หลังจากที่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค และพรรคก้าวไกลในการหาเสียง เลือกตั้งสภาผูู้แทนราษฎรเมื่อปีที่ผ่านมา
ด้วยนโยบายจะแก้ไขมาตรา 112 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวเสีย
ทั้งนี้นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เป็นผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยการหาเสียงของนายพิธาและพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่
ถัดมาวันเดียว นายธีรยุทธ แจ้งว่าจะไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นคำร้องต่อประธาน กกต.และ กกต.ขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่ของกกต. เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว
นี่คือประเด็นข่าวใหญ่ของประเทศไทยในวันนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงหลายทิศหลายทาง
ลองฟังความเห็นของนักกฎหมายระดับอาจารย์พูดให้ฟังอย่างง่ายๆ ไม่เยิ่นเย้อ ได้ใจความ
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองคำวินิจฉัยของศาลรธน.ในรายการของมติชนทีวีบอกว่า “ตกกะใจ”
เพราะการหาเสียงเพียงแค่มีนโยบายจะแก้ไข ม.112 ยังไม่มีการเสนอเป็นร่างแก้ไขกฎหมายเข้าไปในสภาฯเลย ซึ่งจริงๆ แล้วการหาเสียงด้วยนโยบายอะไรต้องผ่านการอนุมัติของ กกต.ก่อน
กกต.จะประเมินว่านโยบายนั้นๆ เป็นยังไงก่อน แต่พอการเสนอนโยบายเป็นความผิด ในฐานะคนสอนกฎหมาย น่าจะเสนอแนวคิดด้วยการใช้อำนาจของศาลรธน.เข้ามากำกับอย่างน่ามหัศจรรย์
อันนี้เป็น “ปัญหาใหญ่”มาก ศาลรธน.เข้ามาตรวจสอบได้เลยหรือพูดแบบภาษาชาวบ้าน“ยังไม่ทันจะตั้งไข่เลย” แล้วมา “คุมกำเนิด”เลย หรือยังไม่ผสมพันธุ์เลยก็บอกว่า “ตั้งไข่แล้ว”
คือศาลรัฐธรรมนูญ สามารถตรวจสอบแนวทางนโยบายของพรรคการเมืองได้ อย่างไม่มีขีดจำกัดได้หรือไม่
นายปรีชา ย้ำว่า
ฟังแล้วงงมาก มาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา เทียบเท่ากับกฎหมาย พระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการที่จะออก แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิก เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยบอกว่า ต่อไปเสนอแก้ไม่ได้เลยหรือ
ต้องยอมรับความจริงว่า “กฎหมายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ ไม่มีกฎหมายอะไรเลยที่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า อันนี้แก้ไขไม่ได้
ศาลรัฐธรรมนูญเอาอำนาจอะไรมา “แช่แข็ง”รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
หรือหมายความว่า “มาตรานี้ห้ามแตะ” ถึงได้บอกว่า “น่ามหัศจรรย์” เพราะนี้คือมาตราหนึ่ง่ของพระราชบัญญัติ ที่เคยถูกแก้ไขเพิ่มอัตราโทษมาแล้วในสมัยรัฐประหารปี 2519
เท่ากับว่ายอมรับการแก้ไขกฎหมายนี้ได้อย่างเดียวคือจากการ “รัฐประหาร” แต่ถ้าเป็นการแก้ไขโดยกระบวนการนิติบัญญัติ โดยสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอันนี้ทำไม่ได้
เป็นตรรกะที่ไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็น “หลักหมาย”สำคัญ
คำวินิจฉัยนี้ เป็นการ “ปูทาง” ให้มีการดำเนินการต่อไปถึงขั้้น “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิ์ทางการเมือง”
บัดนี้มันหมายความว่า สถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มันถูกจำกัดพื้นที่ให้ “คับแคบ”
สิ่งที่จะเกิดขึ้น เราก็น่าจะได้เห็น “การเมืองบนท้องถนน” มากขึ้น
ถามว่า เราอยากเห็นการเมืองบนท้องถนนมากขึ้นจริงหรือ ภายใต้สภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ การระบาดของโควิดที่เพิ่งผ่านพ้นมา
สังคมไทยพร้อมที่จะปล่อยให้ “ชนชั้นนำ”ทำให้การเมืองบนท้องถนน “เบ่งบาน”มากขึ้น เพราะนี้่คือ “แรงกดดัน”ที่ชนชั้นนำทำให้เกิดขึ้น
คนไทยจำนวนหนึ่งคิดว่า หลังการเลือกตั้งปีที่แล้ว 2566 หวังว่า ปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะถูกนำเข้าไปถกเถียงหาคำตอบหาทางแก้ไข ภายใต้ระบบรัฐสภา อีกไม่นานบรรดา สมาชิกวุฒิสภา ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจะพ้นตำแหน่งไป
น่าจะทำให้การทำงานตรงนี้ได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่บัดนี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า ตรงนี้มันไม่ทำงานนี่นา เพราะถูกบีบให้มีพื้นที่คับแคบ มันเป็นเส้นทางที่ถูกกำกับให้เดินไปในทิศทางแบบนี้
เป็นการลากสังคมไทยเข้าไปสู่การเมืองบนท้องถนนอีกรอบหนึ่ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ด้วยซ้ำ
นั่นคือความเห็นหนึ่งของนักกฎหมายระดับอาจารย์ที่นำมาเสนอให้ประชาชนคนเดินดินอย่างเราๆ ท่านๆ มาประกอบการพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยผู้ช่ำชองกฎหมาย 9 คน
ฟังแล้วมัน “เสียวมั้ย”
ดอนรัญจวน
1/2/2567