พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 38 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนใหม่ถูกบันทึกเป็น ผบ.ตร. คนที่ 13 คุมผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพียงปีเดียวเท่านั้น
ภารกิจของเขาจึงสั้นมาก หากเทียบกับ ผบ.ตร. คนที่ 11 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่นั่งเก้าอี้นานสุดเป็นประวัติการณ์ 5 ปี และ ผบ.ตร. คนก่อนที่นั่งเก้าอี้นาน 2 ปี
แม่ทัพสีกากีคนใหม่เป็นคนจังหวัดแพร่เกิดในครอบครัวทำธุรกิจส่วนตัว เรียนชั้นประถมปีที่ 1-4 โรงเรียนเด่นชัยวิทยา ไปต่อประถมปีที่ 5 -7 โรงเรียนวัดเมธังกราวาส(เทศรัฐราษฎร์นุกูล) 39 โรงเรียนประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงในบ้านเกิด แล้วเข้ากรุงเทพฯ ไปต่อมัธยมโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ด้วยความใฝ่ฝันอยากมุ่งหมายไปต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
“ไม่เคยคิดไปเป็นตำรวจทหาร ไม่ได้วางแผนเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร นักเรียนบดินทรเดชาทุกคนส่วนใหญ่อยากไปต่อเตรียมอุดมศึกษา เพราะเป็นพระเกี้ยวเหมือนกัน ไปกวดวิชาเพื่อเข้าสอบ
ปรากฏว่า โรงเรียนเตรียมทหารเปิดรับสมัครก่อน พ่อเพื่อนเป็นทหารอากาศซื้อใบสมัครมาให้ไปสอบด้วย เห็นเครื่องแบบขายาวแล้วเท่ดี ชักเริ่มเปลี่ยนใจ อยากเป็นทหารอากาศ”
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ย้อนอดีตให้ฟัง
สุดท้ายเขาตัดสินใจสอบติดทั้งเตรียมทหารและเตรียมอุดมศึกษา และสอบติดทั้งสองที่ แต่เลือกมอบตัว โรงเรียนเตรียมทหารกำหนดก่อน เขาเลือกไปเตรียมทหารเป็นรุ่นที่ 22 เมื่อรู้ว่าสายตาสั้นคงไม่ได้เป็นนักบิน ชีวิตถึงพลิกมาสวมเครื่องแบบสีกากีเลือกเข้าเหล่านายร้อยสามพราน โดยที่ไม่เคยคิดเลยว่าในอนาคตจะได้มาเป็นเบอร์หนึ่งของ ตร.
หลังสอบได้คะแนนดีเป็นอันดับ 2 ของรุ่นตามหลัง พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย อดีตรองผบ.ตร. เพื่อนที่ได้ลำดับ 1
เขาเลือกลงเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 ก่อนสไลด์ออกไปเรียนปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา
กลับมาดำรงตำแหน่งรองสารวัตรศูนย์ฝึกอบรม กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เห็นนักสืบสมัยนั้นทำงาน
บางคนมีคราบเลือดติดขึ้นมาบนกองสืบเลย จึงไม่สนใจที่จะเป็นนีกสืบเพราะกลัวบาป เลือกเดินสายบุ๋นแล้วขึ้นเป็นสารวัตรตำรวจรถไฟ
จากนั้นเป็นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางรัก ขึ้นเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน รับรางวัลป้องกันยาเสพติดดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รางวัลพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อประชาชนอันดับ 1 และรางวัลชุดปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์ดีเด่นของกองบัญชาการตำรวจนครบาลถึง 3 ปีซ้อน
เลื่อนขึ้นรองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือตำรวจ 191 โยกเป็นรองผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน
ผ่านประสบการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่คุกรุ่นในช่วงนั้นบ่อยครั้ง แล้วย้ายออกภูธรครั้งแรกเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ
คืนถิ่นนครบาลอีกครั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ไม่ทันไรอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนขั้วต้องขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา ได้อาวุโสเลื่อนเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และเป็นผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล เป็นผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโยกไปเป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3
