Sunday, July 13, 2025
More
    Homeท่องปทุมวัน”ผู้การเขตไซเบอร์4“แนะรับมือโจรออนไลน์ มีอะไรให้ “เอ๊ะ”ไว้ก่อน

    ”ผู้การเขตไซเบอร์4“แนะรับมือโจรออนไลน์ มีอะไรให้ “เอ๊ะ”ไว้ก่อน

    เมื่อวันที่ 15 พ.ค.68  มีพิธีเปิดอาคารที่ทำการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งอยู่หมู่ 3 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  

    มี พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., คุณฐาณิญา ผิวพรรณ ประธานชมรมแม่บ้านตำรวจ บช.สอท. และรอง ผบช. สอท., ผบก. สอท., ข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.สอท., สมาชิกชมรมแม่บ้านตำรวจ บช.สอท. เข้าร่วมในพิธี

    บก.สอท.4 เป็นหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญในการป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในพื้นที่ 17 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างและภาคเหนือตอนบน


    ปัจจุบันมี
    ล.ต.ต.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ นั่งเก้าอี้ ผบก.สอท.4

    วันนี้จะพามารู้จักกับ ล.ต.ต.กฤตัชญ์ หรือ “ผู้การเขต ไซเบอร์4”ให้มากกว่าเดิม

    จัดว่ามีสายเลือดตำรวจเข้มข้นไม่แพ้ใคร ลูกชายคนที่ 2 จาก 3 คนของ ด.ต.ลิ่ม บำรุงรักษ์ ตำรวจภูธรบาเจาะ นราธิวาส แต่ผู้การเขต ถือกำเนิดเกิดที่รามัน ยะลา

    ความเป็นตำรวจซึมซับในสายเลือดตั้งแต่เกิด เห็นตำรวจทำงานโลดโผนท้าทายและได้ช่วยคน

    “ผมจบโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยแล้วเข้ากรุงเทพ มาตามฝันตามลำพัง ลุยอ่านหนังสือเรียนกวดวิชา วิ่งออกกำลังกายรอบสวนจิตรลดาทุกวัน มีคุณพ่อให้กำลังใจ

    มุ่งมั่นสอบเตรียมทหารได้รุ่นที่ 30 เลือกเหล่าตำรวจตามรอยคุณพ่อ…”

    จบโรงเรียนนายร้อยสามพราน รุ่น 46 ปี 2536 ตำแหน่งแรกคือ รอง สว.สอบสวน สน.ภาษีเจริญ จากนั้นโยกมาเป็น รอง สว.สอบสวน คนที่ 1 ของ สน.โชคชัย หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ แยกจาก สน.ลาดพร้าว


    จำได้เลย วันนั้นที่ทำการก็ยังไม่มี ยังเช่าตึกแถว 2 คูหา ตรงสามแยกในซอยลาดพร้าว 71 ด้วยความที่ไม่มีที่ทำการ และเราเป็นน้องเล็กสุดก็ให้เราเข้าเวรคนแรก ความที่ตรงนั้น วันนั้นมันยังไม่พัฒนา ยังไม่มีอะไร เป็นป่ารกชัฏ มันเป็นที่ทิ้งศพ เปลี่ยวมาก

    “นั่งทำงานปุ๊บวันแรก พอเที่ยงคืนมีวัยรุ่นเข้ามาถาม ผู้หมวด มีเหตุอะไรที่นี่เหรอ เห็นมีตำรวจมาเฝ้า ก็ต้องบอกว่าที่นี่เป็นโรงพัก

    เพราะตอนนั้นมันเป็นตึกแถว  มีไฟแบบแรงเทียนห้อยลงมา เหมือนตึกร้าง…

    ผู้การเขตย้อนอดีตแล้วหัวเราะ

     
    ถนนสีกากีเริ่มจาก 3 โรงพักนครบาล
     

    พอวันต่อมา มีการส่งมอบสำนวนการสอบสวน พื้นที่ตรงนั้นก่อนนั้นค่อนข้างมีคดีเยอะ รับมอบสำนวนมาลายร้อยคดี ผมรับคนเดียว 200 คดี ก็ทำงานสอบสวนอยู่ 3 ปี คดีเยอะมาก 3 ปีรับคดีคนเดียว น่าจะ 2,000 คดี แล้วย้ายมาเป็น รอง สว.สืบสวน สน.วังทองหลาง ชีวิตก็อยู่ในนครบาล ถึงแค่วังทองหลาง

    ช่วงต้นอยู่กองปราบอย่างเดียว 

    จากนั้นย้ายเข้ากองปราบเป็น รอง สว.ผ.3 กก.2 ป. สารวัตรตอนนั้นคือพี่ต๊อก-พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ จากนั้น เป็นนายเวร แล้วเป็น สว.แผนก 4 กก.3 ป. ต่อด้วย ผ. 3 กก.3 ป. และสว.ผ.3 กก.2 ป. ตามลำดับกระทั่งขึ้น รอง ผกก.1 บก.ป.

    ต่อด้วยภูธร-ตม.-ปคม-ไซเบอร์ 

    อยู่ยาวจนขึ้น ผกก.2 ปอศ. ตอนนั้นอายุแค่ 38 ปี อยู่ 2 ปี ก็หมุนมาเป็น ผกก.1 ปทส.

    แล้วไปช่วยงานท่านพล.ต.ท.อนุชัย เล็กบำรุง ผบช.ภ.4 ท่านให้ไปเป็น ผกก.เมืองขอนแก่น

    ต่อมามีเหตุการณ์บ้านเมือง มีการปฏิวัติขึ้นมา ถูกไปเป็น ผกก.อก. ที่ จ.ระนอง เป็นผู้กำกับรวมแล้ว 8-9 ปี

    จากนั้นผู้บังคับบัญชาดึงมาช่วยงาน เป็นรอง ผบก. ตม.1 รอง ผบก.ตม.3 รอง ผบก.ปคม. รอง ผบก.สอท.1 รวม 5 ปี ขึ้น ผบก.สอท.4 คำสั่งปีที่ผ่านมา ปี 2567 ดูแลรับผิดชอบ 17 จังหวัดภาคเหนือ คือของ ภาค 5-6


    บู๊ครั้งแรกบุกช่วยตัวประกัน

     คดีสำคัญ ๆ ที่ได้ทำมาเยอะมากตั้งแต่กองปราบ ตอนที่ยังเป็นเด็ก ๆ สมัยก่อนมีคดีนักธุรกิจชาวมาเลเซียถูกจับเรียกค่าไถ่ ตอนนั้นพี่ต๊อก-พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ เป็น สว. ใช้เวลาแกะรอย 1 วัน ก็ช่วยเหลือเขาออกมาได้ เขาถูกกักอยู่แถวปราจีนบุรี แล้วเราเข้าไปช่วยเขาได้ด้วยตัวเราเองเลย โชคดีวันนั้นไม่มีปะทะ

    ตอนนั้นเข้าไปกับ รองแป๊น-วันชนะ ธรรมเสมา ตอนนี้เป็นรองผบช.ตชด.เข้าไปด้วยกัน แล้วคนที่ลักพาตัวไปก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจจะนอกลู่นอกทางก็เอาไปเรียกค่าไถ่ ก็ช่วยออกมาได้ ก็ดีใจ งานบู๊ครั้งแรก

    เรียนรู้วิชาจากนักสืบมีชื่อ 

    ตอนอยู่กองปราบ มีจับยาเสพติดจำได้ว่าได้รับรางวัลจากท่านนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับประกาศรางวัลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 ปีซ้อนเลย ตอนนั้นเป็น สว.ผ. 4 กก.3 ป. สว.ผ.3 กก.3 ป. และ สว.ผ.3 กก.2 ป.

    ตอนนั้นมีท่านจารุวัฒน์ ไวศยะ เป็น ผกก.3 ป. จากนั้นเป็นท่านสุทิน ทรัพย์พ่วง ท่านกิตติ สะเภาทอง พี่ช้างก็มาอยู่ พี่แป๊ะก็อยู่ ตอนนั้น ในยุคนั้น ถ้าตำรวจที่มีชื่อเสียง ก็มีพี่แป๊ะ พี่ช้าง ตอนนั้นผมอยู่ตั้งแต่พี่อัศวิน ขวัญเมือง พี่สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ พี่วินัย ทองสอง เป็นผู้การกองปราบฯ อยู่ในยุคนั้นเลย

    อยู่ปคม.สยบเพจอวตาร 

    ทำคดีไซเบอร์เยอะ ลักษณะพวกองค์กรในส่วนของค้ามนุษย์ ตอนอยู่ปคม. ได้ทำคดีร่วมกับพี่ตุ้ม-วิวัฒน์ คำชำนาญ ผบก.ปคม.ในขณะนั้น มีคดีสำคัญที่ช่วยคนได้เยอะ เช่น เพจอวตาร

    เด็กอายุ 10 กว่าขวบ ถูกล่อลวงโดยคนอายุมากกว่า แล้วท้ายสุดเขาไปฆ่าตัวตาย เคสนี้สำคัญมาก เป็นเคสที่เด็กได้รับผลกระทบจิตใจอย่างรุนแรง แล้วตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง


    ช่วงแรกๆใช้โซเชียลหลอกลวง

    ผมเอาเป็นเคสสตัดดี้ ที่ผมได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนไปที่อเมริกา ที่ซีแอทเทิล ไปนำเสนอแลกเปลี่ยนรูปแบบคดีที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ เขาสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ คดีนี้ยากมาก เพราะผู้ก่อเหตุสร้างอวตารขึ้นไปหลอกเหยื่อ กว่าจะแกะรอยได้ใช้เวลานาน

    เป็นช่วงแรก ๆ ของการใช้โซเชียลหลอกลวง คือมีชื่อมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เป็นกลุ่มเฉพาะ ผู้ก่อเหตุมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รู้ช่องทางหลบหนีการติดตามของตำรวจ

    ตุ๋นออนไลน์ต้มลงทุนคดียอดฮิต 

    เป็นผู้การไซเบอร์ 4 รับผิดชอบทางภาคเหนือ ผมว่าคดีมันเยอะ จริง ๆ คดีไซเบอร์ต้องดูที่มันเกิดขึ้นก่อน ในประเทศนี้ คดีที่เกิดขึ้น โวลลุ่มมันเยอะ คือหลอกซื้อของแล้วไม่ได้ของ แต่ความเสียหายมันอยู่ในระดับที่อาจจะถัดลงมา

    แต่คดีที่เสียหายมากที่สุด คือคดีพวกหลอกลงทุน เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นพวกกลุ่มเปราะบาง หมายถึงคนที่อายุเยอะ หรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 พวกนี้จะถูกหลอกให้โอนเงินคราวละมาก ๆ

    ผบช.ไตรรงค์ ได้รับข้อมูลจากอินเตอร์โพล ว่า ณ วันนี้ มีความเสียหาย 1 ล้านล้านยูเอสฯ นะ ในภาพรวม ภาพใหญ่ ทั้งโลกคือมากกว่าคดียาเสพติดอีก

    ดังนั้น โทษของมัน เมื่อเทียบกับคดียาเสพติดต่างกันเยอะ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันมาก มิจฉาชีพที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้เยอะกว่า

    ไทยเข้มปราบปรามแนวชายแดน 

    ในส่วนประเทศเราต้องยอมรับว่า ตำรวจพยายามยกระดับป้องกัน ช่วงที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รัฐบาลก็ได้ทำในเชิงนโยบาย ประสานประเทศเพื่อนบ้านสกัดกั้นยับยั้งแหล่งที่เป็นฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดน ทำให้พวกนี้แตกกระเซ็นกระสาย ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ก็ให้ความร่วมมือ

    เหยื่อเริ่มได้เงินคืน 100% 

    ล่าสุดผมว่าน่าจะเป็นครั้งแรกอีก เหยื่อได้รับเงินคืน 100% คือเหยื่อเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว เขาถูกหลอกให้โอนเงินไป อาจจะถูกหลอกว่า ถ้าคุณไม่แจ้งข้อมูล หรือไม่ดำเนินการจะไม่ได้รับสิทธิบำนาญ ตอนแรกเขาก็ไม่เชื่อ แต่ด้วยความที่มิจฉาชีพเหล่านี้ อาศัยจุดอ่อนด้านจิตใจมนุษย์ ก็พูดจนกระทั่งเขาหลงกลโอนเงินไปประมาณ 8 แสนบาท

    แบงก์สงสัยฟรีซเงิน-แจ้งต่อไซเบอร์ 

    เคสนี้เป็นเคสที่ธนาคารเห็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ ก็เลยแจ้งมาให้ทางไซเบอร์ นี่ก็คือมิติใหม่ เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกับทางตำรวจไซเบอร์ เรื่องนี้เกิดเมื่อกลางเดือน พ.ค. พอเราทราบ เราก็อายัดเงิน พออายัดเงินแล้ว คราวนี้ก็เป็นเรื่องเทคนิคในการสืบสวน

    ธนาคารเขาแจ้งมา แล้วเขาก็ฟรีซเงินไว้ก่อน แล้วให้ตำรวจตรวจสอบว่ามีธุรกรรมที่ผิดปกติ พอตำรวจทราบก็พิสูจน์ทราบว่าใครคือผู้เสียหาย บัญชีม้าที่รับเงินคือบัญชีใคร หลังจากนั้นก็เรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำ แล้วตั้งเป็นคดี ไล่สืบสวนขยายผล จนกระทั่งจับผู้ต้องหามาได้

    ขรก.บำนาญเหยื่อตุ๋น

    ผู้ต้องหายอมรับนี่ไม่ใช่เงินเขา เป็นเงินที่เข้ามาในบัญชี แล้วในทางเทคนิคมันก็ไม่มีเงินอื่นเจือเลย ไม่มีเงินจากผู้ที่ถูกหลอกรายอื่นเข้ามาเลย พอไม่มีปุ๊บเลยมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เงินนี้คือเงินผู้เสียหาย แล้วผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมไม่โต้แย้งอะไร ก็คืนเงินให้กับผู้เสียหายรายนี้ได้ 100% เลย

    เขาดีใจมาก แล้วเขาก็มาสัมภาษณ์ว่าเขาเป็นข้าราชการบำนาญ เงินก้อนนี้เป็นเงินที่ใช้ดูแลชีวิตบั้นปลายของเขา นี่คือตัวอย่างหนึ่งหลังแบงก์เอ๊ะ

    อีกเคสสกัด 200 ล.ก่อนถึงมือโจร 

    ล่าสุดมีอีกเคสหนึ่งคือบริษัทจากต่างประเทศโอนเงินเข้ามาในบัญชีหนึ่งในประเทศไทย แล้วธนาคารเห็นธุรกรรมมีพิรุธ เพราะเงินที่โอนเข้ามาประมาณ 200 ล้าน มีคนไปถอนแบบน่าสงสัยทีละ 10 ล้าน เขาก็มาแจ้งไซเบอร์  ท่าน ผบช.ไตรรงค์ ตั้งทีมขึ้นพิสูจน์ทราบ จนทราบว่าเป็นพฤติการณ์มิจฉาชีพที่น่าสงสัยจริง ๆ เลยฟรีซเงินไว้ได้

    โจรใช้ไทม์มิ่งวันหยุด 

    ห้วงนั้นเป็นห้วงที่อยู่ในห้วงวันหยุดเพราะฉะนั้นจะติดต่อไปที่ต้นทางก็ลำบาก มิจฉาชีพเขาก็ดูไทม์มิ่งเหมือนกัน ติดต่อยาก พอติดต่อยากแต่ด้วยสัญชาตญาณตำรวจ ด้วยการรวบรวมพยานหลักฐาน เชื่อว่ากลุ่มนี้คือมิจฉาชีพ เลยขออนุมัติหมายศาลในข้อหาซ่องโจร

    ท้ายสุดนี่ พอผ่านไป 2-3 วัน สถานทูตที่ดูแลบริษัทต้นทางในต่างประเทศ ก็ทำหนังสือมาบอกว่ามีเหตุอย่างนี้เกิดขึ้น ถือเป็นเคสที่น่าประทับใจนะ เพราะว่าเงิน 200 กว่าล้าน สามารถที่จะสกัดกั้นไม่ให้มิจฉาชีพเอาไปได้

    เป็นของประเทศญี่ปุ่น เขามาขอบคุณเราเรื่อย ถือเป็นความกล้าหาญที่เราทำ เพราะเราทำด้วยเจตนาสุจริต

    ต้องขับเคลื่อนให้ทันเล่ห์มิจฉาชีพ 

    ความจริงในการต่อสู้คดีไซเบอร์ 1. มันจะต้องรวดเร็ว การขับเคลื่อนจะต้องเป็นหน้ากระดาน ต้องมีองคาพยพ ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการมือถือ หรือว่า กสทช. ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนเป็นหน้ากระดาน

    เพราะให้ตำรวจทำงานเพียงลำพังไม่เท่าทันมิจฉาชีพ เพราะเชื่อว่ามิจฉาชีพเขาได้ข้อมูลมา เขามีเอไอที่เป็นตัวช่วยในการรู้ข้อมูลของเรา คือข้อมูลของเรา เราต้องยอมรับว่ามันหลุดไปนานแล้ว

    ทิศตะวันตกพฤติกรรมต้มชาติอื่น 

    สำหรับอาชญากรรมไซเบอร์ในพื้นที่ 17 จังหวัดที่เรารับผิดชอบ ส่วนใหญ่คดีจะลักษณะคล้ายๆ กันหมด เพราะในภาพรวม ไซเบอร์นี่จะทำที่ไหนก็ได้ มันอยู่ในอากาศ แต่ภาคเหนือจะมีอยู่จุดๆ หนึ่ง คือจะมีพื้นที่ที่ติดชายแดน ฝั่ง จ.ตาก จ.เชียงราย อย่างที่เป็นข่าวว่าก่อนหน้านี้มีคนต่างชาติเข้าไปแล้วนายทุนไปสร้างเบสขึ้นมา จากนั้นก็สร้างตรงนั้นเป็นที่ทำการหลอกลวงเป็นคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง จากข้อมูลสถิติในฝั่งนั้น จะพบการหลอกลวงประเทศอื่นเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างประเทศจีน

    ฝั่งตะวันออกมีคนไทยร่วมแก๊ง 

    ต่างจากทางฝั่งภาคตะวันออก เขาจะเข้ามาหลังจากที่เรากวาดล้างจับกุม พบว่ามีคนไทยร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย แล้วถูกจับกุมส่งตัวกลับมา กลุ่มคนเหล่านี้มักจะอาศัยช่องว่างหรืออาจจะช่องว่างกฎหมาย ว่าตัวเองถูกหลอกไป

    แต่ความจริง ถ้าดูจากพฤติการณ์การดำรงชีวิตหรือจากสิ่งที่เขาได้ ไม่เหมือนกับคนที่ถูกหลอก คือเขาได้รับค่าตอบแทน มีโทรศัพท์สามารถติดต่อใครก็ได้ สามารถเข้าออกได้อย่างปกติ บางครั้งอาจใช้ช่องทางธรรมชาติเดินทางเข้าออกด้วยซ้ำไป

    รอบแรก 100 กว่าคนที่ส่งกลับมา พอเอาเข้ากระบวนการซักถาม ทางภาค 2 ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือทหาร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเขาอยู่ในขบวนการคอลเซ็นเตอร์ จนไปสู่การถูกแจ้งข้อกล่าวหา มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ใช่เหยื่อ น่าจะเป็นครั้งแรกด้วย ที่ ผบช.ไซเบอร์ ได้ดำเนินการ

    ใช้เชิงรุกสกัดการฟอกเงินโจร

    เราต้องมีมาตรการเชิงรุกอย่างนี้ เพราะอย่าลืมว่า กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เวลาได้เงินจากเราไปก็จะเข้าสู่กระบวนการฟอกเงินในต่างประเทศ เขาอาจจะสร้างภาพลักษณ์ว่าเขาลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

    เขาจะไม่หลอกคนในประเทศที่เขาตั้งเบสไว้  เขาจะสร้างภาพลักษณ์ว่ามาลงทุนให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี จากนั้นเขาอาจจะสร้างกิจกรรมหรือสร้างธุรกิจในประเทศเรา แล้วเอาเงินที่ได้มาฟอก

    เนียนทำธุรกิจแข่งคนไทยบังหน้า

    ยกตัวอย่าง เช่น เขาอาจจะมาเปิดร้านขายของ แข่งกับร้านขายของของคนไทย การลงทุนต้องไปกู้เงิน เพื่อให้สามารถก่อร่างสร้างร้าน กู้เงินไม่พอ ต้องมีการตลาดเพื่อจะได้ขายของให้ได้กำไร สมมติลงทุน 100 บาท กำไร 20 บาท ขายได้ 120 อาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะมีค่าน้ำค่าไฟ ค่าโน่นนี่เต็มไปหมด มีต้นทุน มีดอกเบี้ย

    แต่สำหรับมิจฉาชีพนี่ เขาเอาเงินมาลงทุน 1 ล้าน เขาขายได้ 100 บาท หรือ 50 บาท เขาไม่เดือดร้อน เพราะเงินที่เขาได้มาได้จากการหลอกลวงทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อการแข่งขันเราสู้ไม่ได้ ธุรกิจคนไทยก็จะล้มหายตายจากไป ถ้ามองดีๆ แล้วก็เหมือนเป็นการทำลายโครงสร้างประเทศเราด้วยซ้ำไป เป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่

    จริงๆ การบังคับใช้กฎหมาย การยึดทรัพย์ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว แล้วต้องเขาเรียกว่าต้องทรงพลัง

    :คิดว่านโยบายรัฐบาลที่มอบให้กับตำรวจในการจัดการกับชาวต่างชาติเหล่านี้ มาถูกทางไหม

    ให้ระแวงเหมือนโควิดระบาด

    ถึงวันนี้ ผมว่าเราเข้าใจว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นคืออะไร ตัวรัฐบาลเองในเชิงนโยบายก็สนับสนุนเราเต็มที่ เราต้องรู้ว่าเราต่อสู้กับอะไรอยู่ เราต่อสู้กับเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนเป็นวินาทีต่างจากสตรีทไครม์ เพราะฉะนั้นความรวดเร็ว องคาพยพทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันที่สำคัญ

    ไม่ใช่เฉพาะงานปราบปรามอย่างเดียว แต่ตัวเราในฐานะของพลเมืองของประเทศต้องรู้จักป้องกันตนเองด้วยเหมือนกัน เราต้องไม่ตระหนกตกใจ ไม่โลภ มีอะไรให้สอบถาม

    อยากให้จำโมเมนต์ตอนที่เกิดโควิด เราจะระแวงอยู่เสมอว่าคนที่มาคุยกับเรานี่ เขามีเชื้อโควิดรึเปล่า คนใส่หน้ากาก เรายังระแวงเลย แล้วคนที่ถอดหน้ากากนี่ ไม่ต้องพูดถึง ว่าเราจะระแวงหรือไม่ระแวง

    เบอร์แปลก-ให้เอ๊ะไว้ก่อน

    ฉะนั้นเหมือนกัน เรารับเบอร์แปลกขึ้นมา ต้องเอ๊ะไว้ก่อนว่า ไอ้คนเหล่านี้อยู่ๆ โทร. เข้ามา มีวัตถุประสงค์อะไร เรามี เอโอซี คือ 1441 เป็นหน่วยงานที่เราตั้งขึ้นมา สามารถใช้ช่องทางนี้สอบถามก่อน

    ที่สำคัญคือวันนี้ เวลามีเบอร์แปลกเข้ามา เอโอซี นี่แหละ จะเป็นหน่วยงานที่คอยตอบคำถามเรา 1441 โทร. เข้าไป โทร. ไปแล้ว บอกว่ามีเบอร์เหล่านี้โทร. มา ขอคำแนะนำเขาได้ เขาจะแนะนำเรา หรือมาปรึกษาที่สถานีตำรวจใกล้บ้านท่าน น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง

    โจรทำการบ้านหาเหยื่อมีเงิน 

    ส่วนที่ 2 คือเราอย่าปลีกตัวอยู่คนเดียว ณ เวลานี้ มันมีรูปแบบใหม่ให้อยู่คนเดียว เรามีคนในครอบครัว ถ้าเป็นพ่อแม่ ต้องเตือนลูก เตือนผู้สูงอายุ เป็นลูกมีอะไรต้องบอกพ่อบอกแม่ ส่วนใหญ่คือมีทุกเพศทุกวัย

    ต้องดูวัตถุประสงค์ เขาต้องการเงินถูกไหม เพราะฉะนั้นคนที่จะมีเงินมาได้คือคนที่ทำงานแล้ว ข้าราชการบำนาญ มีเงินเก็บแน่ หรือสตาร์ทอัพ ก็ได้ระดับหนึ่ง สตาร์ทอัพ ก็ไปหลอกเด็ก หลอกพ่อ หลอกแม่ เอามา

    จำไว้อย่าอยู่คนเดียว 

    เพราะฉะนั้นมันมี 2 ส่วน คือส่วนการป้องกันตัวเอง การป้องกันก็คือเราอย่าพาตัวเองไปในพื้นที่เสี่ยง ถ้าเราไปในพื้นที่เสี่ยง เราต้องมีระบบป้องกันตัวเอง สิ่งที่จะเตือนภัย คือ อย่าอยู่คนเดียว

    เวลามีเหตุอะไรขึ้น มีคำแนะนำอะไร เราต้องปรึกษาพ่อแม่ก่อน คนในครอบครัวต้องปรึกษาก่อน แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐ สถานีตำรวจ อย่าโอนเงินเด็ดขาด ถ้าถูกบอกว่าต้องโอนเงินไปตรวจ ไปโน่นไปนี่ อย่าทำเด็ดขาด

    ผมยืนยันเลย ตำรวจไม่มีจะทำ และตำรวจไม่มีที่จะวีดีโอคอลเพื่อจะแจ้งหมาย ไม่มีเด็ดขาด

    ต้องรู้ทันเหลี่ยมโจร 

    ถ้าเปิดวีดีโอคอล อย่าลืมนะว่า บางครั้งการที่เขาให้เราเปิดกล้องเขาจะอัดไว้ แล้วเขาจะเอารูปหน้าเราไปใช้ประโยชน์ในอนาคตเขาจะทำได้

    คือต้องมีความสงสัย มีความเอ๊ะไว้ก่อน เรามีสิทธิ์ระแวงในสิ่งที่มิจฉาชีพมันทำ ถ้าเรารู้ทันนะ มิจฉาชีพพวกนี้มันก็ไปหลอกคนอื่นแทน แล้วโทษพวกนี้ต้องหนัก ต้องยึดทรัพย์ให้หมด

         ………………………………..…………………………………

    ครับ…เส้นทางชีวิตคร่าวๆของผู้การเขต กับคาถาง่ายๆกันโจรออนไลน์ ”เอ๊ะไว้ก่อน“  อย่าตกใจง่าย มีพ่อแม่ผู้ปกครองปรึกษากันก่อน ขอคำแนะนำก่อน

    อะไรที่มาจากทางออนไลน์รวมทั้งข่าวสารทางมือถือ เสพแล้วอย่าเพิ่งไปรีบเชื่อ มีสติ ค่อยๆคิด เอ๊ะไว้ก่อน จริงมั้ย แล้วชีวิตโลกออนไลน์จะปลอดภัยครับ

    เฮียเก๋12/7/68

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments