Monday, November 25, 2024
More
    Homeข่าวเด่นรอบวันบิ๊กแป๊ะเข้มแก้หนี้สินตำรวจและฆ่าตัวตาย

    บิ๊กแป๊ะเข้มแก้หนี้สินตำรวจและฆ่าตัวตาย

            
    ผบ.ตร.ออกมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาหนี้สินและการฆ่าตัวตายของผู้ใต้บังคับบัญชา
    วันที่ 29 พ.ย. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.มีหนังสือสั่งการ เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการตำรวจ และลูกจ้างประจำ ตร. ถึง จตช. รอง ผบ.ตร. ผบช.และผบก.
    โดยให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติ เพื่อให้การช่วยเหลือตำรวจและลูกจ้างประจำ ตร. ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ ให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
    และป้องกันการมีภาระหนี้สินจนเกินกำลังความสามารถในการชำระหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

     

    กำชับให้ทุกหน่วยงานจัดทำโครงการแก้ไขปัญหา ผู้ที่มีหนี้วิกฤติหรือมีปัญหาในการชำระหนี้  ให้เชิญเจ้าหนี้ทุกราย ร่วมเจรจาตกลงแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย

    พร้อมขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์หน่วยงานที่ลูกหนี้เป็นสมาชิกเข้าร่วมเจรจา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยให้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ถูกฟ้องล้มละลายเป็นลำดับแรก

    นอกจากนี้ยังให้สำรวจผู้มีหนี้วิกฤตหรือมีปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

    ด้วยการให้เจ้าหน้าที่การเงินของหน่วยงานนั้นๆ ออกหนังสือรับรองเงินเดือนให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามความเป็นจริงในการใช้เป็นหลักฐานประกอบขอกู้เงิน

    ส่วนผู้บังคับบัญชาที่ให้การรับรองการกู้ของตำรวจให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้เป็นข้อมูลประกอบการรับรอง ป้องกันการเกิดปัญหาการชำระหนี้ในอนาคต

    ให้ จต. ตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ ตร.ของทุกหน่วยงาน ในการตรวจราชการประจำปี
            
    สำหรับกรณีมีตำรวจฆ่าตัวตายอันเกิดจากปัญหาความบีบคั้น ไม่ว่าจากสภาพการปฏิบัติงาน หรือปัญหาชีวิตส่วนตัว

    หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่สอดส่องดูแลช่วยเหลือเร่งด่วนจนเกิดความสูญเสีย ให้พิจารณาความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537

    ให้ทุกหน่วยงาน ระดับ กก. และระดับสถานีตำรวจ แต่งตั้ง “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว”

    ประกอบด้วยตำรวจในสังกัดที่เหมาะสม มีบุคคลภายนอกเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือร่วมเป็นกรรมการได้

    ให้มีหน้าที่วิเคราะห์ ศึกษาปัญหา ให้ความช่วยเหลือตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างเร่งด่วน ประสาน รพ.ตร.หรือสถานพยาบาลในพื้นที่

    ขอความร่วมมือกับผู้นำศาสนาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดจนเครือข่ายชุมชนทุกภาคส่วน อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย
            
    นอกจากนี้ มอบหมายให้ รพ.ตร. จัดอบรมให้แก่ “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” ที่ทุกหน่วยจัดตั้งขึ้น

    ในเรื่องของการให้ความรู้ ทักษะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย

    รวมถึงการดูแลจิตใจของผู้พยายามฆ่าตัวตาย ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจของปัจจัย สาเหตุ วิธีสังเกต สัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย มีความสามารถระงับยับยั้งการพยายามฆ่าตัวตายหรือรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตได้

    ให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ให้ตำรวจในสังกัดรับทราบในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพจิต ติดต่อ รพ.ตร. และสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323

    ให้ สท. ประสานข้อมูล รพ.ตร. ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย แนวทางเฝ้าระวังและการดูแลเบื้องต้น จัดทำเป็นวีดีทัศน์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ จัดส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ข้าราชการตำรวจทราบโดยทั่วกัน
            
    ส่วนมาตรการดำเนินการระยะกลางให้ทุกหน่วยงานจัดตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภาวะการติดสุราเรื้อรังหรือสารเสพติด  มีนักจิตวิทยาร่วมตรวจด้วย

    โดยประสาน รพ.ตร. หรือสถานพยาบาลในพื้นที่ แล้วรายงาน ตร. ทราบเป็นประจำทุกปี ให้ บช.ศ. รร.นรต. และศูนย์ฝึกอบรมประจำหน่วยงา

    สอดแทรกเนื้อหาการวางแผน การเงินส่วนบุคคล ไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งมิใช่หลักสูตรการฝึกทางยุทธวิธีตำวจ ตามความเหมาะสมกับระยะเวลาของหลักสูตร เพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงิน ป้องกันปัญหาการมีหนี้สินล้นพ้นตัว

    ทั้งนี้ให้ จต. ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการ ตำรวจฆ่าตัวตายของทุกหน่วยงานในการตรวจราชการประจำปี

    มาตรการระยะยาว มอบให้โรงพยาบาลตำรวจจัดตั้งศูนย์ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) โดยจัดทำรายละเอียดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และแนวทางการดำเนินงานนำเสนอ ตร. พิจารณาต่อไป

    พร้อมกันนี้ขอประชาสัมพันธ์ ข้าราชตำรวจหรือญาติที่พบว่าข้าราชการตำรวจ ที่มีความเสี่ยงที่อาจก่อเหตุฆ่าตัวตาย ให้สังเกตสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

    เช่น พูดถึงความตายหรือการฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย ,พูดหรือเขียนสั่งเสีย ,เคยพยายามฆ่าตัวตาย , เศร้าซึม แยกตัวเอง , ป่วยเป็นโรคจิต ,

    ติดสุราหรือยาเสพติด จนเลิกไม่ได้ , เกิดการโต้เถียง ทะเลาะวิวาทรุนแรงบ่อยๆ เป็นต้น ควรหันหน้าปรึกษาญาติหรือผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments