พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และผม รับราชการวันเดียวกัน คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2528
ท่านดำรงศักดิ์เป็น นรต.38
ส่วนผมเป็น น.บ.,ร.บ.15
วันนี้ผมอ่านคำสั่งของท่าน ให้ตำรวจ 6 นายออกจากราชการไว้ก่อน
คนหนึ่งเป็นรองผู้การนครบาล คนหนึ่งเป็นผู้กำกับฝ่ายความร่วมมือและกิจการระหว่างประเทศ กองการต่างประเทศ คนหนึ่งเป็นรองผู้กำกับจราจร สน.ลาดพร้าว สองคนเป็นพนักงานสอบสวน (สบ.1 และ 2) สน.ยานนาวา และพลขับ
งานเลี้ยงรุ่นนายร้อยตำรวจรุ่นผมเมื่อ พ.ศ.2565 เพื่อนหลายคนเป็นผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ และผู้กำกับการ เกือบทุกคนเกษียณหมดแล้ว จึงคุยกันอย่างไม่ต้องกลัววินัย
ทุกคน (ไม่ยกเว้นแม้แต่คนเดียว) บอกว่าตนเองพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเป็นตำรวจ เพราะปัจจุบันเป็นอาชีพไม่มั่นคงไปเสียแล้ว เข้ายาก ออกง่าย โซเชียลมีเดียทำให้ประชาชนในยุคปัจจุบันทันตำรวจ บางคนรู้เรื่องกฎหมายดีกว่าตำรวจ
ผู้บัญชาการตำรวจรุ่นผมคนหนึ่ง ขณะลูกเป็น นรต.ปี 1 หรือ 2 ไม่ทราบ ด้วยความเป็นห่วง สุดท้ายก็ไปเอาลูกออกจากโรงเรียน และให้ไปสอบ entrance เพื่อไปเรียนแพทย์แทน
สี่ห้าสิบปีที่แล้ว ไปไหนมาไหนในต่างจังหวัด แม้ยศแค่ร้อยตำรวจโทก็ยังมีคนเรียกว่า ‘นาย’
เข้าไปในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านกำนัน พูดสิ่งใดก็เป็นไปตามนั้น ไม่มีใครยกข้อกฎหมายมาเถียง
สมัยนี้ไม่ใช่แล้วครับ ตำรวจคนไหนไม่เก่ง ไม่แม่น ไม่ว่าจะจบจากสถาบันไหนมา ถ้าทำงานบกพร่องแม้แต่ ผบ.ตร.หรือรัฐมนตรีก็ช่วยไม่ได้ เพราะกระแสประชาชนแรง
งานตำรวจกดดันมาก สมัยก่อนผมเคยนึกถึงคำพูดว่า ดึกดื่นป่านนี้มีแต่เราเฝ้าถนน โจรผู้ร้ายไม่ได้ปล้นเป็นเวลา เวลาทำงานของตำรวจจึงไม่เหมือนข้าราชการอื่น สมัยผมต้องเปิดวิทยุสื่อสารอยู่บนหัวนอนตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่านายจะเรียกเมื่อใด จะเกิดเหตุการณ์เมื่อใด
ไม่ดัดจริตดอกครับ ถ้าจะบอกว่าในสมัยก่อน 30-40 ปีที่แล้ว ตำรวจจำนวนไม่น้อยมีฐานะร่ำรวยจากการช่วยเหลือผู้ต้องหา
แต่สมัยนี้ทำได้ยากครับ เพราะประชาชนมีเทคโนโลยีและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่แพ้ตำรวจ สถานะของตำรวจก็คือข้าราชการธรรมดาคนหนึ่ง แต่แบกภาระและความรับผิดชอบ รวมทั้งความเสี่ยงสูงมาก
ใครจะเป็นตำรวจก็ต้องพร้อมที่จะสละความสุขกายสบายใจไป 1 ชาติ
ใครจะมองตำรวจอย่างไรก็แล้วแต่ แต่สำหรับผม ในฐานะตำรวจเก่า ทัศนคติของผมที่มีต่อตำรวจก็คือ ‘ผู้เสียสละ’ ของจริง.
ร.ต.อ.นิติภูมิ