ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดโครงการชุมชนยั่งยืนแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อสร้างรากฐานในชุมชนเกิดความแข็งแรง
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 เมษายน66 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ปป.3) พ.ต.อ.พิษณุ วัตถุ รอง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา และคณะ เดินทางตรวจเยี่ยม พูดคุยซักถามประชาชนที่มาใช้บริการที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลฝ่ายป้องกันและปราบปราม มี พล.ต.ต.ประสงค์ เรืองเดช ผบก.ภ.จว.อุบลราชธานี พ.ต.อ.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ รอง ผบก.ภ.จว.อุบลราชธานี พ.ต.อ.คนองฤทธิ์ ดาราช ผกก.สภ.เมืองอุบลราชธานี ให้การต้อนรับ
จากนั้นเวลา 15.00 น.เดินทางมายัง วัดเขื่องใน หมู่ 1 ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราช ธานี เพื่อร่วมในพิธีเปิดโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติประจําปี พ.ศ.2566 และการลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกับเครือข่ายในการบรูณาการดําเนินโครงการ
ประกอบด้วย โรงพยาบาลเขื่องใน , สาธารณสุขอําเภอเขื่องใน , นายกเทศมนตรีตําบลเขื่องใน ,สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี , กศน.อําเภอเขื่องใน และ พัฒนาการอําเภอเขื่องใน โดยมีนายสันติพงษ์ สมศรี นายอําเภอเขื่องใน ประธานในพิธี พ.ต.อ.สุรวิทย์ โยนจอหอ ผกก.สภ.เขื่องใน ตำรวจ สภ.เขื่องใน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการสร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก รวมทั้งการสร้างการรับรู้และเข้าใจปัญหาพิษภัยที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดที่มีผลกระทบต่อตนเอง
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันถือว่า ผู้เสพยาเสพติด คือ ผู้ป่วย เป็นโรคสมองติดยาและเป็นภัยต่อสุขภาพที่สำคัญส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของประเทศ โดยแนวทางการช่วยเหลือบำบัดรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลถึงการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ
ปัญหาการติดยาเสพติดเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งอาจส่งผลเกี่ยวเนื่องกับสภาพปัญหาอื่น ๆ หลายด้าน เช่น ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ซึ่งเป็นทั้งปัจจัย สาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้น การบำบัดรักษาและการช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด ย่อมต้องพิจารณาในหลายมิติแบบองค์รวม หาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อการแก้ไขปัญหาได้รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านสังคม
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ฯ กล่าวอีกว่า
ในปีงบประมาณ 2566 สำนักงานตำรวจได้รับการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับดำเนินการโครงการฯ นี้ จากรัฐบาล 72,818,000 บาท ให้สถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,483 สน./สภ. ดำเนินการในห้วง 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.66) และเมื่อเดือน ก.พ.- มี.ค.66 ที่ผ่านมา ได้จัดการอบรมวิทยากรต้นแบบ ครู ก. และ ครู ข ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นวิทยากรต้นแบบชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน ทั่วประเทศ
ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย หัวหน้าสถานี หัวหน้าชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน ผู้แทนฝ่ายปกครอง ผู้แทนสาธารณสุข และผู้นำชุมชน เสร็จสิ้นไปแล้ว สามารถผลิตวิทยากรต้นแบบ (ครู ก.) เพื่อลงไปให้ความรู้และช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็งได้ จำนวน 3,451 คน
ภายหลังการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดขาดภูมิคุ้มกันทางใจ ขาดความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ จึงกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีก ดังนั้น เพื่อให้ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัด มีพลังในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข เพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง หลังจากการบำบัดฟื้นฟูตามกฎหมาย โดยชุมชนมีส่วนร่วม และนำไปสู่การดูแลของชุมชนอย่างยั่งยืนและครบวงจร
ในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดใกล้บ้าน หรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่องภายใต้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงในระดับสากลให้เป็นไปตามหลักการสาธารณสุข และสิทธิมนุษยชน มีกระบวนการตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง ฟื้นฟู และลดอันตรายจากยาเสพติด อีกทั้งสร้างภูมิคุ้มกันและติดตาม ดูแล ช่วยเหลือทางสังคม ปัจจุบันมีหลายชุมชนที่มีการบำบัด ดูแล และฟื้นฟูผู้เสพ ผู้ใช้ยาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางที่สามารถดูแลผู้เสพ ผู้ใช้ยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกชุมชนที่จะต้องลงมาแก้ไขปัญหายาเสพติด จะใช้ข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ส.เป็นหลัก ปีนี้ทาง อ.เขื่องในได้เลือก หมู่ 1 ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เป็นชุมชนนำร่องโครงการชุมชนยั่งยืนแก้ไขปัญหายาเสพติด ในห่วงวันที่ 3-5 เมษายน นี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (kick off) พื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด พร้อมกันทั่วประเทศ 1,483 ชุมชน
ความแข็มแข็งของชาวบ้าน และความร่วมมือของชาวบ้าน เสาเอกของโครงการนี้ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนโครงการคือนายอำเภอ และเสาหลักที่จะค้ำเสาเอกคือตำรวจ สาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่น ถ้า 1 เสาเอก 4 เสาหลักทำงานประสานกันด้วยดีก็จะทำให้โครงการนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี
ต้องบอกว่าบ่อเกิดของอาชญากรรมกว่า 80% มาจากยาเสพติดซึ่งอาจจะเป็นผู้เสพ หรือผู้ค้า ถ้าเอาผู้เสพมาบำบัด ผู้ค้าก็จะไม่มีที่ยืนอาชญากรรมในพื้นที่ก็จะลดไปโดยปริยาย เมื่ออาชญากรรมลดความสงบสุขก็จะเกิดขึ้นชุมชนก็จะปลอดภัยชาวบ้านก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข