Tuesday, April 23, 2024
More
    Homeคนข่าวมีรางวัลอยากได้ข่าวต้องเดินหาข่าว ไม่ใช่ข่าวมาหาเรา”

    อยากได้ข่าวต้องเดินหาข่าว ไม่ใช่ข่าวมาหาเรา”

    บางครั้งโชคชะตาก็แปรผันให้เราเปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเราต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

    ฉกเช่นเดียว กับ “ศุภชัย เพชรเทวี หรือ โต้ง เนชั่น ” กับ 17 ปี บนเส้นทางพิราบขาวเพื่อมวลชน จากช่างภาพ สู่ นักข่าวคุณภาพ

    อดีตนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เอก วารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีความฝันตั้งแต่ช่วงมัธยมตอนปลาย ว่าจะเป็นนักข่าวกีฬา

    หลังตกหลุมรักทีมฟุตบอลอย่าง “หงส์แดง ลิเวอร์พูล” จึงเป็นเชื้อไฟในตัวว่าจะต้องมุ่งสู่อาชีพสื่อสารมวลชน

    เด็กนิเทศหอการค้า ฝึกข่าวคมชัดลึก

    ศุภชัย เล่าให้ฟังว่า เรียนจบจากม.หอการค้าเมื่อตอนปี 2545 ในช่วงเวลา 4 ปี ทึ่เรียนได้เข้าฝึกงานที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

    สมัยนั้นเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรายวันที่เพิ่งเปิดใหม่ ถูกคัดให้ลงฝึกงานที่โต๊ะข่าวอาชญากรรมประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    ฝึกอยู่ประมาณ 1 เดือน ตัดสินใจปรึกษาบก.โต๊ะ ขอย้ายไปฝึกฝั่งช่างภาพ เพราะค้นพบตัวเองว่าชอบการถ่ายภาพมากกว่าการทำข่าว บก.ให้ไปฝึกแผนกช่างตามคำร้องขอ

    ขอฝึกฝั่งช่างภาพตามใจรัก

    “ฝึกงานแผนกช่างภาพที่เนชั่นอยู่ประมาณ 3 เดือน ได้ลงไปถ่ายงานจริง ไม่มีพี่เลี้ยง หัวหน้าโยนฟิล์มสไลด์ เป็นฟิล์มที่ถือว่าถ่ายยากพอสมควร บอกหมายให้ไปถ่ายเลย

    ตลอดการฝึกตั้งใจทำงาน หัวหน้าให้คำติชม นอกจากนี้รูปที่ถ่ายก็ยังได้รับการคัดเลือกลงหนังสือพิมพ์บ้างบางภาพ”

    ก้าวแรกวงการหมึก เนชั่นเรียกตัว

    ศุภชัย เล่าให้ฟังต่อ หลังจากเรียนจบได้ไม่นาน ทางพี่ช่างภาพที่เนชั่นติดต่อมาให้ไปเขียนใบสมัคร เนื่องจากมีคนลาออกพอดี จึงได้เข้าไปสมัคร และได้เข้าทำงานในด้านสื่อสารมวลชนอย่างเต็มตัวครั้งแรก

    เริ่มต้นด้วยการรับมอบหมายงานหลากหลายแนว มีทั้ง งานการเมือง เศรษฐกิจ กีฬา อาชญากรรม บันทิง สังคม สารคดี เป็นต้น

    การได้ไปถ่ายภาพหลายหน้างานทำให้เพิ่มประสบการณ์มากขึ้นในทุกๆครั้งที่ออกไปทำงาน จนต่อมาได้รับหมายให้ไปถ่ายงานสารคดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ ประเทศอินโดนีเซีย , มาเลเซีย , พม่า

    ศุภชัย เล่าต่ออีกว่า การเป็นช่างภาพข่าวต้องฝึกทำการบ้าน หาข้อมูลงานที่เราได้รับมอบหายให้ไปถ่ายให้ดีเสียก่อน เพื่อที่จะถ่ายภาพออกมาให้เล่าเรื่องข่าวนั้นได้ ส่วนเรื่องมุมภาพ หมั่นดูภาพจากรุ่นพี่ในวงการ หรือการดูภาพข่าวต่างประเทศ

