Thursday, November 21, 2024
More
    Homeคนข่าวมีรางวัลโต้ง-ชนาธิป นักข่าวต้องสะท้อนความจริง

    โต้ง-ชนาธิป นักข่าวต้องสะท้อนความจริง

    “หนังสือพิมพ์ ไม่มีวันตาย“

    คำที่ยังก้องอยู่ในหูผม แต่ในยุคอินเทอร์เน็ตกำลังครองโลกอยู่ในตอนนี้ มันทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมา พิจารณาว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของคนทำหนังสือ โลกเปลี่ยนหรือคนข่าวเสียเองที่เปลี่ยนไป

    อดีตความรุ่งเรือง กระแสนนิยม ของน้ำหมึกที่นับวันกำลังจางหาย

    จนกระทั่งผมได้พบกับว่าที่ตำนานนักข่าวอาชญากรรมจากรั้วสีเขียว หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

    “นายชนาธิป หรือ โต้ง กฤษณสุวรรณ” อดีตนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล

    ผู้ที่ผ่านคดีสำคัญในเมืองไทย และ คดีวิสามัญฯอย่างโชกโชน อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารแวดวงตำรวจที่ดีที่สุดในประเทศไทย

    ชนาธิป หรือ พี่โต้ง นักข่าวรุ่นใหญ่แห่งทุ่งนครบาล ผู้ที่มีใจตั้งมั่นต่อวงการน้ำหมึก เรียนจบจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ก่อนกระโดดเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ บ่มเพาะเรียนวิชาการทำข่าว ถ่ายภาพ ตลอดระยะเวลา 4 ปี

    ชนาธิป เล่าด้วยแววตาระลึกนึกถึงความหลังเมื่อครั้งได้เข้ามาสัมผัสวงการอาชญากรรม ให้ฟังว่า

    ช่วงการเรียนวิชาถ่ายภาพได้เข้าไปอยู่กับมูลนิธิร่วมกตัญญู เพื่อถ่ายภาพข่าวอาชญากรรม ไปกับเพื่อนผู้หญิงที่เรียนคลาสเดียวกัน

    ในมือตอนนั้นใช้กล้องฟิล์ม ยี่ห้อนิคอน รุ่น FA กระโดดขึ้นรถร่วมฯ ตระเวนไปทั่วกทม. สรุปคืนแรกของการถ่ายภาพนั้นได้เจอศพ ทั้งหมด 5 ศพ แตกต่างรูปแบบไป

    ศพที่สยองที่สุด คือ ศพลอยน้ำ และนี่เป็นการเห็นศพแบบจริงจังครั้งแรก ถือเป็นก้าวแรกที่หลุดเข้าไปในวงการข่าวอาชญากรรม

    โชคชะตาต้องวนเวียนให้กลับมาถ่ายภาพใหม่ เพราะฟิล์มล้างแล้วเสียทั้งหมด ชนาธิป ต้องกลับมาเกาะรถร่วมฯอีกครั้ง

    แต่คราวนี้ไม่ได้เจอศพให้ได้เก็บภาพ เลยต้องคอยวนเวียนอยู่กับมูลนิธิฯ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่นไป ทำงานจิตอาสาตามที่จะพอทำได้ในเวลานั้น และนี่เป็นการซึมซับในการทำข่าว อาชญากรรมไปโดยไม่รู้ตัว

    ชะตาลิขิตชีวิตเป็นนักข่าว

    “มันเหมือนโชคชะตาลิขิต ผมไม่เคยอยากเป็นนักข่าวอาชญากรรมด้วยซ้ำ อยากเป็นตำรวจแต่สอบไม่ติด หันไปเรียนนิติศาสตร์ ม.รามฯ ก่อนจะวกกลับมาเรียนที่นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ด้วยความชอบการถ่ายรูปและสนใจข่าวกีฬาในยุคนั้น” ชนาธิป บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

    ชนาธิป ลุยเล่าความหลังต่อในช่วงฝึกงานกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่า

    ได้เข้าไปฝึกงานไม่กี่วัน มีโอกาสไปงานเลี้ยงนักข่าวของชมรมนักข่าวอาชญากรรม จำได้ เนื่องจากเป็นวันที่ แคล้ว ธนิกุล หรือ ที่หลายคนรู้จักในนาม เฮียเหลา สวนมะลิ ถูกยิงเสียชีวิตที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม

    ในงานเลี้ยงเริ่มมีการจับกลุ่มคุยกัน สักพักเดียว หัวหน้าข่าวสั่งให้พี่นักข่าวที่ฝึกด้วย ตอนนั้นเข้าเวรบ่ายใต้ ให้ไปหาข่าวที่หน้าบ้านแคล้วในกทม.

    แคล้วโดนถล่ม เริ่มสนุกกับการทำข่าว

    เมื่อถึงที่หมายพี่เลี้ยงสั่งให้ไปหาข่าว ขณะนั้นถือว่ายังใหม่สำหรับการเป็นนักข่าว พยายามเดินหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด จนไปได้สัมภาษณ์กับนักมวยชื่อดังในค่ายของแคล้ว จากนั้นก็รวบรวมเขียนข่าวส่ง จากเหตุการณ์นี้เอง รู้สึกเริ่มสนุกกับการทำข่าว

    “ฝึกอยู่ไทยรัฐ 2 เดือน ได้อะไรมาเยอะ แต่ก็ยังไม่คิดว่าจะเป็นนักข่าวอาชญากรรม ก่อนกลับมาเรียนต่อ จนกระทั่งเรียนจบ

    หลังเรียนจบสมัครไว้หลายแห่ง สยามกีฬา เดลินิวส์ สยามโพสต์ สุดท้ายได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมสยามโพสต์ ที่กำลังก่อตั้งใหม่ ในช่วงนั้น” ชนาธิปกล่าว

    ชนาธิป พูดถึงอีกจุดเปลี่ยนของชีวิตไปตลอดกาลว่า

    หลังเรียนจบไม่นาน หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ติดต่อให้ไปสอบสัมภาษณ์ ตอนนั้นตัวเขาเองยังอยู่ที่จ.ตรัง รีบเดินทางกลับเข้าเมืองกรุงเพื่อเตรียมสอบ

    จนกระทั่งผ่านการทดสอบ และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ แต่ก็ยังไม่ได้ลงทำข่าวทันที

    ถูกจับไปอบรมความรู้ต่าง ๆ ในการทำข่าวพร้อมกับหนุ่มสาววัยเดียวกันที่ถูกคัดให้มาฝึกฝน ก่อนที่จะลงสู่สนามข่าวของจริง

    สกู๊ปข่าวแรกในชีวิต

    “ฝึกการเรียนข่าวหลายข่าว ไม่ว่าจะเป็น ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา อยู่ประมาณ 2 เดือน เพื่อดูว่าเราถนัดทางไหน

    จนกระทั่งได้ลงไปทำสกู๊ปเกี่ยวกับสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ จุดนี้เองที่ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และแหล่งข่าวในนิติเวช” ชนาธิป กล่าวถึงสกู๊ปแรกในชีวิต

    พฤษภาทมิฬ สนามข่าวจริง

    หลังจากผ่านการฝึก มีโอกาสได้ลงสนามข่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นแค่สนามข่าว แต่ครั้งแรกก็กลายเป็นสนามม็อบ เพราะเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

    การถูกปล่อยให้ทำข่าวในเหตุการณ์สำคัญใหญ่ระดับประเทศ เป็นสิ่งที่เกินคาดคิด จับต้นชนปลายไม่ถูก จนไปเจอรุ่นพี่นักข่าวไทยรัฐที่เคยคุ้นเคยกันในช่วงฝึกงาน ได้ขอติดสอยห้อยตามพี่ ๆ นักข่าวอาชญากรรม เพื่อเรียนรู้การทำข่าวไปในตัว

    กระทั่งวันที่สลายการชุมนุม เหตุการณ์วุ่นวายตั้งแต่ช่วงเช้ามืด จำได้ว่าเวลานั้นท้องฟ้าที่ใกล้รุ่งอรุณก็กลายเป็นสีแดงด้วยฤทธิ์ของกระสุนส่องวิถี

    กระสุนปืนวิ่งไปเฉียวมาไม่ทราบทิศทาง ชนาธิปได้แต่ก้มหลบ ก่อนจะฝ่าความชุลมุน แหกวงล้อมของฝูงชน กลับมายังบ้านพักได้

    ผ่านพฤษภาทมิฬ ด้วยสภาพสะบักสะบอม เพิ่มริ้วรอยให้กับประสบการณ์ในการทำข่าว กองบรรณาธิการ สยามโพสต์ มีมติให้ ชนาธิป มาเป็นนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล

    ก้าวแรกสู่รั้วทุ่งตำรวจนครบาล

    ชนาธิป เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นจากชงเหล้าให้พี่ จนพี่ไม่ให้ชงเหล้าเพราะชงหนักเหลือเกิน ประกอบกับชีวิตตอนนั้นอยู่ในวัยโสด เวลาที่มีทั้งหมดหมดไปกับการติดสอยห้อยตามพี่ๆ ไปทำข่าวทุกที่

    ด้วยความอยากรู้ อยากเห็น บ้านช่องไม่ได้กลับ สร้างแหล่งข่าว จนกระทั่งได้เข้าไปสู่วงนักสืบที่ยุคนั้นเรียกว่า สืบเหนือ สืบใต้

    ชนาธิป อธิบายถึงกองสืบว่า สืบเหนือ สืบใต้ สืบธน เปรียบเสมือนเป็นตำนานนักสืบสมัยก่อน

    มันคือชุมทางของนักสืบ สมัยนั้นตัวผมเองก็ยังเป็นเด็ก แต่ก็เข้ากับตำรวจที่มีอายุมากกว่าได้เป็นอย่างดี จนเราสามารถสร้างความไว้ใจให้กับนักสืบเหล่านั้นได้ จนมีแหล่งข่าวชั้นดี 

    “การสร้างแหล่งข่าว ต้องสร้างความไว้ใจก่อน“ เขาพูดห้วนๆเหมือนเป็นการสอนเด็กรุ่น ๆ ต่อไป

    ชนาธิป อยู่หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ประมาณ 3 ปี ผ่านคดีมามากมาย เนื่องจากมีนักข่าวอาชญากรรมไม่กี่คน เช่น

    เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เหตุกาณ์น้ำป่าวังตะไคร้ จ.นครนายก คดีสังหารสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขันธ์ คดีหม่อมลูกปลา โดยแต่ล่ะคดีได้พี่ๆช่วยเหลือ อย่างเช่น พี่เก๋ ไทยรัฐ

    ก่อนจะมาถึงปี 2538 ได้ย้ายมาอยู่หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เนื่องจากถูกพี่ๆ ทาบทาม

    ชนาธิป เล่าถึงก้าวที่สองของชีวิตนักข่าว ว่า มาอยู่ไทยรัฐก็ได้มอบหมายลงรถตระเวน ใช้ชีวิตบนถนนคนข่าวอาชญากรรม สร้างแหล่งข่าว ได้ไปคลุกอยู่กับนักสืบ แกะรอยคดีสำคัญ

    ส่วนการถ่ายรูปก็ไม่ได้ทิ้ง ยังลับฝีมือยู่ จนสามารถคว้ารางวัลภาพข่าวจากชมรมนักข่าวอาชญากรรมได้ตอนนั้น เป็นภาพคนเมายาบ้าใช้มีดจี้ตัวเอง

    ส่วนเรื่องการแกะรอยสืบคดีที่สำคัญจนนำไปสู่การได้รางวัลสุดยอดข่าวพูลิตเซอร์เมืองไทย อย่าง คดีการตายของพญ.ผัสพร คนร้ายในคดีนี้ก็คือ นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ สามีของเธอ

    ชนาธิป กล่าวว่า การทำข่าวชิ้นนี้ไม่ได้ทำเพื่อหวังรางวัลแต่อย่างใด แต่ทำเพื่อตีแผ่ความจริง ว่าใครคือฆาตกร

    ความภูมิใจไม่ใช่รางวัล เพียงแค่ทำให้หมอผัสพรต้องไม่ตายฟรี เนื่องจากในเวลานั้นกระแสสังคมไม่มีใครเชื่อว่าสามีผู้เป็นหมอที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น จะเป็นคนลงมือได้

    “คดีนี้เริ่มต้นจากหนึ่งพร้อมตำรวจ เริ่มจากประกาศคนหาย ก่อนจะลงไปแกะรอยกับตำรวจ ได้นั่งวิเคราะห์ ดื่ม สนทนา กับชุดสืบสวนที่ทำคดีนี้จริงๆ จึงทำให้ทำงานชิ้นนี้สำเร็จ

    เราต้องคิดว่า เราก็เหมือนตำรวจ ตำรวจก็เหมือนเรา เพราะเราคือคน ประสบการณ์เราก็มี ในแต่ละเคส เราช่วยตำรวจวิเคราะห์ ได้ ” ชนาธิปเผย

    ชนาธิปยังฝากถึงนักข่าวรุ่นน้องว่า ทำข่าวให้สนุก ไม่ต้องแข่งกับใคร หรือต้องชนะใคร ข่าวจะได้ลงหรือไม่ได้ลง ชาวบ้านเขาไม่รู้หรอก

    เป็นนักข่าวจะต้องสะท้อนความจริงออกมา ไม่ใช่ไปตามกระแสโซเชียล

    ทำไมเมื่อก่อน ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด มีแนวทางแตกต่างกัน ก็เพราะมีการแข่งขัน ข่าวจึงออกมาไม่เหมือนกัน

    คนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน

    เขียนไข20/4/62

     

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments