แฟ้ม(ไม่)ลับสีกากี
หน้าที่ 5 ตอน “ผู้กองโก๊ะสืบปทุมวันปฏิญาณตนขอเป็นตำรวจลากคออาชญากร”
โดยสมถวิล…
ร้อยตำรวจเอกราชภิภพ ขุมทรัพย์ หรือผู้กองโก๊ะ พื้นเพเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษามัธยมปลายจากโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อปี 2535 คุณพ่อถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต ประกอบกับคุณพ่ออยากให้เป็นตำรวจ จึงมุ่งมานะศึกษาจนจบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพและสำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิตไทย ซึ่งขณะนั้นพลตำรวจเอกเสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดรับบุคคลภายนอกที่สำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิตไทยและปริญญาโทเข้าบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรจึงได้มาสอบในหลักสูตรเฉพาะ นักเรียนอบรมนายร้อยรุ่นที่ 461 มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่างพันตำรวจตรีสุรเชษฐ์ เดชะพันธ์ สารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
ส่วนเส้นทางการเดินทางบนสายสีกากีของผู้กองโก๊ะนั้น เริ่มจากได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ร่วมเป็นคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีไฟไหม้สถานบันเทิงซานติก้า ผับ ต่อมาโยกมาเป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 3 ลงทีมคลายปมสังหาร “เอ๊กซ์” จักรกฤษณ์ พาณิชย์ผาติกรรม นักแม่นปืนทีมชาติไทย คดีคนร้ายปล้นทรัพย์ร้านสะดวกซื้อ ห้างบิ๊กซี หนองจอก จับกุมผู้ต้องหาร่วมกันฆ่านักศึกษาอาชีวะ 4 ศพ จากนั้นได้โยกมาเป็นรองสารวัตรสืบสวนกองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 6 ร่วมทีมจับกุมผู้ต้องหาแก๊งชาวจีนปล้นปืนร้านปืนวังบูรพา จนกระทั้งปัจจุบันเป็นรองสารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน ร่วมจับกุมผู้ต้องหาแก๊งลักรถจักรยานยนต์ ย่านปทุมวันและใกล้เคียง
“สังคมปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก อาชญากรรมก็เช่นกัน มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อาชญากรใส่สูทก็มีเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ตำรวจจึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ในทุกๆด้านทั้งในดฝการบังคับใช้กฎหมาย ยุทธวิธีและเทคนิคในการสืบสวนติดตามคนร้ายจึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตำรวจในยุคปัจจุบันจึงต้องตื่นตัวเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธภาพ”
ส่วนนายตำรวจที่ประทับใจหรือเป็นตำรวจต้นแบบคือ พันตำรวจเอกภิรมย์ สวนทอง รองผู้บังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล เนื่องจากท่านเป็นครูด้านงานสืบสวนคนแรกที่สอนมุมมองของความทุ่มเทและวฝการวิเคราะห์ในมูลเหตุแห่งคดีและเทคนิคด้านการสืบสวนต่างๆที่ใช้ในการติดตามจับกุมคนร้าย
อุดมคติประจำใจ : ทำดีแม้ไม่มีใครเห็นก็ต้องทำ ยึดเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่เสมอมา