เปรียบเหมือนสำนวนสุดคลาสสิก “All for one and one for all” ในเรื่องราวของ “สามทหารเสือ” ที่หมายความว่า…จากหนึ่งสู่เหล่า และเหล่าเราก็รวมกันเป็นหนึ่ง กับการที่สตูดิโอภาพยนตร์ฝรั่งเศสปาเต (Pathé) ดึงเอาเหล่าพันธมิตรในเยอรมนี สเปน และเบลเยียม ลงขันกันเกือบ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2,840 ล้านบาท
มาสร้างภาพยนตร์ระดับมหากาพย์เรื่อง The Three Musketeers วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ที่รู้จักกันดีในชื่อว่า“สามทหารเสือ” ประพันธ์โดย อาแล็กซ็องดร์ ดูมาส์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส
ความร่วมมือของสตูดิโอหนังจากแดนน้ำหอมและผองพันธมิตร 3 ชาติในยุโรป ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่กล้าหาญ ในการดัดแปลงวรรณกรรม “สามทหารเสือ” ออกมาเป็นภาพยนตร์ และก็สำเร็จไปแล้วกับ ภาคแรกคือ The Three Musketeers : D’Artagnan หรือ “สามทหารเสือ : กำเนิดนักรบดาร์ตาญัง”
ออกฉายไปเมื่อปี 2566 ซึ่งต้นปี 2567 ภาคต่อในชื่อ The Three Musketeers : Milady หรือ “สามทหารเสือ มิลาดี้ สตรีสีเลือด”ก็ลงโรงให้ชมกันแล้ว โดยยังใช้บริการผู้กำกับ มาร์ติน บัวร์บูลอง ต่อจากภาคแรก
หากล้อเป็นสำนวนว่า “All for one and … two for all” กับความหาญกล้าของบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ก็คงไม่ผิดนักในแง่ “เมื่อร่วมสร้างงานนี้ด้วยกัน ผลก็คือภาพยนตร์ภาคแรกและภาคต่อ ก็บรรลุผลแล้ว”
https://youtu.be/dTMAT0V6zCc?si=dkdik6p–YMFeiD9
แต่เชื่อว่าหลายคนคงมี “ปุจฉา” ว่าถ้าไม่เคยดู “กำเนิดนักรบดาร์ตาญัง” มาก่อน จะดู “มิลาดี้ สตรีสีเลือด” รู้เรื่องหรือไม่?
ถ้าเป็น “วิสัชนา”จากผู้เขียน ก็ขอสนับสนุนให้ลองกลับไปชมภาคแรกเป็นต้นทุน “ความเข้าใจ” เพราะจะทำให้ตามเรื่องตามราวในภาค 2 ได้ทัน แบบที่จะไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง!
ใน “กำเนิดนักรบดาร์ตาญัง” บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของหนุ่มธรรมดา ๆ ชื่อ ดาร์ตาญัง (สวมบทโดย ฟรองซัวส์ ซีวิล ดาราชาวฝรั่งเศส) ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคและพิสูจน์ตัวเองอย่างมากมายกว่าจะได้มาเป็น “ทหารเสือ” ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13
โดยมีเหล่าสหายทหารเสือคือ เอธอส, ปอร์ธอส และ อารามิส ร่วมแรงรวมใจการปราบบรรดาวายร้ายตัวเอ้ โดยเฉพาะพระคาร์ดินัลดยุกแห่งรีเชอลีเยอ ที่ปรึกษาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และนางร้ายตัวฉกาจอย่าง มิลาดี เดอ วินเทอร์ รับบทโดย เอวา กรีน
ในท้ายเรื่องของ “กำเนิดนักรบดาร์ตาญัง” ทิ้งปมสำคัญก็คือนางกำนัลของราชินีแอนน์ แห่ง ออสเตรีย นาม คอนสแตนซ์ (รับบทโดย ลีนา คูดรี ดาราฝรั่งเศส) สาวคนรักของดาร์ตาญัง ถูกลักพาตัวไป
เดาไม่ยากว่าใน “มิลาดี้ สตรีสีเลือด” จึงเป็นความคืบหน้าต่อจาก “กำเนิดนักรบดาร์ตาญัง” ทั้งในเรื่องราวการรบทัพจับศึกระหว่างฝรั่งเศสและคู่อริอย่างอังกฤษ การแก้ปมปริศนาที่พระคาร์ดินัลฯ วางหมากไว้ และการตามหา คอนสแตนซ์ แต่ชื่อตอนก็บอกอยู่ว่า “มิลาดี้ สตรีสีเลือด” ดังนั้น ตัวละครที่เป็นจุดสำคัญของเรื่องก็ไม่พ้น มิลาดี้ เดอ วินเทอร์ สตรีที่เหมือนกุหลาบงามมีหนามแหลมคมแต่เต็มไปด้วยพิษร้าย
คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะบอกว่า การปรากฏตัวของ มิลาดี้ ซึ่งเหมาะมากภาพยนตร์ให้บทนี้กับ เอวา กรีน มาเป็นสายลับเจ้าเล่ห์ เจ้าเสน่ห์ เก็บปมอดีตบางอย่างไว้อย่างน่าค้นหา
แถมความงามอันเย้ายวนและท่วงท่าอันเดือดพล่าน ก็ทำเอา ดาร์ตาญัง พระเอกหนุ่มของเราต้องมนต์สะกดจนผ้าผ่อนหลุดกายพร้อมกระโจนเข้าสู่สนามรักในฉากเลิฟซีน เรียกว่าใจเป๋จากบทหนุ่มผู้บูชารักและมีใจเดียวต่อคอนสแตนซ์ไปเหมือนกัน
แต่มองโดยรวมแล้ว “มิลาดี้ สตรีสีเลือด” ก็ยังใช้วิธีเดินเรื่องไม่ต่างไปจาก “กำเนิดนักรบดาร์ตาญัง” บ้างก็มีสถานการณ์ไปนั่นมานี่แบบฉับไวบ้างก็จมเอื่อยสลับกันไป ฉากต่อสู้ฟาดฟันแบบทหารเสือก็ยังคงเอกลักษณ์เติมอารมณ์ขันอยู่ประปราย
แม้การเปิดเบื้องลึกเบื้องหลังบ่างอย่างจะยังไม่สุด ก็เข้าใจได้ว่าเป็นการปูพรมไปสู่ภาคที่ 3…ซึ่งทิ้งปมให้รอกันต่อไป!
Blue Bird2/2/67