“บิ๊กต่าย” เซ็นหนังสือคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” พร้อมพวกรวม 5 คน ออกจากราชการ ปมฟอกเงินเว็บพนัน
คำสั่งให้”รองโจ๊ก“ออกจากราชการพร้อมพวก5นาย https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0NmGMPMvVR4xhb1cuMx53y93eaWMuUjSowqJDR2bxEqj3cPVfpmiVd8HXrQyQgJhXl&id=100064785276361
วันที่ 18 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. มีหนังสือคำสั่งที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย. เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ใจความว่า ด้วยข้าราชการตำรวจดังต่อไปนี้
1.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2.พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
3.พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธร พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
4.ส.ต.อ.ณัฐวุฒิ หวัดแวว ผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่จราจร) งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร
5.ส.ต.อ.ณัฐนันท์ ชูจักร ผู้บังคับหมู่ งานสายตรวจ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการ ตำรวจจราจร
มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน กรณีมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ ชื่อ BNKMASTER จนถูกดำเนินคดีอาญาและถูกศาลอาญาออกหมายจับในความผิดฐาน “สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการทำผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และ เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน”
และมีเหตุผลให้พักราชการได้ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 3(1) คือถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา โดยผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการตำรวจ มีหน้าที่และอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่กลับต้องหาว่ากระทำผิดทางอาญาเสียเอง ซึ่งเป็นคดีสำคัญ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง
ถ้าให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้ ประกอบกับได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาที่เป็นเหตุให้สั่งพักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 115 มาตรา 108 มาตรา 131 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ประกอบกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2549 ข้อ 8 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 118/2567 ลงวันที่ 20 มี.ค.2567 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทน
จึงให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กับพวก รวม 5 นาย ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ตาม
พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 141 ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์
รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ลงนามคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พร้อมพวกรวม 5 คน ออกจากราชการ ไว้ก่อน ตามความเห็นของฝ่ายกฎหมายและฝ่ายวินัยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกรณีตำรวจกระทำ ผิดเสียเอง ต้องหาคดีอาญา หากให้คงอยู่ในราชการอาจเสียหาย กระทบต่อความเชื่อมั่น ภาพลักษณ์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เย็นวันเดียวกัน พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณี สน.เตาปูน ได้มีการดำเนินคดีอาญากับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และข้าราชการตำรวจ รวม 5 คน ในคดีความผิดฐานฟอกเงินและอื่นๆ ตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้รายงานผลการดำเนินการมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานกฎหมายและคดี และกองวินัย ซึ่งเป็นฝ่ายอำนวยการของ ผบ.ตร. ได้เสนอเรื่องมายัง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. พิจารณาตามข้อกฎหมาย พฤติการณ์แห่งคดี และความร้ายแรงที่เกิดขึ้น จึงได้มีคำสั่ง ตร.ที่ 177/67 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการตำรวจทั้ง 5 นาย ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ทั้งนี้ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นการใช้อำนาจของ รรท.ผบ.ตร. ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ และเห็นว่าถ้าให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้ การสอบสวนทางวินัยจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว
ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 131 ประกอบกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ซึ่งในคดีนี้เป็นการต้องหาคดีอาญา ที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และมีการกระทำความผิดร่วมกันกับข้าราชการตำรวจและพลเรือนอีกหลายคน
ซึ่งตำรวจนั้นมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาญา แต่กลับต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาเสียเอง และเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับการฟอกเงิน กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง ถ้าให้คงอยู่ในราชการอาจเกิดความเสียหายต่อราชการได้
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ รรท.ผบ.ตร. จึงได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาลกับข้าราชการตำรวจ รวม 5 คน ออกจากราชการไว้ก่อน และได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อรับทราบแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ส่งตัว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ กลับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป