วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวเพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจกรณีการบังคับใช้กฎหมายกับบุหรี่ไฟฟ้าและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า
กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ และการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับ
“บุหรี่ไฟฟ้า การสูบ – ครอบครอง ไม่ได้นำเข้า – ผลิต – ขาย ผิดกฎหมาย หรือไม่ ” ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
1. กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งที่
9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง และมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่
และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย
นอกจากนั้นยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษา หรือไม่
3. กรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร
จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามแม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร
สคบ. จะดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้าทุกราย
หากผู้ใดพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเบาะแส (โดยข้อมูลการแจ้งเบาะแสของท่าน สคบ. จะเก็บไว้เป็นความลับ) ได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 (ในวันและเวลาราชการ) และ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ “ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค” หรือ โมบายแอพพลิเคชั่น “OCPB Connect ” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งสถานีตำรวจในท้องที่