รองเชาว์ ตำรวจทำดี นำจร.โครงการพระราชดำริลงพื้นที่ลอกคลองฝั่งธน.
หลังเกิดลมมรสุมมีมวลพายุฝนพาดผ่าน ในห้วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ พื้นที่บางแค ฝั่งธนบุรี ได้กลายเป็นโซนวิกฤติจากปัญหาน้ำท่วมขังผิวการจราจร ส่งผลให้รถติดขัดเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานครไปเสียแล้ว
และเมื่อเกิดปัญหา หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันหาทางเยียวยาแก้ไข ทำทุกวิถีทางให้ชาวบ้านห่างไกลความเดือดร้อน ไม่ต้องทนระบมจมทุกข์
“รองเชาว์” พ.ต.ท.เมธสิทธิ์ วชิราปัญญานนท์ รอง ผกก.6 บก.จร.(ตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำริ) เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมไม้ร่วมมือคลายวิกฤติอย่างเต็มที่เสมอมา
กล้าเสนอเพราะ Green Bear. เห็นกับตา จึงขอนำมาถ่ายทอดใน กากี ธน.ประจำวงรอบนี้
แม้ รองเชาว์ จะเกิดในพื้นที่ จ.ราชบุรี แต่มาใช้ชีวิตเติบโตและรับราชการตำรวจในพื้นที่ฝั่งธนบุรี โดยส่วนใหญ่
เริ่มจากตำแหน่ง รอง สว.ผ.สถิติฯ กก.อก.บก.น.ธน., รอง สว.จร.สน.บางมด, รอง สว.จร.สน.เพชรเกษม, โยกเป็น รอง สว.ผ.3 กก.2 ป., นว.(สบ 2) จตร.(สบ.9)
กลับมาขึ้น สว.งาน 1 กก.อก.บก.น.8, สว.สส.สน.วัดพระยาไกร, สว.ฝอ.บก.น.9, รอง ผกก.5 บก.ตปพ., รอง ผกก.สส.บก.น.8, รอง ผกก.สส.บก.น.2, รอง ผกก.อารักขา 1 บก.อคฝ., รอง ผกก.จร.สน.ภาษีเจริญ และ รอง ผกก.6 บก.จร.(จราจรโครงการพระราชดำริ) ในปัจจุบัน
สมัยดำรงตำแหน่งเป็น รอง ผกก.จร.สน.ภาษีเจริญ รองเชาว์ เคยปวดขมับจากปัญหาฝนตก น้ำท่วมขัง และการจราจรติดขัดบนถนนเพชรเกษมท้องที่ในความรับผิดชอบอยู่บ่อยครั้ง
แม้จะสนธิกำลังร่วมกับสำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ทหาร อาสาสมัคร ช่วยกันแก้ไขกันอย่างสุดความสามารถ ทว่ายังเผชิญปัญหากันอยู่เนืองๆ
กระทั่งเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา พบเห็น รองเชาว์ กลับมาลงพื้นที่ร่วมแก้ปัญหานี้อีกครั้ง โดยนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ร่วมกับ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม และ ศ.ดร.ชนิตา รักพลเมือง นำกลุ่มนักศึกษาพร้อมจิตอาสามหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน
สนธิกำลังกับ ทหารร้อย รส.ป.9. พัน.9 เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตภาษีเจริญ และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กว่า 300 คน ลงพื้นที่ทำการขุดลอกคูคลอง กำจัดขยะ วัชพืช บริเวณชุมชนคลองบางจาก จุดที่มักมีปริมาณน้ำเอ่อขึ้นท่วมถนนเพชรเกษมหลังฝนตกแทบทุกครั้ง
ถือเป็นมาตรการรับมือกับฤดูฝนที่กำลังจะเข้าสู่ประเทศไทยในห้วงอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า!
รองเชาว์ บอกว่า “การแก้ไขปัญหาโดยการนำกำลังเจ้าหน้าที่และจิตอาสาทำการขุดลอกคูคลองนั้นได้ผลดีระดับหนึ่ง หลังทำแล้วจะเกิดความสะอาดน้ำไหลผ่านได้อย่างสะดวกขึ้น
แต่มาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงหารือกับคณาจารย์ทางมหาวิทยาลัยให้ช่วยนำองค์ความรู้ที่ถูกต้องไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านในชุมชน
การทำกิจกรรมวงรอบนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ทำการฝึกให้นักศึกษา เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน พร้อมคุณสมบัติความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนำนิสิตไปขุดลอกคลอง เก็บขยะ กำจัดวัชพืชร่วมกับชาวบ้านแล้ว ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้สำคัญให้แก่ทั้งนักศึกษาและชาวบ้าน ได้ปฏิบัติร่วมกัน อาทิ การแปรรูปขยะ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และการปลูกต้นไม้ในขวดพลาสติก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะที่ถูกทิ้งลงลำคลองในอนาคต”
Green Bear 23/4/61