ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ต.ค. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย ร่วมกับรองผบช.น.
โดยมีข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.น. ระดับผบก. รองผบก. และผกก. รวมทั้งสิ้น 236 นาย เข้าร่วมประชุม
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวถึงนโยบายการทำงานว่า
มีนโยบายสำคัญที่มุ่งเน้น คือ พิทักษ์ ปกป้อง และเทิดพระเกียรติเพื่อความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
การถวายความปลอดภัยฯในเส้นทางเสด็จทำความเข้าใจกับประชาชนที่ใช้เส้นทาง ผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ด้านความมั่นคงให้บังคับใช้กฎหมาย 100% เพื่อความสงบสุขของสังคม ต้องมีข้อมูลแหล่งที่พัก เช่น ร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์ที่อาจนำมาประกอบวัตถุระเบิด เป็นต้น
งานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมว่า ยึดหลักบังคับใช้กฎหมาย เน้นการป้องกัน เข้าหาประชาชน การใช้กำลังให้เหมาะสม และภาพพจน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
การรับแจ้งเหตุและการระงับเหตุโดยเร็ว พร้อมเน้นการจับกุมคดีอาชญากรรมที่รัฐเป็นผู้เสียหาย เนื่องจากผลการจับกุมของ บช.น. รอบ 11 เดือนที่ผ่านมาผลการจับกุมติดลบ
ด้านการอำนวยความยุติธรรม เช่น พนักงานสอบสวนต้องกล้าบังคับใช้กฎหมายและหาช่องทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย คดีที่รัฐบาลหรือสังคมให้ความสนใจ และคดีค้ามนุษย์
หัวหน้าหน่วยต้องกำกับดูแล ให้ความสำคัญกับการสอบสวน รอบคอบ ในการรวบรวมพยานหลักฐาน
ด้านงานสืบสวน ต้องเป็นมืออาชีพ ให้ความสำคัญกับทุกคดี การสืบสวนผู้ต้องหา แสวงหาพยานหลักฐานให้ครบถ้วน สนับสนุนฝ่ายสอบสวน ติดตามหมายจับค้างเก่า
ด้านงานจราจร การจราจรต้องคล่องตัว ลดอุบัติเหตุ บก.จร.แก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวม เน้นภารกิจอำนวยความสะดวกการจราจร ไม่เน้นยอดการจับกุม
มีการจัดการจราจร จุดวิกฤต เช่น กรณีน้ำท่วม ไฟไหม้ รถชน การตั้งจุดกวดขันจับกุมยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ (PM 2.5)
การตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ของบก.จร. การกวดขันวินัยจราจร และห้ามเรียกรับผลประโยชน์ หรือกลั่นแกล้งจับกุมโดยเด็ดขาด
ด้านการปราบปรามยาเสพติด ให้ใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบภายใต้กฎหมาย ตำรวจต้องไม่เข้าไปพัวพันยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หากตรวจพบให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและคดีอาญาอย่างเด็ดขาด
โดยหัวหน้าสถานี หรือผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด ต้องสอดส่องดูแลอย่างจริงจัง
“สำหรับนโยบายเฉพาะที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเน้นย้ำ ประกอบด้วย
1.การปราบปรามข่าวปลอมบิดเบือน/แพร่ระบาด/ชี้นำ (Fake News) มอบหมายให้ บก.สส.บช.น. เป็นเจ้าภาพหลัก
2.การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ฝุ่นละออง PM 2.5 มอบหมายให้ บก.น.1-9 เป็นเจ้าภาพหลัก โดยให้บก.จร.และ บก.อคฝ. เป็นหน่วยสนับสนุน
3.การปราบปรามค้ามนุษย์ เงินกู้นอกระบบ ผู้มีอิทธิพล บ่อนการพนัน
4.ปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้สื่อออนไลน์ เช่น การค้าอาวุธปืน หรือยาเสพติดทางออนไลน์
5.ปัญหาเด็กแว้นในพื้นที่จะต้องหมดไปเป็นศูนย์
6.ปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน
7.สถานบริการในพื้นที่ จะต้องไม่มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่มีอาวุธปืนและยาเสพติด” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าว
ผบช.น.ให้หลักคิดการทำงานว่า
รับผิดชอบงานในหน้าที่ ให้ดีที่สุด พึงระลึกเสมอว่าทุกข์เล็กๆของประชาชน หากไม่ได้รับการแก้ไข ทุกข์นั้นยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วปัญหานั้นจะย้อนกลับมาหาเรา (ตำรวจ) เอง