วันที่ 28 กรกฎาคม66 พล.ท.กฤษฎา สาริกา รองอธิบดีกรมมหาดเล็ก 904 เป็นประธานอัญเชิญผ้าไตรและเครื่องไทยธรรมพระราชทาน ถวายแด่ พระครูวศินปริยัตยากร หรือ พระอาจารย์โชคดี เจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 71 พรรษา
มี ประธานฝ่ายสงฆ์ พระธรรมวชิรเมธี (มีชัย วีรปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม เจ้าคณะภาค 1 นำสวดเจริญชัยมงคลคาถาทั้งนี้มี นายวันชัย สอนสิริ วุฒิสภา พร้อมคณะกรรมการ และพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ร่วมในพิธี
นอกจากนี้ ทางวัดได้นำข้าวสารอาหารแห้งจำนวน 100 ถุง มอบให้กับชาวบ้านในชุมชนวัดไก่เตี้ย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
พระครูวศินปริยัตยากร หรือ พระอาจารย์โชคดี เล่าถึงความเป็นมาของ ”หลวงพ่อสัมฤทธิ์” พระประธาน ในอุโบสถวัดไก่เตี้ยว่า
เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย(สะดุ้งมาร) องค์พระลงรักปิดทองคำทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 73 นิ้ว ลืมพระเนตร ในตำนานกล่าวไว้ว่า พระมหาธรรมราชาที่ 4 พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองเมืองสุโขทัย เป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อเป็นพุทธบูชาในยุคนั้น ราวปี พ.ศ.1979
ครั้นมื่อเกิดศึกสงครามได้ถูกนำล่องแพขนาบกับไม้ไผ่มาตามแม่น้ำยมลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อล่องแพมาถึงท้องคุ้งคลองบางกอกน้อยเพลาใกล้พลบค่ำ เกิดความมหัศจรรย์ ฟ้าร้องคำรามรอบทิศทาง ท้องฟ้าแผ่สว่างไปด้วยประกายสีทอง และแพก็หยุดนิ่งไม่เคลื่อนไปข้างหน้า แม่ทัพนายกองและสมุนไพล่พลต่างตกตะลึงทำอะไรกันไม่ถูก ทุกคนจึงหยุดพักแรมที่ริมฝั่งคลองบางกอกน้อย เมื่อเดินขึ้นฝั่งเพื่อพักผ่อน จึงได้พบพระธุดงธ์ปักกรดอยู่ที่ป่าโคนไม้ แม่ทัพนายกอง จึงได้สนทนาธรรมเกิดความศรัทธา จึงนำหลวงพ่อสัมฤทธิ์ขึ้นจากแพประดิษฐาน โดยห่างจากชายฝั่งคลอง 28 ก้าวเท้า
ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ ครั้งเมื่อเกิดสงครามเก้าทัพ ปี 2328 แม่ทัพนายกองมาทำพิธีบวงสรวงต่อหน้าหลวงพ่อสัมฤทธิ์และวางแผนขุมกำลังในการสู้รบครานั้น พม่ายกทัพมา 9 ทัพ 5 ทาง เป็นสงครามครั้งแรก ระหว่างราชวงศ์โก้นบองของพม่ากับอาณาจักรรัตน โกสินทร์แห่งราชวงศ์จักรี
พระเจ้าปดุงแห่งพม่ามีความทะเยอทะยานที่จะขยายพระราชอำนาจของพระองค์เข้ามาในสยาม แต่ก็ได้รับความปราชัยต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) หลังจากนั้นพระองค์จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธมาบูรณะวัดไก่เตี้ย ด้วยความศรัทธาในชัยชนะคราวนั้น
สำหรับวัดไก่เตี้ย เป็นวัดราษฎ์ ที่เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) สมุหนายกคนแรกของประเทศไทยต้นสกุล สนธิรัตน์ ได้ทำการบูรณะขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1
วัดได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2511 มีการสร้างบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะ และได้รื้ออุโบสถหลังเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากเป็นไม้และผุพังลง ได้ก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นคอนกรีต ทำพิธียกช่อฟ้าเมื่อ พ.ศ.2512 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2514