กองปราบทลายแก๊งอินเดียน่าโจนส์ไทยแลนด์ ลักลอบขุดโบราณวัตถุขายออนไลน์ ยึดของกลางนับพันชิ้น อึ้งเจอรูปปั้นช้าง-วัวสัมฤทธิ์โบราณ อายุกว่า 1,600 ปี
วันที่ 4 ก.ย.66 ที่ บก.ป.พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป. ร่วมกับนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ,นายมนตรี ธนภัทรพรชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย และ นายชินณวุฒิ วิลยาลัย ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากร
ร่วมแถลงผลการจับกุมแก๊งนักล่าสมบัติโบราณโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก หลังนำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 9 จุด ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, พะเยา, สุโขทัย และ ลำปาง
จากปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องหาขบวนการดังกล่าว ได้ 3 ราย ประกอบด้วย นายทศพร อายุ 26 ปี นายทศพล อายุ 19 ปี 2พี่น้อง และ นายศรีออน อายุ 46 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “เบียดบังเอาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นไปเป็นของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และ จำหน่าย เอาไปเสีย ซึ่งโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ โดยผิดกฎหมาย” พร้อมของกลางเครื่องสแกนโลหะ 11 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์การขุดโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 970 ชิ้น สมุดบัญชีธนาคาร 4 เล่ม
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ป. รับแจ้งเบาะแสจากกลุ่มผู้อนุรักษ์โบราณวัตถุ ว่า มีกลุ่มบุคคลลักลอบขุด โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ก่อนนำไปโพสต์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ จึงประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรร่วมกันสืบสวน จนพบว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง ก่อนวางแผนติดต่อล่อซื้อ รูปปั้นโบราณ 2 ชิ้นในราคา4พันบาท
เมื่อได้รับสิ่งของทั้ง 2 อย่างมาแล้ว จึงนำวัตถุโบราณที่ได้มาส่งตรวจพิสูจน์ที่สำนักศิลปากร กรมศิลปากร พบว่าเป็นโบราณวัตถุจริง ตรวจสอบพบเป็นรูปปั้นแกะสลักวัวสัมฤทธิ์โบราณ อายุ ประมาณ 1,600 ปี และ รูปปั้นช้างสัมฤทธิ์มีแท่นตราประทับ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 เจ้าหน้าที่ได้เร่งสืบสวนขยายผลรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดทั้งขบวนการ
พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4บก.ป. กล่าวว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้จะเริ่มจากการตั้งกลุ่มออกตระเวนขุด โบราณวัตถุตามโบราณสถานต่างๆ หรือ ดำน้ำงมหาสิ่งของริมแม่น้ำใหญ่ๆ ตามพื้นที่ จ. พะเยา, สุโขทัย และ ลำปาง ราชบุรี
ระหว่างที่ออกไปขุดหรือดำน้ำงมหานั้นของมีค่านั้น ผู้ต้องหากลุ่มนี้จะมีการถ่ายทำเป็นคลิปวิดีโอ คล้ายกับลักษณะการสร้างคอนเทนต์นำไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆเพื่อดึงดูดผู้ที่สนใจ จากนั้นเมื่อได้โบราณวัตถุมาจะนำไปโพสต์ประกาศขายเพจเฟซบุ๊ก หรือ นำไปขายตามร้านรับซื้อวัตถุโบราณต่างๆในพื้นที่ จ.เชียงใหม่
ผกก.4.บก.ป. กล่าวต่อว่า นายทศพรกับนายทศพล รับสารภาพว่าทำมานานหลายปีแล้ว เพราะไม่ทราบว่าผิดกฎหมาย ส่วนเงินที่ได้นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนนายศรีออน ให้การปฏิเสธ ในส่วนนี้ไม่ได้หนักใจอะไร เพราะมั่นใจในพยานหลักฐาน อีกทั้งจากการตรวจสอบบัญชีธนาคารผู้ต้องหาทั้งหมดพบมีรายได้ต่อเดือนตกเฉลี่ยประมาณ 200,000 บาท และ เฉพาะในช่วงเวลา 3 ปี มียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 10 ล้านบาท เบื้องต้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป. ดำเนินคดีพร้อมขยายผลหาผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรณีผู้พบเจอสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ขอให้นำส่งกรมศิลปากรตรวจสอบ ไม่ควรยึดถือไว้เป็นของตนเอง เพราะมีความผิดตามกฎหมาย หากส่งคืนจะมีเงินรางวัลมอบให้บางส่วนด้วย
สำหรับของกลางโบราณวัตถุที่พบครั้งนี้ มีสองชิ้นที่เป็นรูปปั้นวัว-ช้างสัมฤทธิ์ พบมีอายุมากถึง 1,600 ปี บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางการค้าตั้งแต่โบราณ หากสิ่งของเหล่านี้หลุดรอด หรือสูญหายไปจากประเทศ จะต้องสูญเสียหลักฐานสำคัญของชาติที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อีกด้วย