ริเริ่มจัดทำโครงการ “ประชารัฐร่วมใจต้านภัยยาเสพติด (ปักกลด)” 1,472 หมู่บ้าน ให้ตำรวจเข้าไปคลุกคลี แก้ปัญหายาเสพติดร่วมกับชาวบ้านและฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น สาธารณสุข ในชุมชนที่มีปัญหาแพร่ระบาดยาเสพติด
นอกจากนี้ผลักดันโคงการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการลดสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนบนพื้นฐานระบบงานสืบสวนอุบัติเหตุบนท้องถนนใน 8 จังหวัดภาคอีสาน นำมาเป็นตัวอย่างขับเคลื่อนในการลดอุบัติเหตุทางถนนกับทุกจังหวัดในปัจจุบัน
“ตอนนั้นลูกน้องก็กังวลว่า ผมจะทำให้พวกเขางานหนักขึ้นไหม ผมก็ขอความร่วมมือว่า ถ้าเราทำงานเรื่องอุบัติเหตุ ถ้าเราไม่มีฐานข้อมูล มันก็ทำไปแบบ ไม่รู้จริง ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า เวลามีการตาย หรือเจ็บหนักเข้าโรงพยาบาล ควรจะต้องรู้ว่า สาเหตุอะไร
จัดแจงขอเงินสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพมาเบี้ยเลี้ยง ผมไม่ให้ทำงานฟรี ช่วยกันลงเคสอุบัติลงในระบบฐานข้อมูล”
“จากการเก็บข้อมูลมาแต่ละปีพบว่า อุบัติเหตุของการตายของ 7 วันอันตราย เกิดจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ตั้งแต่เมาขี่มอเตอร์ไซค์
ฉะนั้น ถ้าตำรวจให้ทุกคนมีจิตสำนึก ถ้าเมา อย่าขี่ และควรสวมหมวกกันน็อกตลอดเวลา พยายามให้ชาวบ้านกลัวเกรงกฎหมาย การตายตรงนี้จะลดลง ต้องเรียนรู้จัดระบบได้ใน 365 วัน แล้วช่วง 7 วันจะดีเอง มีการมอบโล่รางวัลระดับภาค ระดับจังหวัดที่ตัวเลขความสูญเสียน้อย เพื่อให้ทุกหน่วยตื่นตัวขึ้นด้วย”
เขากล่าว
เมื่อรับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า
วางมอตโตไว้ชัดเจนในวันแถลงนโยบายการบริหารงานว่า ต้องเป็นตำรวจมืออาชีพ ทำงานเชิงรุก เพื่อความสงบสุขของประชาชน ความทุกข์ร้อนของประชาชนเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องเข้าไปแก้ไขอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
“ผมอยากให้พวกเราเป็นตำรวจที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา และที่สำคัญเป็นสถานีตำรวจประเทศไทย ทำคนน้อยให้เป็นคนมาก”
เขายืนยันว่า ไม่ใช่อุปสรรคปัญหาที่เหลืออายุราชการปีเดียวแล้วขับเคลื่อนทำอะไรไม่ทัน เพราะเตรียมพร้อมวางแผนไว้หมดแล้ว บางเรื่องต้องบูรณาการใหม่ ขันนอตกันใหม่ มีนโยบายเร่งด่วนอันดับแรกที่ต้องทำเพื่อประชาชน
คือ การแก้ปัญหายาเสพติด และเรื่องอาชญากรรมทางออนไลน์ จะนั่งเป็นหัวโต๊ะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ผู้บัญชาการทุกคน และผู้บังคับการต้องให้ความสำคัญ 2 เรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดในชุมชน ต้องทำเป็นเรื่องแรกๆ ทุกวันนี้มีคนบ้านคลั่งเพราะยาเสพติดจำนวนมาก เป็นอันตรายต่อชาวบ้าน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า
จะเอาโครงการปักกลดที่เป็นผลงานสร้างชื่อติดตัวมาสมัยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ว่า มาใช้เพื่อแก้ยาเสพติดในชุมขน โดยจะส่งตำรวจเข้าไปอยู่ในทุกชุมชนเสี่ยงทั่วประเทศ เพราะเมื่อลงพื้นที่ตามชุมชนเราจะเห็นหมดว่าปัญหามีเยอะ มีคนมาฟ้องเรื่องยาเสพติด สมัยเป็น ผกก. ตนลงเก็บข้อมูลไปคุยผู้นำชุมชมชน ก็ได้แรงจุดประกายจากชาวบ้าน เราเห็นมุมมองของชาวบ้านว่า ตำรวจต้องทำจริง ต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่มาแล้วก็ทิ้งเขาไป
“ผมเลยตัดสินใจว่า ต้องลงพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ประโยชน์มากสุด ให้ลูกน้องไปหาข้อมูลมาก่อนว่าชุมชนไหนมีปัญหาเยอะสุด เพราะถ้าเราไปที่มีปัญหาน้อยสุดไม่เจอปัญหา ปรากฏว่า มีปัญหาทุกที่ มีปัญหาหมดไม่ใช่แค่เรื่องยาเสพติด ก่อนสั่งให้ทุกคนช่วยกันทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง เข้าไปหาจนชาวบ้านรู้จักประสานทุกเรื่องที่ชาวบ้านมีปัญหา”
