วันที่ 31 ต.ค.67พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงการสอบสวนและความคืบหน้าการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับบริษัท ดิ ไอ คอน กรุ๊ป ว่า
กระบวนการของดีเอสไอในขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนเร่งดำเนินการเรื่องธุรการทางคดี อาทิ การทำหนังสือเสนอน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแต่งตั้งข้าราชการในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาร่วมสอบสวนในฐานะพนักงานสอบสวนตามกฎหมายของดีเอสไอ หรือ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
เป็นไปตามที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีกรมสอบ สวนคดีพิเศษ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 30 ต.ค. เช่นการเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ก. มาร่วมเป็นพนักงานสอบสวน เป็นต้น และจะมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อทำหน้าที่สอบสวน รวมทั้งการส่งหนังสือเสนอไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอให้มีพนักงานอัยการมาร่วมเป็นที่ปรึกษาในคดี
ย้ำทำคดีร่วมตำรวจจนจบ
โฆษกดีเอสไอกล่าวต่อว่าส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของดีเอสไอที่จะแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด อาจไม่ได้มีเพียงเจ้าหน้าที่ของกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบเพียงเท่านั้น อาจมีจากกองคดีอื่นก็เป็นได้ อย่างไรจะมีการหารือกับ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อประชุมเรื่องการจัดรูปแบบการสอบสวน
ยืนยันดีเอสไอจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างต่อเนื่อง เพราะตำรวจถือเป็นกำลังหลัก ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก ทั้ง2 หน่วยงานจะทำร่วมกันไปจนจบ เนื่องจากตำรวจจะทราบรายละเอียดเยอะ เพราะทำสำนวนมาก่อน แต่ดีเอสไอจะช่วยเสริมเพิ่มเติม
เน้นย้ำว่าเป็นภาพความร่วมมือระดับประเทศ ไม่ใช่ภาพการทำงานของดีเอสไอหรือตำรวจอย่างเดียว เพียงแต่ว่ากฎหมายของดีเอสไอสามารถบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานได้
ผบ.ตร.ยันไม่มีปัญหาเรื่องรอยต่อ
พ.ต.ต.วรณันกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 115/2567 หรือคดีการฟอกเงินทางอาญาของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ได้ตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงินได้พอสมควรแล้ว ส่วนข้อมูลเส้นทางการเงินที่นำเสนอข่าวกันอยู่นั้น ยังไม่ได้รับรายงานถึงที่มาที่ไป ยังไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่าเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงหรือไม่
ส่วนประเด็นรับแจ้งความผู้เสียหายในกรณีลงทุนกับบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ภายหลังเป็นคดีพิเศษแล้ว พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ยืนยันไม่มีปัญหาเรื่องรอยต่อ เนื่องจาก พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แม้เป็นคดีพิเศษแล้ว ตำรวจก็ยังรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษได้ และ ตร. ยังเป็นศูนย์กลางในการรวมคำร้องทุกข์และส่งต่อให้ดีเอสไอ
เร่งสำนวนส่งอัยการทันก่อนฝากขัง
พ.ต.ต.วรณันกล่าวอีว่า สิ่งที่ดีเอสไอเป็นห่วงคือผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และพยานหลักฐานที่ต้องเร่งรีบรวมข้อเท็จจริงว่ามีเหตุเพียงพอที่ดีเอสไอจะต้องเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนจะเป็นการเเจ้งข้อหา พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือไม่ ต้องดูรายละเอียดภายในสำนวนก่อน เพราะเวลาการฝากขังผัดแรกงวดเข้ามาแล้ว ต้องรีบส่งสำนวนให้กับอัยการทันก่อนฝากขังผัดแรก หรือประมาณปลายเดือน พ.ย. หากไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ส่วนต้นเดือน ธ.ค. จะครบการฝากขัง 4 ผัด
ดูเนื้อหาก่อนดำเนินการต่อ
โฆษกดีเอสไอกล่าวต่อว่า สำนวนที่ต้องส่งให้อัยการในการฝากขังผัดแรกต้องดูเนื้อหาในสำนวนว่ามีอะไรที่ต้องไปดำเนินการต่อ เพราะสำนวนคดีมีหลายพาร์ตอย่างการออกหมายจับ 18 ผู้ต้องหาที่ดำเนินการโดยตำรวจสอบสวนกลาง แต่ในส่วนผู้เสียหายรายอื่นที่ได้ให้การไว้กับโรงพักทั่วประเทศ อันนี้อาจจะรวมมาอยู่ในคดีของตำรวจ หรือจะมาเป็นคดีต่อเนื่องของดีเอสไอก็ได้ ดังนั้นเนื้อหาการสอบสวนคงต้องไปดูกันอีกที
เอกสารตอนนี้กว่า1แสนแผ่น
พ.ต.ต.วรณันกล่าวด้วยว่า หากผู้เสียหายในคดีบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ท่านใดประสงค์แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ยังคงไปให้การได้ที่ศูนย์รับแจ้งความร้องทุกข์คดีดิ ไอ คอน บช.ก. หรือสถานีโรงพักทั่วประเทศ เพื่อให้สำ นวนการสอบปากคำผู้เสียหาย และพยานต่างๆ ถูกรวบรวมและส่งต่อมายังดีเอสไออย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ผอ.ส่วน ภายในกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ไปดูรายละเอียดของสำนวนต่างๆที่ได้รับจากตำรวจสอบสวนกลาง
ล่าสุดดีเอสไอรับมาแล้วกว่า 50 ลัง เอกสารกว่าแสนแผ่น มีทั้งเอกสารการสอบปากคำผู้เสียหาย เอกสารคำให้การของผู้ต้องหาทั้ง 18 ราย และพยานหลักฐานอื่นและคำให้การอื่น