จากกรณีได้มีการแชร์รูปหนังสือบันทึกข้อความเรื่องขอลาออกจากราชการของ พ.ต.ท.รติวุฒิ นาคแก้ว รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ลาดพร้าว ปฎิบัติ ราชการ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.อุดมสุข โดยหนังสือบันทึกข้อความดังกล่าวระบุข้อความสำคัญทั้งหมดว่า..
“กระผมรับราชการมานานถึง 31 ปี แต่พบว่าระบบราชการแบบในปัจจุบัน ไม่ทำให้กระผมมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการได้แต่อย่างใด อีกทั้งพบและเชื่อว่าไม่มีความหวังว่าจะมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานราชการแบบระบบปัจจุบันได้ในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้เหลือเวลารับราชการอีก 10 ปี สุขภาพร่างกายยังดี ไม่มีโรคประจำตัว และหากลาออกไปประกอบอาชีพอื่นจะมีความสุขความก้าวหน้าในช่วงชีวิตที่เหลือ ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับงานสอบสวนที่หนัก ค่าตอบแทนต่ำมีแต่ความเครียด และเพื่อให้พ้นจากระบบราชการที่เป็นแบบในปัจจุบันนี้ จึงขอลาออกจากราชการ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตามระเบียบเป็นต้นไป”
ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พ.ต.อ.ปรีชา เพ็งเภา ผกก.สน.อุดมสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ทราบเรื่องแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งหนังสือบันทึกข้อความดังกล่าวมาถึงตนแต่อย่างใด โดยจากที่มีการแชร์ส่งต่อกันก็เป็นเพียงร่างหนังสือ ไม่มีการลงลายเซ็นเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนหน้านี้ทาง พ.ต.ท.รติวุฒิ ก็เคยปรึกษาเรื่องการขอลาออกมาบ้างแล้ว เนื่องจากงานสอบสวนเป็นงานที่หนักและมีความเครียด ซึ่งตนได้รับฟังถึงปัญหาและเคยช่วยแนะนำให้คำปรึกษาไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการลาราชการเป็นเวลา 4 วัน หลังจากกลับไปปฎิบัติหน้าที่แล้วก็จะพูดคุยเป็นการส่วนตัวเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาอีกครั้งต่อไป
ก่อนหน้านั้น คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยพล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ แถลงรายงานผลการศึกษาการปฏิรูปตำรวจว่า คณะอนุกรรมการฯเห็นควรปฎิรูปและเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เพื่อบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญามารวมอยู่ภายใต้รัฐมนตรีคนเดียวกัน และให้การบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล จะได้ประสานงานใกล้ชิด ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ ในรายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจฯ ยังศึกษางบประมาณตำรวจ และเสนอให้ปรับปรุงเงินเดือนและค่าตอบแทนข้าราชการตำรวจให้ต่างจากข้าราชการพลเรือน เพราะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่สูงกว่าข้าราชการพลเรือนถึง 13.56-22.57 เท่า โดยกำหนดให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญระดับเดียวกัน 1.28 เท่า และข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ 1.74 เท่า
“โดยตำรวจชั้นประทวนบรรจุใหม่ควรมีเงินเดือนเริ่มต้น 13,773 บาท จากเดิม 10,760 บาท ขณะที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรบรรจุใหม่ควรมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 26,605 บาท จากเดิม 15,290 บาท และควรมีอัตราเงินเพิ่มเติมแก่ตำรวจสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานจราจรและสายงานสืบสวนที่เสี่ยงกว่าสายอำนวยการ”
“โดยตำรวจชั้นประทวนบรรจุใหม่ควรมีเงินเดือนเริ่มต้น 13,773 บาท จากเดิม 10,760 บาท ขณะที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรบรรจุใหม่ควรมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 26,605 บาท จากเดิม 15,290 บาท และควรมีอัตราเงินเพิ่มเติมแก่ตำรวจสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานจราจรและสายงานสืบสวนที่เสี่ยงกว่าสายอำนวยการ”