ผบ.ตร. คนใหม่กล่าวและแสดงความเห็นว่า
นายตำรวจระดับ ผกก. ต้องลงพื้นที่เอง เหมือนที่ตนทำในอดีตตำรวจทุกคนใน 236 โรงพักในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 3 หรือภาคอีสานใต้ ต้องลงพื้นที่ ตนอยากให้ยั่งยืน พอมาเป็น ผบ.ตร. จะให้ทำทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหายาเสพติดในชุมชนเพราะสร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับชาวบ้าน
ตนจะของบประมาณให้ด้วยจากทางจังหวัด เมื่อไปอยู่กับชาวบ้านตำรวจจะสร้างความคุ้นเคยจนเชื่อใจแล้วเอาปัญหามาบอกเพื่อเราจะวางแผนแก้ไข มาเสนอผู้บังคับบัญชาว่า แต่ละพื้นที่ มีผู้เสพกี่คน ผู้ค้ายาเสพติดกี่คน
“ผมได้ประสบการณ์ว่า หากทำจริงมันได้ประโยชน์ ชาวบ้านดีใจ มีคำขอร้องอยู่ไม่กี่ประโยค คือ ขออีกสักเดือนได้ไหม อยากให้ตำรวจมาอยู่ด้วยกันอีกสักเดือน รู้สึกว่า เดือนเดียวมันน้อยไป เราช่วยเขาได้เยอะ ผมถึงได้เรียนรู้ว่า โครงการปักกลดเข้าไปอยู่ในชุมชนมีประโยชน์จริงในการแก้ปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืนที่ถือว่า ประสบความสำเร็จ”
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า บรรดาหัวหน้าสถานีต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ สำรวจดูความประพฤติลูกน้อง ไม่ให้ไปทำความผิด ไปเยี่ยมบ้าน ใครมีปัญหาหนี้สิน ใครมีความเครียด เป็นโรคซึมเศร้า ก็ต้องรายงานมาอย่างเรื่องหนี้สินแก้ไม่ได้แต่ต้องรายงานกองบังคับการขึ้นมาเพื่อไปช่วยเรื่องที่เกี่ยวข้อง ถ้ากองบังคับการแก้ไม่ได้ก็ไปที่กองบัญชาการและอาจถึงระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“ถ้าผมไปสุ่มตรวจโรงพัก ถามผู้กำกับว่า ใครมีอะไร ต้องตอบได้นะ ถ้าตอบไม่ได้ แสดงว่า ทำไม่ดี อย่างกิจกรรมเสริมสร้างความสามัคคี ควรจะมี โดยเฉพาะต่างจังหวัด เช่น แข่งขันฟุตบอล เป็นต้นเพราะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม”
เขากล่าวและบอกต่อว่า จะไปเยี่ยมทุกจังหวัดลงชุมชนโดยไม่บอกล่วงหน้า เพื่อ ตรวจสอบการทำงานของตำรวจโรงพัก ว่ารู้ข้อมูลจริงในพื้นที่หรือไม่
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า
ในเรื่องของคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทางออนไลน์นั้นตนจะเข้าไปกำกับดูแลกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกรณีพิเศษเนื่องจากมีชาวบ้านเดือดร้อนเป็นจำนวนมากทและตนจะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในที่ประชุมตลอด เพื่อรวบรวมแก้ไขปัญหาของชาวบ้านทั่วประเทศ เมื่อชาวบ้านมาแจ้งความที่โรงพัก ก็จะให้ตำรวจ บช.สอท. เข้าไปช่วยแก้ปัญหาและดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ
ถามว่าระยะเวลา 1 ปีในการดำรงตำแหน่งผู้นำน้อยไปหรือไม่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ตอบหนักแน่นว่า มั่นใจทำได้เยอะ เพราะมีประสบการณ์ เป็นคนควบคุมหน่วยงานหลักมาโดยตลอด
“อะไรไม่ได้เกี่ยวกับตำรวจ ผมไม่ไป ผมจะไปเฉพาะงานยาเสพติด เรื่องความมั่นคง นอกนั้นไม่ไปประชุม ยุคนี้นักสืบเก่งเยอะ ผมเชื่อว่า ผมเอาอยู่”
เขากล่าวและบอกว่า จะต่อยอดเรื่องที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข สร้างนักสืบไว้ให้ดีตามที่มุ่งหมาย ไม่ให้ถูกย้ายไม่เป็นธรรม คนไหนทำงานดีต้องดูแลไม่ให้กระทบ เชื่อว่าผู้บังคับการสืบสวนแต่ละคนที่วางไว้ดีอยู่แล้ว สามารถเดินหน้าได้ทันที
บางกอกโพสต์ 6ต.ค.65
วัสยศ งามขำ
https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2408253/drug-control-road-safety-loom-large