Thursday, April 25, 2024
More
    Homeเขี้ยวเล็บมือปราบพลซุ่มยิง-สไนเปอร์ มุมมองบิ๊กโจ๊ก

    พลซุ่มยิง-สไนเปอร์ มุมมองบิ๊กโจ๊ก

    วิกฤติคลี่คลายเร็ว-สูญเสียน้อยที่สุด คือความสำเร็จ

    ขอต่ออีกตอนครับ กับเขี้ยวเล็บคู่กาย พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ที่ตอนนี้เป็นอดีตผอ.กองสลากฯหรือผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปซะแล้ว

    เหตุเพราะเจ้าตัวยื่นใบลาออก หลังเหตุยึดอำนาจวันที่ 22พ.ค.57

    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ด้วยความที่ “บิ๊กโจ๊ก” ประสบการณ์มากมาย ผ่านการฝึกอบรมยุทธวิธีต่างๆอย่างเข้มข้น ถึงแม้จะออกจากราชการตำรวจแล้ว แต่ยังมีภารกิจถ่ายทอดความรู้ให้ตำรวจรุ่นน้องๆ

    เช่น หลักสูตร ผบก. การบริหารเหตุการณ์วิกฤติ หลักสูตรผู้บริหารตำรวจ รวมทั้งเป็นอาจารย์สอนยุทธวิธีที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

    พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ เปิดภาพจากไอแพดให้ดู ขณะเป็นวิทยากรอบรมอาวุธปืนให้ผู้ใต้บังคับบัญชา สมัยยังรับราชการตำรวจที่ ภ.4 พร้อมอธิบายไปทีละภาพ

     “อย่างอันนี้เป็นปืนเก็บเสียงขนาด .22  ยิงได้ในระยะไกลพอสมควร  แต่เราไม่เรียก “สไนเปอร์” เพราะใช้ลูกกระสุนขนาดเล็ก” 

    ปืนอย่างนี้ต้องได้รับการพัฒนาในวงการตำรวจ ต้องสอนตำรวจใช้ เพราะบางภารกิจไม่ถึงขนาดต้องยิงให้ตาย บางทีแค่ยิงมือเขา ยิงเพื่อไม่ให้เขาทำอะไรรุนแรง

    ภารกิจตำรวจต้องรักษาชีวิตมนุษย์ ควรจะมีปืนที่ไม่ทำให้เขาตาย เช่น .22  อะไรพวกนี้  ตำรวจที่ทำหน้าที่แก้ไขวิกฤติประเภทนี้เรียกว่า พลซุ่มยิง   

    ส่วน “สไนเปอร์”ที่พูดกัน เชิงลบเป็นกรณียิงแตกหัก แต่เชิงบวกคือ ไว้ต่อต้านการซุ่มยิง

    หมายความว่า ต้องไม่ให้เขาซุ่มยิงบุคคลสำคัญ หรือพี่น้องประชาชนเรา ด้วยการลดโอกาสไม่ให้เขาซุ่มยิงใช้วิธีต่อต้านด้วยการลาดตระเวน ตรวจการณ์โดยกล้อง

    ฉะนั้นหลักการของสไนเปอร์ที่แท้จริง คือการรักษาความปลอดภัย ต่อต้านการซุ่มยิง หรือการลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในระยะไกล   

    พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์เล่าต่อว่า ในส่วนของปืนพกหรือ เมนกันที่นายตำรวจผู้นี้ใช้คือปืน 9 มม.หรือ 11มม.

    แต่จริงๆ แล้วถ้าภารกิจไปทำหน้าที่ รปภ. เมนกันที่ใช้อยู่จะเป็นปืนเอชเค ยูเอสพี (Heckler&Koch USP) พวกนี้จะแข็งแรงกว่าพวกกล็อก ปืนชนิดนี้มีส่วนผสมทั้งโลหะและไฟเบอร์

    เป็นปืนมาตรฐานของเยอรมัน อยู่ในระดับหัวแถว เป็นปืนประจำกายของหน่วยอรินทราช และนเรศวร ด้วย ส่วนปืนสำรองก็ปืนชิป 5 นัด                   

    ส่วนตัวผม ตั้งแต่จบยศ ร.ต.ต.มา ได้ยินเสียงปืนตลอด เห็นคนเจ็บตายจากภารกิจ จนมาถึงยศสูงๆ เผอิญมีโอกาสทำงานเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วิกฤตที่ต้องใช้ปืน

    หากถามถึงความประทับใจ ไม่ได้มองว่าชัยชนะ หรือมีคนตาย แต่จะมองว่า เหตุวิกฤตินั้นคลี่คลายได้เร็ว สูญเสียน้อยที่สุด นี่คือความสำเร็จ     

    อย่างเหตุการณ์โรงพยาบาลราชบุรี เหตุการณ์นักโทษจับผู้คุมเป็นตัวประกัน ผมและเพื่อนๆ พี่น้องของค่ายนเรศวร ไม่ภูมิใจที่ไปทำให้คนร้ายตายมากมายก่ายกอง 

    แต่การยุติเหตุการณ์ได้โดยทุกฝ่ายปลอดภัย นั่นคือสิ่งที่เราภูมิใจ

    แล้วสังเกตมั้ย จากเหตุการณ์ที่พูดถึงมีใครเก่ง ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ไม่มีใครเก่ง ไม่มีใครเป็นฮีโร่ แต่ระบบต่างหากคือฮีโร่ตัวจริง 

    “สำหรับผม ยังไงก็เป็นตำรวจทั้งหัวใจ หายใจก็เป็นตำรวจ เป็นตำรวจทั้งชีวิต ถึงแม้ออกจากราชการไปแล้ว หัวใจก็ยังเป็นตำรวจ  ความสำเร็จทุกอย่างของผมในวันนี้ มาจากตำรวจครับ….”

     Cop’s Magazine Vol.8 No.95 July 2014

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments