สืบนครบาล รวบ เซียนพระจอมปลอมแฝงตัวในกลุ่มเฟซบุ๊ก โพสต์หลอกขายพระ เมื่อรับโอนเงินปิดเฟซหนี
ตามนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้เร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาลออกแกะรอยสืบสวนจนพบ บุคคลเฝ้าระวังในโลกโซเชียล
วันที่ 16 ต.ค. 2567 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ,พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น. ,พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น.พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.,พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี รอง ผบก.สส.บช.น, พ.ต.อ.ธีรศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ รอง ผบก.สส.บช.น , พ.ต.อ.อดุลย์ ดอกพวง ผกก.สส.4 บก.สส.บช.น. ,พ.ต.ท.ปกรณ์ ทองช่วง รอง ผกก.สส.4ฯ , พ.ต.ท.รัฐนันท์ สมวงศ์ รอง ผกก.สส.4ฯ
สั่งการให้พ.ต.ท.ภัทร บุญอารักษ์ สว.กก.สส.4ฯ , ร.ต.อ.ณพวิทย์ ดิษฐ์ป้าน รองสว.กก.สส.4ฯ ,ร.ต.ต.เด่น ภูมิคอนสาร รอง สว.กก.สส.4ฯ
จับกุมนายนายสมเจตน์ อายุ 23 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดน่าน ที่ จ.119/2566 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ”จับกุมที่หน้าบ้าน ซอยเพชรเกษม 110 แยก 4 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กทม.
พฤติการณ์ ผู้ต้องหาประกาศปล่อยเช่าพระ หลวงปู่สุดวัดกาหลง ผ่านบัญชีเฟซบุ๊คตน โพสต์ข้อความว่า ” ปล่อยเช่าหลวงปู่สุดวัดกาหลง ราคา 700 บาท พร้อมแนบรูปภาพที่ดึงมาจากเฟซบุ๊กตามเพจซียนพระเพื่อประกอบการปล่อยเช่า ผู้เสียหายหลงเชื่อจึง โอนเงินผ่านบัญชีของผู้ต้องหาเป็นเงิน 700 บาท เมื่อได้รับโอนผู้ต้องหาได้ปิดเพจบัญชีหลบหนีไป
จากการตรวจสอบ พบว่าประวัติต้องคดีอาญา 2 คดี
1.ปี 2563 สน.หนองเเขม ข้อหา พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ
2.ปี 2566 สน.หนองค้างพลู ข้อหา ฉ้อโกง
ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหารับสารภาพว่า โพสต์หลอกขายพระจริง เงินที่ได้มานำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ตนไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ จากการตรวจในออนไลน์พบประวัติการแจ้งเตือนเกี่ยวกับผู้ต้องหาได้หลอกขายลำโพง ต้นไม้ หลวงปู่โต๊ะ จากนั้นได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองน่าน ดำเนินคดี
ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ขอฝากเตือนการเช่าพระ ประมูลพระ ในออนไลน์ ขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมิจฉาชีพจะแฝงมาหลอกขาย ให้โอนเงินแต่ไม่ส่งของ พบเป็นจำนวนมาก ดังนั้นควรเลือกดูพระกับบุคคลที่ไม่มีประวัติโกง ได้รับการรีวิวดี และการซื้อของในโลกออนไลน์ ควรเลือกซื้อของจาก Official store หรือแพลตฟอร์มที่ไว้ใจได้ อย่างเช่น Shoppee, Lazada ที่ต้องมีการลงทะเบียนร้านค้าโดยใช้ข้อมูลจริง
ตรวจสอบบัญชีผู้โอน เราสามารถสืบประวัติของผู้ขายเบื้องต้น โดยนำเลขที่บัญชีหรือชื่อของผู้ขายไปค้นหาบน Google เพื่อที่จะหาประวัติว่าเคยมีคนโพสต์เกี่ยวกับการฉ้อโกงในการซื้อของหรือไม่