตอบสนอง

    2. เรื่องของหน่วยต้องดี จะทำอะไรก็ตาม หน่วยต้องได้ของดี หน่วยจะต้องมาก่อน

    3.เรื่องลูกน้อง ต้องดูแลให้ดี เขาจะได้มีกำลังใจทำงาน

    สุดท้ายถึงจะมาที่ตัวเรา คือเราต้องคอยแก้ปัญหา นี่คือหลักในการทำงาน  
                  
    หน้าที่หลักคือแก้ปัญหา
    หน้าที่หลักของผมคือมีหน้าที่แก้ปัญหา งานที่ให้ลูกน้องทำไป เมื่อมีปัญหา เขาต้องกล้าจะคุยกับเรา แล้วเราก็แก้ปัญหาให้เขา

    แต่ถ้าไม่มีปัญหาเราก็ปล่อยเขาไป การคอนโทรลงานผม คอนโทรลด้วยไทม์ไลน์ เช่น ผมมอบงานไปงานหนึ่ง

    ผมจะกำหนดไทม์ไลน์เลยว่า งานตัวนี้จะต้องเด้งกลับมาที่ผม 3-5 วัน กำหนดไว้ชัดเจน จะลงไว้ในตาราง

    ถ้าไม่กลับมา ผมจะเข้าไปดูให้ใกล้ชิดว่าทำไมถึงไม่กลับมา แล้วเราจะเข้าไปแก้ไขปัญหาให้เขา  
                   
    วางไทม์ไลน์ 3 ระยะ
    ไทม์ไลน์ จะทำไว้ 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ระยะสั้น

    คือช่วงไตรมาสแรก สิ่งที่เราทำก็คือทำบ้าน ไม่ต้องไปยุ่งกับส่วนนอกเลย ทำในบ้านเราให้มันคอมพลีท ทุกคนกลับไปอยู่ในหน้าที่การงานที่ตัวเองรับผิดชอบ  อย่างอื่นมันจะตามมาเอง

    ต้องรู้มีกำลังพลทำงานเท่าไหร่
    ได้ความคิดจาก ผบ.ปั๊ด ท่านเริ่มด้วยการยกเลิกคำสั่งช่วยราชการหมดทั่วประเทศ ทำให้ผมรู้ว่าเรามีกำลังพลที่จะทำงานเท่าไหร่ ทุกคนมีงานในมือเท่าไหร่

    เพราะฉะนั้นทุกคนกลับมาสู่ที่เดิมก่อน แล้วไปทำงานที่ตัวเองรับผิดชอบให้ดี ไปดูจ๊อบดิสชั่น หน้างานตัวเองให้ดีแล้วถึงค่อยไปทำงานอื่น

    พยายามไม่ให้งานซ้ำซ้อน
    แล้วพยายามไม่ใช้คนข้ามสายงาน งานที่รับผิดชอบ คุณทำไป ใครจะไปดึงตัวใคร ออกมาจากงานไหน ต้องดูว่า งานนั้นเขารับผิดชอบไว้ เขาทำได้รึยัง ก่อนที่จะได้งานที่ 2 ที่ 3 ไป เพราะฉะนั้นตำแหน่ง พอไม่ซ้ำซ้อนปุ๊บ งานก็จะเดินไปได้ค่อนข้างดี  
    ส่วนระยะกลาง ประมาณ 3 เดือน  ทำในเรื่องของการฝึกหลักสูตรต่างๆ การเทรนนิ่ง  มันจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราทำ

    ระยะยาว 1 ปี เราก็ดูทั้งปีเลย อย่างเช่น งบประมาณที่เราใช้ใน 1 ปี เราดูจากของเก่ามา แล้วเราก็มี 5% 10% นำเสนองาน แล้วจะนำเสนอเป็นช่วงๆ ว่าต้องใช้งานเท่าไหร่ ให้นายได้มีโอกาสวางแผน มันก็จะง่ายทั้ง ตร.  
                   
    ทำเรื่องกู้ภัยช่วยชีวิตเป็นรูปธรรม
    อีกอย่างที่ผมอยากทำ คือเรื่องของการกู้ภัย การช่วยเหลือชีวิตคนให้มันเป็นรูปธรรม ทำออกมาเป็นเอสโอพี เป็นสแตนดาร์ดโอเปเรชั่นโพสิเยอร์ ให้ชัดเจน การปฏิบัติจะทำได้ง่ายขึ้น แล้วจะสนับสนุนภารกิจให้ประเทศได้ด้วย ในเรื่องของเออีซี เพราะสุดท้ายแล้ว เราอยู่ 11 หน่วยบิน เราเสิร์ฟเรื่องนี้ได้ เป็นเรื่องใหญ่ของ ตร.อยู่แล้ว

    ประทับใจบินทั้งคืนช่วยน้ำท่วมใต้
    เรื่องของการกู้ภัย ภารกิจที่ประทับใจมากคือช่วงน้ำท่วมที่ใต้ ที่สุราษฎร์ฯ กับที่หาดใหญ่ เราขนของจากกรุงเทพฯไปให้ บินทั้งคืน ไปกลับวัน 3-4 เที่ยว

    แต่แฮปปี้กับการที่ได้ทำงาน เราโหลดของไปได้หลายตัน เป็น 3-4 คันรถ ทุกคนสนุกกับการทำงานตรงนี้ว่ามันได้ช่วยคนจริงๆ แข่งกับเวลาด้วย บินไปกลับรับของมา เครื่องลงเติมน้ำมัน อีกคนเอาของขึ้น แล้วเราจะเปลี่ยนนักบิน แต่เครื่องทำงานตลอด แต่เครื่องก็โอเค.

    นี่คือเสี้ยวหนึ่งชีวิตของเวหา1 ผู้การตู่- พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ เพชรรักษ์ จากนักบินรบทัพฟ้ามาเป็นผู้การกองบินตำรวจ ครับ…

    กากีกลาย10/1/64

     
                   

     

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments