ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกฟ้อง“วินัย ทองสอง”ไม่ผิดหมิ่นประมาท“รองโจ๊ก”กรณีสัมภาษณ์สื่อโยงบิ๊กตำรวจเอี่ยวเงินเว็บพนัน
ข่าวประชาสัมพันธ์ คดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ของศาลอาญากรุงเทพใต้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาลโจทก์ , พล.ต.อ.วินัย ทองสอง จำเลย
สืบเนื่องจาก พล.ด.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วินัย ทองสอง เป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1246/2567
กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่109/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 แต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2567 จำเลยได้ใส่ความโจทก์โดยการโฆษณาต่อสื่อมวลชนที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน มีหัวข้อข่าวว่า “แถลงความคืบหน้า กรณีความขัดแย้งของบุคลากรในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” มีข้อความ กล่าวคือ
ผู้สื่อข่าวถามว่า : นั่นหมายความว่า คณะกรรมการยืนยันซัดเจนว่าในส่วนของรองสุรเซษฐ์ฯ เนี่ยมีความผิดจริง ตรงนี้จะเสนอให้ทางท่านนายกฯ ใช่ไหมครับ
จำเลยตอบว่า : คือตรงนี้เนี่ยก็เป็นส่วนหนึ่ง ในขณะนี้การตรวจสอบข้อเท็จจริง เรายังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ในส่วนของท่านพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ เนี่ย จากการดูพยานหลักฐานแล้วเราเชื่อว่ามีการกระทำผิดจริง
โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่ได้ให้อำนาจจำเลยในการให้ข่าวดังกล่าว ประกอบกับคณะกรรมการ ปปช. ยังไม่ได้ชี้มูลความผิด และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์และฟอกเงินจากการกระทำความผิดนั้น อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้เกิดความเสียหายจากการกระทำละเมิดครั้งนี้
โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326,328 และชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง และโฆษณาคำพิพากษาด้วยทั้งนี้โจทก์ได้อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความต่อศาลแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาว่าคดียังไม่อาจรับฟังถึงถึงขนาดที่จะนำมาเป็นเหตุผลว่าคดีของโจทก์มีมูล โดยต้องพิจารณาถึงการแถลงข่าวของจำเลยในภาพรวมของการกระทำทั้งหมด มิใช่พิเคราะห์ตอนใดตอนหนึ่ง และตำแหน่งของโจทก์เป็นถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชาชนย่อมให้ความสนใจ จึงต้องพร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบจากสังคม
ศาลจึงศาลจึงพิพากษายกฟ้องคดีอาญาและไม่รับฟ้องในคดีส่วนแพ่ง