ผู้ช่วยผบ.ตร.ร่วม ผบช.ก.แถลงข่าวกองปราบเปิดยุทธการระเบิดสะพานโจรครั้งใหญ่สุดในไทย จับ 2 ผู้ต้องหา พร้อมsimbox โทรศัพท์มือถือ และซิมการ์ดลงทะเบียนแล้วกว่าหมื่นชิ้น
เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 9 ต.ค.67 พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต. มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รองผบก.ป. พ.ต.อ.มนูญ แก้วก่ำ ผกก.1.บก.ป. พร้อมด้วยตำรวจกก.1 บก.ป., กก.สสน. บก.ป. และ บก.ปอท. ร่วมกัน
แถลงเปิดยุทธการระเบิดสะพานโจร จับกุมนายธีรภัทร อายุ 68 ปี เจ้าของบ้านผู้ดูแล และนายหลิน อายุ 33 ปี ชาวจีน ผู้ดูแลระบบ ตัวแทนเครือข่าย (Retailer) ตรวจยึด simbox, โทรศัพท์มือถือ และซิมการ์ดลงทะเบียนแล้วนับหมื่นชิ้น
สำหรับยุทธการระเบิดสะพานโจรในวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบ 4 จุด ประกอบด้วย
จุดที่ 1 บ้านเลขที่ 538/1 ซอยแฮปปี้แลนด์ทาวน์เฮ้าส์ ซอย 4 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. พบเครื่อง Simbox จำนวน 28 เครื่อง (เปิดใช้งาน), ซิมการ์ดไทย ทุกเครือข่าย จำนวน 10,000 ซิม วางอยู่ภายในบ้านชั้นล่าง มีนายธีรภัทร เจ้าของรับเป็นผู้ดูแล และนายหลิน เป็นผู้ดูแลระบบ
จุดที่ 2 บ้านเลขที่ 964 หมู่บ้านสินธร แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. พบเครื่องsimbox 20 เครื่อง, ซิมการ์ดไทย เปิดใช้งานแล้ว ประมาณ 2000 ซิม
จุดที่ 3 คอนโดฯ อินซิโอ ตึก B ชั้น 6 ห้องเลขที่ 562/52 แขวงคลองตัน เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ พบเครื่อง Simbox จำนวน 5 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือประมาณ 370 เครื่อง, ซิมการ์ดไทย เปิดใช้งานแล้ว จำนวนประมาณ 6000 ซิม
จุดที่ 4 ห้องเลขที่ 562/68 คอนโดและตึกเดียวกัน พบเครื่อง Simbox จำนวน 39 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ 103 เครื่อง, ซิมการ์ดไทย เปิดใช้งานแล้วประมาณ 20 ซิม, เอกสารที่เกี่ยวข้อง และ ธนบัตรสกุลหยวน (ประเทศจีน) จำนวนหนึ่ง รวมทั้งจุดพบซิมบ๊อก 92 เครื่อง ซิมการ์ดโทรศัพท์ไทย 18,020 ซิม โทรศัพื์มือถือ 437 เครื่อง
พล.ต.ท.ธัชชัยกล่าวว่า การจับกุมซิมบ๊อก ครั้งนี้ เป็นการตรวจค้นจับกุมครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นการตัดวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่จะมาหลอกลวงคนไทย
จากการตรวจค้นสามารถยึด SimBox ได้เกือบ 100 เครื่องพร้อมซิมการ์ดเบอร์โทรศัพท์เกือบ 20,000 หมายเลข ซึ่งในการโทรหนึ่งครั้งสามารถโทรออกได้ประมาณ 3,000 หมายเลขต่อครั้ง
ผู้ช่วยผบ.ตร.กล่าวต่อว่า วิธีการของคนร้ายยังเป็นในรูปแบบเดิม อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และจะมีการหลีกเลี่ยงเบอร์ที่โทรมาในต่างประเทศ เช่น +67 +68 ซึ่งจะมีการตั้งฐานในประเทศไทยเมื่อโทรไปหาผู้เสียหายเบอร์โทรศัพท์จะขึ้นเป็นเบอร์ประเทศไทย (+66) ทำให้ผู้เสียหายไม่ลังเลที่จะรับสายโทรศัพท์
ทั้งนี้หากมีการปิดซิมหรือซิมหมดอายุ จะสามารถเปลี่ยนหมายเลขใหม่เข้ามาเพื่อเอาไปหลอกลวงในครั้งถัดไป หลังจากนี้จะมีการหารือกับ กสทช. ถึงมาตรการในการลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์มือถือที่มีการลงทะเบียนมากกว่า 5 ซิม และจะมีการขยายผลขบวนการนี้ต่อไป รวมถึงจะมีการตรวจสอบคนรับลงทะเบียนซิมด้าน
ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า วันนี้มีการเข้าตรวจค้นทั้งหมด 4 จุด การที่พบซิมการ์ด และอุปกรณ์มือถือจำนวนมากครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำลายวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ เนื่องจากหลักฐานที่ยึดมานั้นมีจำนวนมาก แต่เชื่อว่าในขบวนการนี้ยังมีตัวบงการ หลังจากนี้จะมีการขยายผลต่อไป
จากการสอบสวนธีรภัทร รับว่าเป็นเจ้าของบ้าน ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพขายซิมโทรศัพท์มาก่อนจึงมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเบอร์โทรศัพท์ ดูแลซิมบ๊อกมาประมาณ 5 ปี โดยซิมที่ได้มาจะนำมาจดทะเบียนเป็นชื่อตัวเอง กว่า 10,000 เบอร์ ได้รับเป็นผลตอบแทน เบอร์ละ 2 บาท มีรายเดือนละ 5-6 หมื่นบาท
ส่วนนายหลิน ชาวจีน ให้การว่า เข้ามาดูแลเรื่องระบบ และเซ็ตระบบให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยเข้ามาประเทศไทยเพราะฟรีวีซ่า ตอนนี้อยู่เกินมา 37 วันแล้ว ส่วนคนสั่งการเป็นชาวจีน ไม่รู้จัก ได้เงินเดือนด้วยการโอนเงินเป็นเงินสกุลดิจิตอล
เบื้องต้นแจ้งข้อหาเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขาย เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ,ร่วมกันทำมีใช้นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต,ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ,เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน นำตัวส่ง กก.1.บก.ป.ดำเนินคดีพร้อมขยายผลหาผู้มีส่วนร่วมกทรกระทำผิดต่อไป
ตรวจสอบประวัตินายธีรภัทร พบว่าได้ร่วมกับนายทวีทรัพย์ หรือ ภูมิพัฒน์ หรือโอ๋ ลลิตศศิวิมล เมื่อปี 2548 ถูกตำรวจบก.ปอศ.จับกุม หลังร่วมกับพวกลักลอบใช้รหัสผ่านของบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ออเร้นจ์ เข้าไปแก้ไขวงเงินในบัตรเติมเงินออเร้นจ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้บริษัทเสียหายไปกว่า 105 ล้านบาทด้วย