บิ๊กก้อง–พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผบช.ก.
เป็นนายตำรวจนักสืบชนิดกัดติด เกาะไม่ปล่อย ผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนหลายต่อหลายคดี
ล่าสุดนำทีมกองปราบฯขย่มเครือข่ายค้าปืนออนไลน์ ชุมชนตลาดดำ จนราบคาบ
จับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องค้าปืนออนไลน์หลายคน. ยึดปืนชนิดต่างๆร่วม200 กระบอก แถมระเบิดอีก14ลูก
วันนี้จะพาไปอินไซต์ถึงเรื่องปืนของนายพลหนุ่มนักสืบคนนี้ครับ
ปืนรางวัล ของเดอะก้อง-จิรภพ
รองก้อง-พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผบช.ก.นายตำรวจหนุ่มมือปราบอนาคตไกล
ก่อนการลุกจากเก้าอี้ ผบก.ป. เจ้าตัวสร้างชื่อฝากไว้กับหน่วยงานด้วยการพิชิตคดีอุกฉกรรจ์ทั่วประเทศ
ที่ลือลั่นนั่นก็คือการพิชิตคดีอุ้มฆ่าเผาพี่ชายผู้พิพากษา จับกุมพ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รุ่นพี่โรงเรียนนายร้อย อดีต รมช.พาณิชย์
อันสืบเนื่องมาจากคดีฆาตกรรมอำพรางเสี่ยจืด-นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง เพื่อนสนิทปมโกงหุ้น300ล้านบาท ต่อเนื่องมาถึงคดีบงการอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา
มีจังหวะได้เข้าไปในห้องทำงานของนายตำรวจมือปราบ สายตาไปสะดุดกับปืนลูกโม่สีดำสนิท ที่ตั้งอยู่ในกรอบกระจกโชว์
มีป้ายอักษรโลหะสลักไว้ว่า รางวัลเกียรติยศชนะเลิศแข่งขันยิงปืน นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น50
เอ่ยปากถาม ปืนกระบอกนี้ มีที่มาอย่างไรถึงมาตั้งประดับไว้ในห้อง
นายพลตำรวจหนุ่มยิ้มเต็มใบหน้าก่อนเล่าให้ฟังว่า
เป็นปืน .38 Smith&Wesson เป็นปืนรางวัล คือที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขาจะสอนยิงปืนอาทิตย์ละครั้ง เป็นวิชาเรียน ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4
สำหรับรุ่นผม เอาคะแนนของปี 4 สมมติว่าอาทิตย์ละครั้ง ก็เก็บคะแนนทุกครั้ง เก็บไปเรื่อยๆจนถึงท้ายๆ ปลายปี
เขาจะเอาที่ 1-20 มายิงแข่งกันใหม่ มายิงแข่งกันเฉพาะปี แต่ละรุ่น ผมได้ที่ 1 เลยได้ปืนรางวัล
เขาจะให้ นรต.1 รุ่น คือให้ 1 กระบอก ภูมิใจมาก เพราะไม่คาดคิดมาก่อน ว่าจะได้
แล้วค่อนข้างได้อาจารย์ที่มีฝีมือมา อย่างนักกีฬายิงปืนทีมชาติ
อย่างอาจารย์อุ้ม -พล.ต.ต.ภาสกร สถิตยุทธการ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เป็นอาจารย์อีกคนหนึ่งที่สอนหลักการให้ ผมก็ยึดหลักนั้น เวลายิงก็ยึดตามนั้น
นายพลหนุ่มมือปราบเล่าให้ฟังต่อว่า
สิ่งเหล่านั้นได้นำมาปรับใช้ในการทำงาน คือตำรวจกองปราบ เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ส่วนใหญ่ จะต้องลงภาคสนาม
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการยิงปืนแบบยุทธวิธี มันจะต้องมีการฝึกฝน
อย่างผมจบจากโรงเรียนนายร้อย เขาก็สอนผมแค่ระบบเอ็นอาร์เอ คือยิงเป้ากลม ช้า เร่ง เร็ว ผมว่ามันเป็นพื้นฐาน
“แต่ผมมองว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงภาคสนามอย่างกองปราบ มันจะต้องมากกว่านั้น”
ต้องชักปืนจากซอง ยิงได้ทันที มันต้องมียุทธวิธีในการยิง
ถ้าเราฝึกมาแค่ยิงเป้า มันจะคิดช้า คิดช้าไปแค่เพียงเสี้ยววินาที ก็ถึงชีวิตแล้ว
สถานการณ์จริง บางคนตกใจ บางคนไม่พร้อม
ตอนเป็นผู้การกองปราบฯเลยมีนโยบาย ให้ทดสอบการยิงปืนทุก 6 เดือน ของกองปราบทั้งหมด
ทุก 6 เดือนจะต้องทดสอบยิงปืน มีเป็นสเต็ป หมายถึงว่าครั้งแรก ยิงเอ็นอาร์เอ เป็นพื้นฐาน ถ้าใครผ่านก็ไปยิงสเต็ป 2
จะเหมือนกับเป็นภาคปฏิบัติ ไปฝึกที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไปทดสอบกันที่นั่น
คือทั้งสอนด้วย ทั้งทบทวนด้วย แล้วทดสอบด้วยทุก 6 เดือน
แล้วจะมีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ไขว้กันเป็นควอเตอร์ 1-3 ยิงปืน 2-4 ก็จะเป็นร่างกาย
การทดสอบของเราค่อนข้างจริงจัง เพราะถือว่าถ้าลงสนามแล้ว ต้องปฏิบัติหน้าที่ได้
คือถ้าเราเห็นตำรวจบางคน อาจจะร่างกายอ้วน ไม่ไหว ชักปืนก็ช้า
แล้วเห็นเหตุการณ์อย่างที่เกาะสมุย มีตำรวจสายตรวจประสบเหตุคนบ้าถือมีดวิ่งเข้ามาหา ตัดสินใจไม่ถูกจะทำยังไง ไม่กล้ายิง
ก็วิ่งหนีแล้วสะดุดหกล้ม คนบ้าชักปืนยิงตายคาที่ เป็นปืนตัวเองด้วย
ผมมองว่า ตำรวจกองปราบ จะต้องไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น จะต้องตัดสินใจเร็ว เพราะฉะนั้นจะต้องฝึก นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง
นี่คือแนวคิดการใช้อาวุธของ รองก้อง-พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผบช.ก. สมดั่งสโลแกนเจ้าตัวที่ว่า
“มืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน..”
โรนิน13/6/64