    ยังทันถ่ายภาพข่าวด้วยฟิล์ม

    “ช่วง 2 ปี แรกที่ทำงานเป็นช่างภาพ ยังใช้กล้องฟิล์มอยู่ การถ่ายด้วยฟิล์มกับงานข่าวนั้น เป็นงานหินมาก เพราะพลาดไม่ได้สำหรับภาพข่าว จังหวะเพียงครั้งเดียว ถ้าไม่ได้ก็จบ

    ต่อมาช่วงเริ่มต้นของกล้องดิจิตอล ทางเนชั่นได้นำมาให้ช่างภาพใช้ ถือว่าทำให้งานถ่ายภาพง่ายขึ้นมากกว่าฟิล์ม และการปรับตัวสู่ยุคดิจิตอลก็ไม่ยากนัก เป็นผลดีด้วยซ้ำทำให้งานง่ายขึ้น” ศุภชัย กล่าวถึงยุคการเปลี่ยนแปลงจากฟิล์มสู่ดิจิตอล

    ศุภชัย กล่าวถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของอาชีพต่อว่า

    เป็นช่างภาพข่าวอาชีพได้ประมาณ 7 ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ทางโต๊ะอาชญากรรมขาดนักข่าว ได้มาถามความสมัครใจทางโต๊ะช่างภาพ มีใครจะขยับไปเป็นนักข่าวไหม

    ขยับเป็นนักข่าวเพราะคนขาด

    หัวหน้าก็ได้มาชักชวนเรา เนื่องจากเห็นว่าเรียนจบมาทางวารสารศาสตร์ ก็คิดอยู่นานว่าจะไปเป็นนักข่าวดีหรือไม่ แต่สุดท้ายโชคชะตาก็กระซิบให้ตัดสินใจก้าวเข้ามาเป็นนักข่าวอาชญากรรมเต็มตัว

    ศุภชัย พูดถึงอุปสรรคในการเป็นนักข่าวในช่วงแรก ว่า ยอมรับเลยว่าประสบการณ์ในการเขียนข่าวยังน้อยมาก ที่ผ่านมาเป็นช่างภาพส่วนมากก็เขียนบรรยายใต้ภาพเท่านั้น

    สำนวน หรือ การมองประเด็น ถือว่าน้อย แต่ด้วยสำนึกอยู่ว่าเราเป็นนักข่าว จะต้องเขียนข่าวได้

    ได้เพื่อนพี่น้องช่วยแนะ

    อาศัยเรียนรู้จากเพื่อน พี่ น้อง ในวงการอาชญากรรม ให้ช่วยแนะนำวิธีแนวทางในการเขียนข่าว ในจุดนี้ถือว่าได้ความรู้มากมายจากพี่น้อง จนสามารถเขียนข่าวได้ ไม่เป็นภาระให้กับใคร

    ศุภชัย พูดถึงเทคนิคในการฝึกฝน ว่า

    ผมเลือกที่จะอ่านหนังสือที่ตัวเองสนใจ รวมไปถึงบทวิเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราได้สำนวนหรือคำ ที่จะนำไปใช้ในการทำข่าวได้เป็นอย่างดี

    สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการติดตามข่าวสารบ้านเมืองให้รอบด้าน จะเป็นนักข่าวได้ต้องมีความรู้ในหลายด้าน

    ถูกส่งประจำแดนสนธยา

    “เป็นนักข่าวตระเวนอยู่หลายปี เจอเหตุการณ์ทั้งเล็กและใหญ่ ผ่านงานม็อบ งานเสี่ยง มาหลายงาน จนเมื่อปลายปี 2557 บก.ได้มีคำสั่งให้มาเป็นนักข่าวประจำกองปราบปราม

    นับว่าเป็นหน้างานที่ยาก ด้วยชื่อเสียงของพี่นักข่าวที่กองปราบ ยอมรับเลยว่าหวั่นๆ ว่าจะอยู่ไม่ได้ ” ศุภชัย กล่าว

    ศุภชัย เล่าถึงประสบการณ์สำคัญในชีวิตนักข่าวที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพี่น้องนักข่าวประจำกองปราบปราม ว่า

    วันแรกที่เข้ามาอยู่กองปราบก็เริ่มพยามปรับตัวเข้าหาพี่ๆ นักข่าวประจำ ใช้เวลาไม่นานก็สามารถปรับตัวได้

