เช้าวันที่ 25 เม.ย. ที่กองกำกับการต่อต้านก่อการร้าย บก.สปพ.สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต
พล.ต.ต.สำราญ นวลมา ผบก.สปพ. เป็นประธานวันคล้ายวันสถาปนากองกำกับการต่อต้านก่อการร้าย บก.สปพ. หรืออรินทราช 26 ครบรอบปีที่ 36
ในงานมีพล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบก.ตร.มหด.รอ.904 พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ รองผบก.สปพ.พ.ต.อ.คณิต กลิ่นศรีสุข ผกก.ต่อต้านการก่อการร้าย และพ.ต.อ.ปิยะรัตน์ สุภารัตน์ ผกก.สายตรวจฯ ตลอดจนข้าราชการตำรวจในสังกัดให้การต้อนรับ
ช่วงเช้าพล.ต.ต.สำราญ ได้ทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกองกำกับการต่อต้านก่อการร้าย และพิธีสงฆ์ จากนั้น ได้ตรวจเยี่ยมกำลังพลในสังกัดหน่วยอรินทราช
สำหรับหน่วยอรินทราช26 ก่อตั้งเมื่อปี 2526 สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นถึงภัยคุกคามจากต่างประเทศ เช่น ผู้ก่อการร้ายสากล
มีดำริให้กรมตำรวจจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จึงได้จัดตั้งหน่วยนเรศวร261 และ อรินราช 26 (โดยชื่อมาจาก อริ = ข้าศึก, ศัตรู + อินท = จอม, ผู้เป็นใหญ่ + ราช = พระราชา + 26 = ปีที่ก่อตั้ง พ.ศ. 2526) โดยแตกต่างกันในเขตรับผิดชอบ และต้นสังกัด
ทั้งนี้หน่วยอรินทราช 26 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยจู่โจมที่มีศักยภาพสูงอยู่ในสังกัดของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำงานอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคดีที่สำคัญในอดีตหลายคดี จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานอื่นๆ
อาทิ ปราบปรามก่อการร้าย ไฮแจ็ค ช่วยเหลือตัวประกัน จับกุมมาเฟียผู้มีอิทธิพล ยึดสถานทูตพม่า เป็นต้น
ปัจจุบันหน่วยอรินทราช มีภารกิจหน้าที่ในการเข้าระงับเหตุการณ์ อาทิ ช่วยเหลือตัวประกัน,ควบคุมการก่อจลาจล,ปราบปรามอาชญากรรม,ต่อต้านการก่อการร้าย,อารักขาให้ความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
,เพิ่มการรักษาความปลอดภัยในจุดสำคัญ ในเวลาปกติ และเมื่อมีกิจกรรมพิเศษ
ในส่วนของการฝึกนั้น หน่วยอรินทราช 26 ได้รับการสนับสนุนครูฝึกจาก ตร. และยึดรูปแบบการปฏิบัติการเป็นทีม 5 คน เหมือนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของประเทศเยอรมนี
มีการฝึกการยิงปืนทางยุทธวิธี การฝึกพลแม่นปืน การปฏิบัติการทางน้ำ การต่อสู้ป้องกันตัว การขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบต่างๆ เมื่อการฝึกรุ่นแรกสำเร็จ ก็มีการถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่เข้าประจำการในกองร้อยปฏิบัติการพิเศษเรื่อยมา
อีกทั้งมีการจัดส่งกำลังพลไปฝึกในหลักสูตรต่างๆ ของต่างประเทศและนำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่อยู่ในหน่วย ฝึกกันเองถ่ายทอดกันต่อๆมา
และได้จัดแบ่งหลักสูตร ออกเป็น 5 หลักสูตร คือ
1. หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 24 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุใหม่
2. หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 6 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย 1 สัปดาห์
3. หลักสูตรการทำลายระเบิด 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “พลเก็บกู้ทำลายระเบิด”
4. หลักสูตรพลแม่นปืน 4 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “พลซุ่มยิง”
5. หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์”
นอกจากนี้ยังมีการฝึกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น “แผนกรกฏ 48″ การฝึกในสถานการณ์สมมุติ และการฝึกร่วมกับหน่วยงานอื่น เป็นต้น