พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจโครงการชุมชนยั่งยืน จ.ชัยภูมิ ยกตำบลละหาน เป็นชุมชนต้นแบบดีเด่นในการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด
วันที่16 ก.ย.67 พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.นายสมบัติ ไตรศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พล.ต.ท.นพดล ศรสำราญ พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ หัดหกล้า ที่ปรึกษากองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, พล.ต.ต.สุขาติ คล้ายจันทร์พงษ์ ผบก.ภ.จว.ชัยภูมิ พ.ต.อ.พิชิต มีแสง รองผบก.ภ.จว.ชัยภูมิ ,นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นพ.สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ นางพิมพ์พิศา ศรีธรรมา ผอ.สำนักงานฝีมือแรงงานชัยภูมิ และ นายไกรเลิศ ดาวเรือง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ส. ภาค 3 พร้อมคณะทำงานโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนของ ตร.
ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ผลการปฏิบัติโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด ตามนโยบาย เร่งด่วนของรัฐบาล ในพื้นที่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ
โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนฯ เป็นการค้นหาผู้เสพยาเสพติดในชุมชน และนำเข้าสู่กลไกการบำบัดด้วยความสมัครใจ โดยมีการบูรณาการกำลังจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้แก่ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และสาธารณสุข และในทุกขั้นตอนของการบำบัดจะให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการคืนผู้เสพกลับสู่ชุมชน
ในพื้นที่อำเภอจัตุรัสนั้น ได้ทำ 2 โครงการ ได้แก่พื้นที่ ตำบลละหาน (โครงการระดับตำบล) ดำเนินการตั้งแต่ 18 ธ.ค.66 ถึง 31 พ.ค.67 และพื้นที่ชุมชนหมู่ 3 ตำบลกุดน้ำใส (โครงการระดับหมู่บ้าน) ดำเนินการตั้งแต่ 10 มิ.ย.67 ถึง 10 ก.ย.67
ผลการดำเนินการของทั้ง 2 โครงการถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญได้แก่ฝ่ายปกครอง คือ นายอำเภอจัตุรัส (นายเดช เสนาะคำ) ที่ให้ความสำคัญของโครงการ และเข้ามาบริหารจัดการ สนับสนุนการดำเนินการทุกขั้นตอน
โดยดำเนินการไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.จัตุรัส มี พ.ต.อ.อาทิตย์ ฉัตรชัยรัตนเวช ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจัตุรัส เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในโครงการ จนทำให้โครงการชุมชนยั่งยืนทั้ง 2 แห่ง ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะของตำบลละหานนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะได้รับการประเมินผลจากคณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ว่าเป็นตำบลดีเด่นต้นแบบ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จากจำนวนตำบลที่ร่วมโครงการทั้งหมด 100 ตำบล
ในภาพรวมของทั้ง 2 โครงการนั้น สามารถค้นหาผู้เสพเข้าร่วมการบำบัดฟื้นฟูได้รวมทั้งสิ้น 240 ราย และมีผู้เสพที่ผ่านการบำบัดในโครงการ กลับคืนสู่ชุมชน (โดยได้รับใบรับรองจากแพทย์ตามกฎหมาย) รวมจำนวน 96 ราย ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการประเมินของแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ผ่านการบำบัดเพิ่มขึ้นอีก
ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ พล.ต.ท.นิรันดรฯ ยังได้เปิดเวทีหารือร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันถอดบทเรียนความสำเร็จ เพื่อจะได้นำแนวทางปฏิบัติของ อำเภอจัตุรัส ไปเป็นตัวอย่างชุมชนต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืน ของ ตร. ในอนาคต
จากการถอดบทเรียนพบว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือกันของหน่วยงานภาคีทั้ง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน พร้อมทั้งการแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมจากองค์กรภาคเอกชน เช่น ทุนประกอบอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัด
นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินการ ในรูปแบบ อสม.บัดดี้ ในการดูแลผู้บำบัดอย่างใกล้ชิดแบบ 1 ต่อ 1 การจัดกิจกรรมบำบัด ด้านฝึกอาชีพ ได้รับความร่วมมือจากแรงงานจังหวัด จัดกิจกรรมฝึกอาชีพที่ทำให้ผู้บำบัดสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง กิจกรรมบำบัดทางการแพทย์ (CBTx) มีแพทย์รักษาเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง และหนังสือรับรองผู้ผ่านการบำบัด จะต้องออกโดยโรงพยาบาลจัตุรัส และลงนามโดยแพทย์
นอกจากนั้นยังมีการจัดประชุมติดตามการปฏิบัติทุกสัปดาห์ โดยนายอำเภอเป็นประธานการประชุมด้วยตนเองทุกครั้ง ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลสำเร็จต่อโครงการ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน จนสามารถขยายพื้นที่ดำเนินการได้และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน
พล.ต.ท.นิรันดรได้กล่าวในที่ประชุมถอดบทเรียนว่า “เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของโครงการนี้ คือ ผู้เข้าร่วมบำบัดในโครงการต้องหาย ไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก ผลสำเร็จของโครงการก็จะส่งผลดีกลับไปยังชุมชนเอง เป็นการช่วยลดปัญหาอาชญากรรม ลดปัญหาสังคมในชุมชน
โครงการนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิด ผู้เสพหน้าใหม่ขึ้นในชุมชน ป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรยาเสพติดได้อีกด้วย ประการสำคัญคือผลของโครงการนี้ ทำให้ชุมชนสามารถดูแลชุมชนโดยพึ่งพาคนในชุมชนกันเองได้ ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างเต็มรูปแบบต่อไป”