ภาพยนตร์เรื่อง “วิมานหนาม” งานกำกับของ นฤเบศ กูโน ผู้กำกับหน้าใหม่ที่ไฟกำลังแรง และแปะตราค่าย “จีดีเอช”
เชื่อว่าผู้ชมก็คงมั่นใจคุณภาพว่างานที่ออกมาภายใต้ตราของ “จีดีเอช” นั้นไม่ขี้ริ้วขี้เหร่แน่นอน
อีกส่วนสำคัญไม่แพ้กันก็คือ นักแสดงนำของเรื่องนี้ กำลังมาและอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อิงฟ้า วราหะ ผู้ชนะการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์2565 และเจฟ ซาเตอร์ ศิลปินมากความสามารถที่ไม่ใช่แค่โด่งดังในไทยแต่ชื่อเสียงยังขจรไกลถึงต่างแดน ทั้งคู่ต่างเป็นแม่เหล็กชั้นดี ที่ทำให้ผู้คนกล่าวขานถึงงานชิ้นนี้ในทางบวก
เมื่อมองไปที่เนื้อหาใน “วิมานหนาม” ว่ากันตามตรงชื่อเรื่องก็ให้ความรู้สึกเหมือนนวนิยาย หรือละครทางโทรทัศน์
เพียงแต่ภาพและเรื่องราวที่ปรากฏนั้นข้องแวะกับ “ทุเรียน” ผลไม้ที่มีหนามแหลม เปลือกหนา ต้องใช้แรงในการปลอกเปลือกออก เพื่อจะได้ลิ้มรสเนื้อผลไม้ที่หลายคนยกให้เป็นราชาแห่งผลไม้
นอกจากนี้ บทได้ใส่เรื่องของชายรักชายเข้าไปเพื่อให้เรื่องราวเข้มข้นขึ้น บอกเล่าถึงความไม่เสมอภาคในสังคม เห็นได้ชัดเจนก็คือเรื่องเพศ
“วิมานหนาม” เล่าเรื่องผ่านตัวละคร 5 คน ที่มีชีวิตยึดโยงกับ “สวนทุเรียน” แห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจฟ ซาเตอร์ รับบท “ทองคำ”เป็นชายประเภท “ชายรักชาย” อยู่กินกับฉันสามี-ภรรยา กับ เสก (พงศกร เมตตาริกานนท์) โดยปลูกสวนทุเรียนหมอนทองเป็นอาชีพ
แต่เหมือนชะตากลั่นแกล้ง เพราะวันหนึ่ง “เสก” ด่วนลาโลกไปก่อนวัยอันควร ไม่เพียงความโศกเศร้าถาโถมเข้าหา “ทองคำ” แต่ยังเจอเรื่องช็อตฟีลกว่านั้นคือ
ชายหนุ่มพบว่าตนเองไม่มีสิทธิ์อันชอบธรรมใด ๆ ที่จะเป็นเจ้าของ “บ้าน” ที่เป็นรังรักของตัวเองและ “เสก” รวมไปถึง “สวนทุเรียน” ที่ตนอุตส่าห์ลงเงินไถ่ถอนจากจำนองมาให้แฟนหนุ่มลงแรงปลูกทุเรียนทั้งสวน
แม้ในความเป็นจริงและแล้วประเทศไทยเราผ่าน “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ไปแล้ว แต่สำหรับ “วิมานหนาม” นั้นกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังมาไม่ถึง
ด้วยเหตุนี้เลยทำให้ “ทองคำ” ตกอยู่ในฐานะ “เพื่อน” ของ “เสก” ไปโดยปริยาย และผู้ที่ได้รับมรดกบ้านและสวนทุเรียนไปแบบไม่ต้องลงแรงอะไรเลยก็คือก็คือ แม่แสง (สีดา พัวพิมล) โดย “แม่แสง”มีลูกเลี้ยงอีกคนคือ “โหม๋” รับบทโดย อิงฟ้า วราหะ หญิงสาวที่ไม่ใช่คนไทยแท้ และมีความมุ่งมั่นอยากเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของ “แม่แสง”
แน่นอนว่า บ้าน ที่ดิน และทุเรียนที่กำลังออกผลงาม คือสมบัติที่ใครก็หมายตา โดยเฉพาะ ทองคำ แม่แสง และ โหม๋ ต้องมาขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากการตายของ เสก เรื่องราวในภาพยนตร์ก็พาผู้ชมไปสำรวจตรวจสอบความรู้สึกนึกคิดและเหตุผลของ ทองคำ แม่แสง และ โหม๋ ว่าทำไมพวกเขาแต่ละคนถึงคิดว่าตนเอง “มีสิทธิ์”ที่จะครอบครองทรัพย์สินเหล่านี้อย่างชอบธรรม!
พร้อมกันนั้นก็โชว์การชิงไหวชิงพริบแบบไม่ยอมเพลี่ยงพล้ำต่อกัน เพราะเดิมพันของแต่ละฝ่ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ความสนุกของ “วิมานหนาม” จัดเต็มในเรื่องของดราม่าที่เริ่มต้นแบบนิ่ง ๆ ก่อนจะปะทุเหมือนภูเขาไฟระเบิด ใส่ฉากโรแมนซ์ระหว่างชายกับชายสุดดูดดื่มวาบหวิว มีฉากฟาดพันกันอย่างดุเดือดสะใจ และแม้จะบางช่วงตอนหนังจะนำพาให้ผู้ชมรู้สึกไม่ชอบใจในตัวละครอยู่บ้าง
แต่สุดท้ายแล้วพบว่าตัวละครทุกคนล้วนมีแง่มุมที่น่าเห็นอกเห็นใจ ผ่านความทุกข์มาอย่างบอบช้ำ
สิ่งเหล่านี้ถูกเอามาห่มคลุมประเด็นการตีแผ่ให้เห็นว่าชีวิตของคนหลายคนถูกกดขี่ในรูปแบบต่าง ๆ ความเสียเปรียบทางด้านกฎหมาย และการตามหาความยุติธรรมเป็นเรื่องที่มืดมนเหลือเกิน!
ส่วนบทสรุปของ “วิมานหนาม” ถ้าว่ากันตามตรงก็คืออาจไปยังไม่สุดนัก แต่ไม่ว่าอย่างไร นี่คืองานที่ให้แง่คิดที่ลุ่มลึกและวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้อย่างแยบยลคมคาย.
Blue Bird 24/8/67