เปิดหมดใจ 'โต้ง' ผู้ก่อตั้ง COP’S MAGAZINE 10 ปี ยังไปไม่ถึงฝัน

0
15652

ชนาธิป กฤษณสุวรรณ”
กับ 10 ปี COP’S MAGAZINE
“ถ้าไม่มีก้าวแรก ก็ไม่มีก้าวต่อไป”

ผู้ชายที่อยู่เบื้องหน้าผม นอกจากจะรู้จักกันเห็นหน้ามาตั้งแต่สมัย 10 กว่าปีก่อนตอนผมทำงานใหม่ๆในถนนนักข่าว ยังถือเป็นหนึ่งในตำนานผู้สื่อข่าว ประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล ชายร่างสูงใหญ่ ไว้ผมยาวประบ่า

นักข่าวมือดี เจ้าของนิตยสารตำรวจดีที่สุดในประเทศ

เขาชื่อ “โต้ง – ชนาธิป กฤษณสุวรรณ” นักข่าวรุ่นใหญ่แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พ่วงด้วยตำแหน่งผู้บริหาร หนังสือ “COP’S MAGAZINE” นิตยสารตำรวจที่ดังและดีที่สุดในประเทศ ที่ผลิตมานานถึง 10 ปี

หลังจากเดินไปหามุมถ่ายรูปในนครบาลจนเหงื่อเริ่มชุ่ม ได้ภาพมาพอสมควร ก็เคลื่อนพลออกจากนครบาล ไปเริ่มการสัมภาษณ์ที่ร้านปลาเผาชื่อดังย่านเทเวศน์ เหล้าขวดลิตรที่เตรียมมาเทลงแก้ว พร้อมกับแกล้มที่สั่งอีกหลายชนิดเริ่มทยอยมา จึงให้ โต้ง – ชนาธิป เล่าย้อนความหลังเมื่อครั้งคิดจะทำ “COP’S MAGAZINE” เมื่อ 10 ปีก่อน

“โต้ง” ยกแก้วเหล้าในมือที่ถือไว้กระดกรวดเดียวหมด ก่อนเล่าว่า

image

ตกลงทำเมื่อเพื่อนชวน เพราะมีฝันเป็นทุนอยู่ก่อน

“ที่มาที่ไปก็มาจากเพื่อนคนหนึ่งที่อยากทำหนังสือตำรวจเลยชวนเรามาทำ การทำหนังสือตำรวจก็ถือว่าเป็นความฝันของเราอยู่แล้วก็เลยตกลง เราอยากทำหนังสือตำรวจให้ดูดีไม่เหมือนใครในท้องตลาด ดูน่าเชื่อถือเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ตำรวจ โดยเป็นคนตั้งชื่อหนังสือเองว่า COP’S MAGAZINE เป็นศัพท์แสลงของตำรวจอังกฤษ เพราะไม่อยากใช้คำว่า police หรือ ตำรวจ เพราะมันเกร่อตามแผงหนังสือทั่วไป”

“จากนั้นก็คุยกันว่าอยากได้อะไรที่เกี่ยวกับตำรวจ เพราะมันมีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นตำนานนักสืบ ตำนานมือปราบ ตำรวจรุ่นเก่าๆ คดีอาชญากรรม ไลฟ์สไตล์หลายๆอย่าง ก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

เปิดเล่มแรกเจอปฏิวัติปี49ทักฝัน

แต่เปิดมาเล่มแรกก็มีปัญหาเลยเพราะมีปฏิวัติ กันยายน 2549 พอดี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการตำรวจ พร้อมสภาพเศรษฐกิจไม่ดี แต่เราก็ต้องเดินหน้าต่อ อยากทำให้น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ทำออกมาแล้วไปไถเงินเขา ไม่ใช่รายสะดวกแบบนั้น เพราะภาพพจน์ก็ไม่ดีกับวงการสื่อด้วย

ลุยต่อถือคติ”ไม่มีก้าวแรก ไม่มีก้าวต่อไป”

บางคนเห็นเป็นหนังสือตำรวจก็กลัว เกรงใจ แต่เราไม่ใช่อยากทำให้ดูดี โดยอาศัยประสบการณ์นักข่าวหลายๆคนมาช่วย พรรคพวกเพื่อนฝูง พี่ๆน้องๆ ผ่านไปแบบกระท่อนกะแท่น จะไม่รอดก็หลายครั้ง เพราะต้นทุนเราสูง เป็น 4 สีอาร์ตมัน ดีที่มีพรรคพวกช่วยกัน ทำให้ผ่านปีแรกไปได้ ก็คงตามคอนเส็ปที่ว่า “ถ้าไม่มีก้าวแรก ก็ไม่มีก้าวต่อไป” เราคิดแบบนี้” อยากทำหนังสือยังไงก็ได้ ไม่ให้ดูถูกคนอ่าน ไม่ดูถูกตัวเอง เกาะลึกวงการตำรวจรู้ลึก รู้จริง”

imageอยากถ่ายทอดมุมตำรวจ มุมนักข่าวดีๆ

เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่ ที่ทำออกมาแล้วจะขายลำบากเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบตำรวจ โต้งเฉลยว่า “ก็กลัวอยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่เราอยากถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานนักข่าว 10-20 ปี อยากถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง แต่มองว่ากลุ่มเป้าหมายอย่างตำรวจมี 2 แสนกว่าคน มันค่อนข้างชัดเจน ลูก เมียอีก เลยอยากเปิดมุมมองให้เห็นภาพดีๆของตำรวจบ้าง คนไม่ชอบตำรวจก็มี

เคยได้ยินแต่เรื่องเล่า ต้องให้เขาเล่าจากปาก

แต่อยากทำให้คนรู้จริงและรักตำรวจ บางคนคิดว่าตำรวจคนนี้อาจไม่ดี แต่ก็รู้จักเพียงคำบอกเล่า เขาเล่าว่า จึงอยากไปคุยกับเจ้าตัวให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ให้รู้ถึงตัวตน พยายามฉีกในหลายแง่มุม มีเรื่องของชาวบ้านด้วยให้มันน่าสนใจและมีประโยชน์กับคนอ่าน”

ผ่าน10ปี หมุนเงินทำหนังสือ24ล้าน

เมื่อถามถึงต้นทุนกว่าจะผลิตออกมาได้แต่ละเล่มในหนึ่งเดือน โต้งบอกว่า

“เยอะ.. เดือนละเกือบ 2 แสนบาท ถ้า
คิดว่า 10 ปี เดือนละ 2 แสน ก็ต้องหมุนเงิน 24 ล้านบาทผ่านมือ ยอมรับว่าเราเป็นนักข่าว นักเขียนที่มีประสบการณ์แต่เรื่องการตลาดไม่เก่ง ไม่รู้จะประชาสัมพันธ์อย่างไร แต่วันนี้เราเริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว ตำรวจหลายคนรู้จัก ซื้อไม่ซื้อไม่รู้ แต่เราแค่ขอให้เปิดอ่านดูเนื้อหาข้างใน มันเป็นความภูมิใจของคนทำหนังสืออย่างเรา”

imageให้รู้ทำด้วยใจ ไม่ใช่ให้ซื้อเพราะสงสาร

“ตำรวจที่สัมผัสตัวจริงอย่างพวกเรา รู้ว่าไม่เคยเรียกร้องอะไรกับใคร หลายคนมาช่วยเหลือ แต่ฝั่งฝันของเรายังไม่ถึง ฝันที่ว่าคือ ทุกโรงพักต้องมี COP’S ให้เป็นที่รู้จัก ไม่จำเป็นต้องซื้อ แค่เปิดอ่านและรู้จักก็มีความสุขแล้ว คนทำหนังสืออยากให้คนอ่านอยู่แล้ว ไม่ใช่ซื้อเพราะสงสารพวกเรา ซื้อแล้วไม่เปิดอ่าน ไม่ต้องการแบบนั้น ขอแค่เปิดอ่าน วิจารณ์ ติ-ชม ดีไม่ดี ชอบตรงไหนให้บอกกัน จะได้เป็นกำลังใจในการทำงาน เพราะเราทำด้วยใจจริงๆ”

เป็นสนามฝึกปรือให้เพื่อนพี่น้องนักเขียน

โต้ง เล่าอีกว่าใน COP’S MAGAZINE แต่ละเล่มแต่ละเดือน มีพี่ๆน้องๆมาช่วยกันเขียน ช่วยกันทำงาน นอกจากจะเป็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับแวดวงตำรวจ ยังเป็นสนามให้นักข่าวหลายๆคนฝึกฝีมือ เพื่อก้าวไปเป็นนักเขียนในอนาคต เราพร้อมรับนักเขียนที่มีฝีมือเสมอ โชคดีที่มีพรรคพวกเพื่อนฝูงช่วยเขียน

ได้บิ๊กตำรวจเป็นคอลัมน์นิสต์ประจำ

ได้อดีตตำรวจผู้ใหญ่มาช่วยหลายคน เพราะท่านศรัทธา เชื่อถือในหนังสือของเราจนเป็นคอลัมน์ประจำ ทั้ง พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ธำรงศรีสกุล พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท ซึ่งท่านเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ที่วงการตำรวจรู้จัก เป็นนักวิชาการ นักเขียน และมีตำรวจหลายคนมาช่วยเขียนทั้งที่ไม่ได้เรียกร้องอะไรเลย

imageถึงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีอัศวินม้าขาวประคองฝัน
“ส่วนความรู้สึกในการทำหนังสือจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความรู้สึกเราไม่เปลี่ยน แต่หลายคนเปลี่ยนไป อุดมการณ์เปลี่ยนไป หลายคนกลัวขาดทุน เข้าเนื้อ ถามว่าเรากลัวไหมก็กลัว เคยมีช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะทำต่อ หรือจะเลิก เคยคิดว่าจะขายรถเอามาทำทุน เพื่อให้หนังสืออยู่ได้ แต่หลายครั้งมีอัศวินม้าขาวมาช่วย เราสร้าง COP’S ขึ้นมา ก็จะพาในอยู่รอดในแผงหนังสือให้ได้ อย่างน้อยก็เป็นกระบอกเสียงให้ตำรวจดีๆ ที่ไม่มีที่ระบาย

ตีแผ่หลากหลายชีวิต ให้รู้ตัวตนจริงๆ 

ไม่ใช่การโปรโมต แต่เป็นการตีแผ่ชีวิต หากไม่ดีจริงก็ไม่ได้มาลง หากไม่เลวจริงก็ไม่ได้มาลงเช่นกัน เราเปิดโอกาสให้ได้พูด ทั้งผู้มีอิทธิพล หรือตกเป็นจำเลยสังคม หลายเคส เราก็เปิดให้มาลง มีคอลัมน์ทั้งเมียตำรวจ ลูกตำรวจมาให้อ่าน เพราะอยากให้รู้ว่าทำยังไงจะประคองชีวิตคู่อยู่ได้ ลูกตำรวจรู้สึกอย่างไรเมื่อพ่อต้องไปทำงานในช่วงที่หลายคนหยุด หรือกลับดึกๆดื่นๆ มีความภูมิใจอย่างไร เรื่องนี้อยากให้สังคมเห็นว่า ตำรวจก็มีหัวใจ ไม่ได้เลวไปทุกคน คนดีควรเชิดชูเขาบ้าง”

ดวงเป็นนักข่าว ถึงแม้พ่อเป็นตำรวจ

เมื่อถามถึงความหลังว่าทำไมถึงชอบตำรวจ โต้ง เผยว่า “พ่อชื่อ พ.ต.อ.ประสงค์ กฤษณสุวรรณ เป็นผู้กำกับที่ กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ตัวเราก็อยากเป็นตำรวจ ก่อนหน้านี้ก็เคยไปสอบนายร้อยแต่สอบไม่ติด แต่ดวงคงไม่ได้เป็นตำรวจ ดวงจะได้มาเป็นนักข่าว มาทำงานกับตำรวจแทน (หัวเราะ)

ใจอยากเป็นมือปราบ เพราะถวิล เปล่งพานิช

ก่อนหน้านี้เคยอ่านหนังสือของ พล.ต.อ.ถวิล เปล่งพานิช พ่อของ ฉัตรชัย เปล่งพานิช เป็นมือปราบชื่อดัง เลยอยากเป็นตำรวจจับโจรด้วย อีกอย่างมันก็รู้สึกเท่ดี คงเหมือนหลายคนที่อยากเป็นตำรวจเพราะเหตุผลนี้”

image

ข้อดีทำcop’s ได้สัมผัสจอมยุทธ์ในตำนาน
“ข้อดีของการทำหนังสือ COP’S MAGAZINE ทำให้เราย้อนเวลาไปหาตำรวจเก่าๆได้ หากเราทำแต่งานประจำสมองมันตื้อ แหล่งข่าวก็หาย พอเรามาทำก็ทำให้อัพเดตสมองเราตลอดเวลา สร้างแหล่งข่าวใหม่ๆ และย้อนไปหาตำรวจเก่าๆระดับตำนาน ที่เราไม่เคยได้สัมผัส ทั้ง พล.ต.ต.อมร ยุกตะนันท์ พล.ต.ท.เจริญ โชติดำรงค์ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์

ย้อนชีวิตนักสืบยุคก่อนโลกเปลี่ยน

บางคนไม่ได้สัมผัสตอนทำงาน แต่เราได้กลับไปคุยอีกครั้ง และเอาความคิดเก่าๆของเขา สื่อมาให้ตำรวจรุ่นใหม่รู้ว่าเขาทำงานกันยังไง ตำรวจรุ่นเก่าเฝ้าจุด เฝ้าคนร้าย กินนอนในรถไม่ได้สตาร์ทเครื่องเป็นวันๆทำได้ แต่สมัยนี้รอแค่ 10 นาทีก็ทนไม่ได้แล้ว นี่คือความเปลี่ยนไปของโลกปัจจุบัน”

ชีวิตถึงจุดนี้เพราะใจและความขยัน

“เราเองไม่ใช่ตำนาน ไม่ใช่คนเก่ง มีคนเก่งกว่าเราเยอะ แต่อาศัยทำงานด้วยใจและความขยันทำให้มาได้ถึงจุดนี้ เราชอบทุกคดีที่ผ่านในการทำงาน ชอบทุกคดี ทุกข่าวที่ตีหัวชาวบ้านได้ (หัวเราะ)

หมอฆ่าเมียเป็นคดีที่ชอบและสนุก

ตอนนี้ได้เขียนชีวประวัติตัวเองมาแล้ว ส่วนคดีที่ชอบและสนุกคงเป็นคดี หมอวิสุทธิ์ ฆ่า พญ.ผัสพร ภรรยาตัวเอง ที่มาช่วยตำรวจ มาร่วมพูดคุยวิเคราะห์ ท่ามกลางกระแสสังคมที่ไม่เชื่อว่าหมอจะฆ่าเมียตัวเอง และเป็นผู้เสียหายด้วย แต่มันเคยมีเคสอย่างคดี เสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาแพทย์ที่ฆ่าแฟนสาวตัวเองมาแล้ว ตำรวจก็คิดเหมือนเรา แต่เราไม่มีอำนาจในการล้วงลึกคดี คดีหมอวิสุทธิ์

ตามแกะรอยข่าวจนได้รางวัล

ไปนั่งวิเคราะห์ที่กองสืบ 1 มาตลอด คดีนี้ละเอียดอ่อน บางคนว่าหมอผัสพรหนีไป แต่เราได้หลักฐานที่เป็นจดหมายที่หมอผัสพรต่อว่า ระบายใส่หมอวิสุทธิ์ รุนแรง คาดว่าเป็นชนวนในการก่อเหตุ คดีนี้แกะรอยสนุกมาก ทำข่าวนี้จนได้รางวัล อยากให้นักข่าวรุ่นใหม่ทำงานให้ละเอียดขึ้น นักข่าวรุ่นใหม่ยุคโซเชี่ยล มีไลน์ แถมขี้เกียจ ไม่มีแหล่งข่าว สมัยก่อนเคยหาข่าวเอกสารในถังขยะจนเป็นข่าวใหญ่ ขึ้นหน้า 1 มาแล้ว แต่ตอนนี้นักข่าวสมัยนี้คงไม่มีแล้ว”

imageขอบคุณภรรยาที่เข้าใจความทุ่มเทของเรา
ถามถึงครอบครัว ภรรยาให้กำลังใจยังไงบ้าง โต้งยิ้มภูมิใจ

“ก็ต้องขอบคุณเขา ที่เสียสละดูแลครอบครัว เพราะเราทุ่มเทงานนี้มาก เพราะเรารักการเขียนหนังสือ ชอบอ่านหนังสือ พอมีสนามก็เต็มที่ เดี๋ยวนี้มีเฟสบุ๊คก็เขียนอะไรไปเรื่อยเปื่อย เพราะก็เหมือนการฝึกสมองตัวเองด้วย นักข่าวก็เหมือนนักเขียน แต่นักเขียนจะเป็นนักข่าวมันยาก ยุคก่อนๆ อย่าง ยาขอบ ศรีบูรพา ก็เกิดจากนักข่าว ไม่ได้มาจากนักเขียนโดยตรง มันเป็นศาสตร์ๆหนึ่งที่สร้างคนได้

รัก-เกลียดตำรวจ ก็ขอให้อ่านนิตยสารเล่มนี้

โต้ง เผยว่า “แม้จะทำหนังสือฉบับนี้มาได้ 10 ปีแล้ว แต่ความรู้สึกเหมือนผ่านไปเมื่อวานนี้เท่านั้น เพราะความฝันที่อยากให้ตำรวจทุก สน.รู้จัก มันยังไม่ถึงไหนเลย อยากให้ COP’S MAGAZINE เป็นที่รู้จักทั่วไป อนาคต COP’S อาจจะเป็นรูปแบบทีวีก็ได้ ใครจะรู้ ไม่ว่าจะรักหรือเกลียดตำรวจก็อยากให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้

ส่วนเย็นวันที่ 27 สิงหาคมนี้ เชิญบรรดาตำรวจ และสื่อมวลชนที่รู้จักคุ้นเคย ไปเจอกันที่ ห้อง EVENT HALL สวนลุมไนท์ บาซ่าร์ รัชดาภิเษก มาร่วมยินดีกับ COP’S MAGAZINE ครบ 10 ปี ก้าวสู่ปีที่ 11 กัน”


นี่คือความในใจของชายชื่อ โต้ง – ชนาธิป นักข่าวรุ่นเดอะ ตำนานสื่อ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กับ 10 ปีที่ผ่านมาของ COP’S MAGAZINE

imageimageimage