    ได้วิชา ทำข่าวต้องแข่งกับเวลา

    ทั้งนี้พี่นักข่าวที่กองยังสอนความรู้ในการทำข่าวที่ลึกลงไปอย่างเช่น การมองประเด็นข่าว คิดประเด็น การเดินหาข่าว การเขียนข่าว ฝึกความรวดเร็วในการพิมพ์ข่าว

    พี่ๆจะสอนเสมอว่าการทำข่าวต้องแข่งกับเวลา นอกจากการทำข่าวแล้วที่ได้ประสบการณ์ การใช้ชีวิตของนักข่าวประจำก็เช่นกัน ได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตบนเส้นทางอาชีพนักข่าว

    “มีคำสอนจากรุ่นพี่ประจำกองปราบว่า อยากได้ข่าวต้องออกไปหาข่าว ไม่ใช่ข่าวมาหาเราเอง ผมจดจำอยู่ในหัวตลอด และนำไปใช้ในการเป็นนักข่าวไม่ว่าจะเป็นนักข่าวประจำหรือตระเวนข่าว” 

    ปีกกล้าบินฝ่าพายุข่าวนครบาล

    ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า อยู่กองปราบสักระยะ ก็ขยับมาเป็นนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวบรวมประสบการณ์ความรู้ต่าง ๆ ที่เก็บเกี่ยวจากกองปราบนำมาปรับใช้กับงานบช.น. ได้เป็นอย่างดี ทำให้การทำงานข่าวง่ายขึ้น มีโอกาสได้สัมภาษณ์ทำสกู๊ปข่าว ในช่วงที่อยู่บช.น. ส่วนงานหลักก็เป็นการแถลงข่าวจับกุมคดีสำคัญ

    ศุภชัย บอกด้วยว่า ปัจจุบันกลับมาเป็นนักข่าวตระเวนเหมือนครั้งที่เคยเริ่มต้นของการเป็นนักข่าว แต่ที่เพิ่มเติมคือความรู้ความสามารถในการทำงาน

    การได้เข้าไปสัมผัสชีวิตนักข่าวประจำถึง 2 แห่ง เปรียบเสมือนพลิกชีวิตของอาชีพนักข่าวของผมเลยก็ว่าได้

    จากช่างภาพที่เขียนข่าวไม่ได้เลย กลับมาเป็นที่ไว้วางใจจากหัวหน้างานให้ไปทำข่าวเฉพาะด้าน หรือแม้กระทั่ง สกู๊ปข่าว

    ถ่อมตัว ไม่เก่งและไม่หยุดเรียนรู้

    เนื่องจากเราไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง ไม่ได้บอกว่าตัวผมเองเป็นนักข่าวที่เก่งแล้ว แต่เป็นนักข่าวที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้จากคนอื่น

    ศุภชัย บอกอีกว่า ตลอดระยะเวลา 17 ปี ที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมา เคยได้รับรางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

    จากภาพ-ข่าว คนขับแท็กซี่เก็บกระเป๋าเงิน 3 ล้านบาทของบริษัทรถขนเงินที่ทำกระเป๋าเงินตกไว้ส่งคืนเจ้าของบริษัท

    รางวัลนี้ ส่วนตัวรู้สึกดีใจ แต่ที่ดีใจมากกว่ารางวัลคือ ความมีน้ำใจและจริยธรรมของพี่แท็กซี่ที่เก็บเงินคืนเจ้าของ

    เพราะเราเห็นความทุกข์ของเจ้าหน้าที่ขับรถขนเงินที่ทำตก ถ้าหากเขาไม่ได้เงินคืนให้กับบริษัท เขาจะต้องลำบากอย่างแน่นอน ทั้งด้านคดีความที่จะต้องถูกสอบสวน รวมไปถึงการชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว

    “อยากจะฝากถึงน้องๆในวงการข่าวว่าอย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง หาความรู้ใหม่ๆ การอ่านหนังสือช่วยได้อย่างมาก อ่านเรื่องอะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจ

    ในหนังสือมีวลีหรือสำนวน ที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับการเขียนข่าวได้ นอกจากนี้ยังต้องฝึกความอดทนในการทำงาน เพราะบางขณะเราต้องเฝ้าคอยข่าวเป็นเวลานาน

    สุดท้าย เป็นนักข่าวต้องขี้สงสัย ที่ถือว่าเป็นนิสัยประจำตัวของคนเป็นนักข่าว”

    ศุภชัย ฝากถึงรุ่นน้องในวงการ

    เขียนไข16/6/62

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments