ผบ.ตร. โชว์ผลงานก่อนเกษียณ ตามนโยบายเข้าถึงประชาชน กำหนดตำแหน่ง สว. ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ในสถานีตำรวจ 487 ตำแหน่งทั่วประเทศ เชื่อมตำรวจกับชุมชน สร้างภาพลักษณ์องค์กร เริ่มใช้วาระแต่งตั้งปี 66 นี้
วันที่ 28 ก.ย.66 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “ ตามนโยบาย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มุ่งเน้นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ภัยออนไลน์ ยาเสพติด การป้องกันและลดอุบัติเหตุ จากการประเมินผลการปฏิบัติในห้วงที่ผ่านมาพบว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดจากการทำหน้าที่ของตำรวจในหน้างานชุมชนสัมพันธ์ ในการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน
ผบ.ตร. ได้เล็งเห็นความสำคัญกับการปฎิบัติงานด้านชุมชนสัมพันธ์ในสถานีตำรวจ จึงได้ลงนามอนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน เพื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ให้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศ ตามที่ อ.ก.ตร.บริหารทรัพยากรบุคคลเสนอ รวมทั้งสิ้น 1,938 ตำแหน่ง
แบ่งเป็น สว.(ป้องกันปราบปราม) ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ หรือ สวป.(ชส.) 487 ตำแหน่ง ในสถานีตำรวจขนาดใหญ่ 437 สถานี และสถานีตำรวจขนาดกลางในพื้นที่ตำรวจนครบาล 50 สถานี และรอง สว.(ป้องกันปราบปราม) ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ หรือ รอง สวป.(ชส.) 1,451 ตำแหน่ง สำหรับสถานีตำรวจขนาดกลางและเล็กในสังกัด ภ.1-9
การกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ในสถานีตำรวจเพื่อเป็นแม่งานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยใช้งานด้านชุมชนสัมพันธ์ ประสานงานชุมชน ทุกภาคส่วน เข้าไปร่วมแก้ไข นำข้อมูล มาให้สายงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนการป้องกันและลดอุบัติเหตุ รวมถึงโครงการสำคัญ เช่น ชุมชนยั่งยืน การประสานท้องถิ่นติดกล้องวงจรปิด เป็นต้น
สำหรับหลักเกณฑ์การแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งชุมชนสัมพันธ์จะต้องพิจารณาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และผลการปฏิบัติด้านชุมชนสัมพันธ์ การแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาชน ชุมชน องค์กรต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะตำแหน่ง สว.(ป้องกันปราบปราม) ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ หรือ สวป.(ชส.) จำนวน 487 ตำแหน่ง
ต้องมีการประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจริงๆประเมินจากคุณสมบัติบุคคล คุณลักษณะของบุคคล และมีผลการประเมินด้านชุมชนมวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น การปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์ในสถานีตำรวจ การดำเนินการตามโครงการชุมชนยั่งยืน การทำหน้าที่ครูตำรวจแดร์ งานชุมชนสัมพันธ์อื่นๆ การแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆการประสานงานกับ กต.ตร. นอกจากนี้ ต้องมีผลทดสอบความรู้ในงานมวลชนสัมพันธ์ผ่านเกณฑ์ตามที่ ตร.กำหนดด้วย
ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการประเมินการปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์ 2 ส่วน คือ คณะกรรมการประเมินระดับสถานีตำรวจ และระดับกองบังคับการ ซึ่งหลักเกณฑ์การคัดเลือก ประเมินดังกล่าว จะนำมาใช้ในการแต่งตั้งบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งได้ในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2566 นี้ เพื่อคัดเอาคนที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมจริงๆ
เชื่อว่าตำแหน่ง สว. ทำหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ นอกจากจะช่วยในมิติงานป้องกันปราบปราม งานยาเสพติด งานอาชญากรรมออนไลน์ และการป้องกันลดอุบัติเหตุแล้ว ยังจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปด้วย