“โจ๊กเกอร์” วายร้ายตัวเอ้จากค่าย ดีซี คอมิคส์ กลายเป็นหนึ่งในวายร้ายจากโลกของซุปเปอร์ฮีโร่ ที่ถูกนำมา “ตีความ” อย่างเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังผ่านภาพยนตร์ชื่อ Joker
โดยที่ไม่ต้องมีซุปเปอร์ฮีโรฝั่งธรรมมะอย่าง “แบทแมน” ออกมาวาดลวดลายแต่อย่างใด
เพราะ Joker ก็คือเรื่องราวชีวิตล้วน ๆ ของ “โจ๊กเกอร์” หรือ “อาร์เธอร์ เฟล็ก” นักแสดงตลกผู้อาภัพเจ็บป่วยและมีปัญหาทางจิต
Joker ที่ออกฉายในปี 2562 เป็นงานที่ “ท็อดด์ ฟิลลิปส์” ได้นำเสนอให้เห็นว่า อาร์เธอร์ เฟล็ก รับบทโดย วาคีน ฟีนิกซ์ เลี้ยงชีพด้วยการแต่งตัวเป็น “ตัวตลก” ในสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำของเมืองกอแธม
https://www.youtube.com/watch?v=X7xGxfHoGws
ชายหนุ่มถูกรังแก โดนเอารัดเอาเปรียบ จนความยุติธรรมกลายเป็นเรื่องห่างไกลและเป็นความฝันอันเลือนราง
จนกระทั่งเขาได้ล่วงรู้ความลับของ “เพนนี เฟล็ก” ผู้เป็นมารดา ว่าเธอเคยเป็นคนรักของ “โธมัส เวย์น” มหาเศรษฐีเจ้าของเวย์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ ซึ่งเป็นพ่อของ “บรูซ เวย์น” หรือ “แบทแมน” ขวัญใจมหาชนทั่วโลกนั่นเอง
อาร์เธอร์ เฟล็ก ปักใจเชื่อว่า โธมัส เวย์น เป็นบิดาของตน ขณะที่เรื่องราวก็ค่อย ๆ เผยว่า เพนนี เฟล็ก อาจจะมโนมาทั้งชีวิตและทึกทักไปเองว่า โธมัส เวย์น เป็นคนรักของเธอ
ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต อาร์เธอร์ ไม่ได้อยู่ที่ความหวังว่าตนจะกลายเป็นลูกชายมหาเศรษฐี
แต่การที่เขาสังหารชาย 3 คนที่ทำงานในเวย์น เอ็นเตอร์ไพรซ์ รวมถึงสังหาร “เมอร์เรย์ แฟรงคลิน” (โรเบิร์ต เดอ นิโร) พิธีกรทีวีชื่อดังที่เหยียดหยามและแสวงหาประโยชน์จากการสร้างความอับอายให้กับตัวตลกหนุ่ม
แม้ว่าชายหนุ่มผู้ป่วยจิตจะชื่นชอบและเทิดทูนพิธีกรคนดังอย่างมาก
โดยผู้ชมก็ได้เห็น อาร์เธอร์ ในภาพลักษณ์ของ “โจ๊กเกอร์” ก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ผ่านจอ
การกระทำอันอุกอาจของ “โจ๊กเกอร์” ได้สั่นสะเทือนไปทั้งบางของกอแธม
แม้เสียงสาปแช่งจะมากมาย แต่เสียงสนับสนุนจากผู้คนที่มีชีวิตอาภัพอับโชคตกเป็นเหยื่อความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ก็ดังเซ็งแซ่ขึ้นมา กลายเป็นฐานเสียงสำคัญของ “โจ๊กเกอร์” ที่สร้างความตื่นตระหนกต่อสังคม
ในงานใหม่ล่าสุดของ ท็อดด์ ฟิลลิปส์ ในชื่อ Joker : Folie à Deux ก็คือการสานต่อเรื่องราวของ อาร์เธอร์ เฟล็ก ที่กลายมาเป็นนักโทษในคุกของเมืองกอแธม และชีวิตของชายหนุ่มแม้จะอยู่ในที่จำกัด เขาก็ยังเผชิญกับการถูกเอาเปรียบรังแกไม่ต่างจากชีวิตที่อิสระภายนอก
ทว่าการได้รู้จักกับ “ลี ควินเซล” รับบทโดย “เลดี้ กาก้า” หญิงสาวที่ปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางผู้ป่วยทางจิต ก็ทำให้คืนวันในกรงขังของ อาร์เธอร์ สดชื่นขึ้นมาไม่น้อย
เขาเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างตนเองกับ ลี ควินเซล คือความรัก ซึ่งตลอดเวลาที่ได้พบกัน ฝ่ายหญิงจะพร่ำบอกถึงความพิเศษเหนือใครของชายหนุ่มและเฝ้ารอที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน
ยามที่ อาร์เธอร์ ถูกนำตัวมาขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี สาวลี ที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาอยู่บ้าน ก็จะคอยมานั่งเป็นพลังใจให้กับชายหนุ่มในศาลทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ใครที่ถวิลหาฉากฟาดฟันเลือดสาดใน Joker : Folie à Deux บอกเลยว่าหนังไม่ได้ประโคมอะไรแบบนั้นใส่เข้ามา
แต่ในภาคนี้มีบรรยากาศที่แปลกต่าง ทำให้รู้สึกตื่นระทึก ไม่รู้สึกวางใจอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งต้องยกย่องการแสดงของ วาคีน ฟีนิกซ์ ที่ขับเน้นฝีมือออกมาอย่างพิถีพิถันในทุกฉาก
ไม่ว่าจะอยู่ในคาแร็กเตอร์ของ อาร์เธอร์ หรือ โจ๊กเกอร์ หรือไม่ว่าจะอยู่ในซีนที่เงียบงัน เก็บงำความรู้สึก หรือระเบิดอารมณ์ออกมา หนุ่มวาคีน ทำได้อย่างทรงพลังถึงขั้นมหัศจรรย์ก็ว่าได้
ขณะที่เรื่องราว Joker : Folie à Deux ก็มาในโทนมืดหม่นสะท้อนความทุกข์ตรม ความสับสน ของตัวละคร
แต่การใส่มิวสิคัลเข้ามาก็ทำให้บรรเทาความโหดดิบของเรื่องลงได้บ้าง ซึ่ง เลดี้ กาก้า ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเนื้อเรื่องรวมถึงชีวิตของ อาร์เธอร์ และ โจ๊กเกอร์ ได้อย่างมีสีสัน
แต่ในความเป็นมิวสิคัลเกือบจ๋า Joker : Folie à Deux ได้ส่งประเด็นที่น่าขบคิดที่สุดผ่านชะตากรรมของอาร์เธอร์ ที่กลายเป็นเหยื่อของอารมณ์ สังคมเส็งเคร็ง
ผู้ชมจะรู้สึกได้ว่า วาคีน ฟีนิกซ์ ทำให้เห็นว่าชีวิตของตัวละครที่เขารับบทนั้น แตกสลายไปทุกอณูทั้งร่างกายและจิตใจ
ชวนให้ตั้งคำถามต่อสังคมและผู้มีอำนาจในการกำกับดูแล ถึงวิธีการจัดการอย่างไรให้เหมาะสมกับ “คน” ที่เปรียบเสมือน “คนนอก” หรือ “คนที่สังคมทอดทิ้ง”
ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะด้วยความเจ็บป่วยทางกาย ทางจิตใจ หรือเป็นผู้กระทำผิด โดยที่การปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันยังอยู่ในกรอบของมนุษยธรรม และต้องไม่ทอดทิ้งหัวจิตหัวใจและความรู้สึกของผู้คนที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัว จากน้ำมือของผู้กระทำผิดเหล่านี้
Joker : Folie à Deux ถือเป็นการงานที่เล่นกับ “ความรู้สึก” ของผู้ชมได้อย่างแยบยบ คมคาย
ทั้งให้เกิดความเห็นใจต่อผู้คนที่เผชิญกับการที่คนในครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รัก ถูกพรากชีวิตไปด้วยการกระทำของคนอื่น หรือรู้สึกขัดเคืองกับการใช้อำนาจของผู้คุมกฎ
รวมทั้งคนที่หาประโยชน์จากผู้ที่อ่อนแอ ด้อยกว่า และไม่มีทางสู้ ไม่ว่าจะยุยงปั่นหัวโดยใช้ความรักเป็นข้ออ้าง เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง
นับเป็นผลงานที่ให้ความบันเทิงเริงใจและฝึกสมองได้อย่างสนุก!
Blue Bird5/10/67