ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็น “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” นั้นเป็นสิ่งที่นักสร้างภาพยนตร์นิยมนำมาสร้างชิ้นงานบ่อยครั้ง
หนึ่งในผู้กำกับที่ถ่ายทอดเรื่องของ “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” ได้ถึงอกถึงใจยิ่งนัก ก็ต้องมีชื่อของ “บงจุนโฮ” ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ติดอยู่ในทำเนียบด้วย
จากผลงานสุดไฉไลเรื่อง Parasite หรือ “ชนชั้นปรสิต” ภาพยนตร์ดราม่าสะท้อนสังคม ว่าด้วยเรื่องคนจากชนชั้นแรงงาน เข้าไปอาศัยใบบุญในครอบครัวของมหาเศรษฐี และสร้างความปั่นป่วนตามมา
Parasiteผงาดขึ้นคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ครั้งที่ 92 ในปี 2563
ทั้งยังเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ผลงานจากเกาหลีใต้เรื่องนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์อันน่าตื่นตะลึงเหลือเกินในโลกของภาพยนตร์
หลังกว่า 5 ปีของความสำเร็จจาก Parasite ในปีนี้คอหนังทั่วโลกก็ได้ชมภาพยนตร์ฝีมือของ “บงจุนโฮ” อีกครั้ง กับเรื่อง Mickey 17 นำแสดงโดย “โรเบิร์ต แพททินสัน”, “มาร์ค รัฟฟาโล, “โทนี คอลเล็ตต์” และ “นาโอมิ แอ็คกี”
เรื่องราวใน Mickey 17 ยังข้องเกี่ยวกับ “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” เป็นงานที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง Mickey 7 ของ “เอ็ดเวิร์ด แอชตัน” นักเขียนชาวอเมริกัน
Mickey 17 เล่าเรื่องราวในปี ค.ศ.2054 ผ่านชีวิตชายหนุ่มที่ชื่อว่า “มิกกี้ บาร์นส์” ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจหลายอย่างที่อันตราย ๆ บนดวงดาวนิฟล์เฮม อันเย็นเยือกและปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง เพราะมนุษย์เตรียมจะตั้งอาณานิคมใหม่บนดวงดาวแห่งนี้
“มิกกี้ บาร์นส์” รับบทโดย “โรเบิร์ต แพททินสัน” ถือเป็น “บุคคลสำคัญ” ของภารกิจการ “สร้างดินแดนใหม่นอกโลก” ของมนุษย์
https://www.youtube.com/watch?v=EFjqC4qF1Zg
แต่ในขณะเดียวกันกลับ “ถูกกดขี่” ว่าเป็นคนที่อยู่ในระดับต่ำกว่า “มนุษย์” เพราะเขาอยู่ในสถานะของ “มนุษย์ใช้แล้วทิ้ง”
ว่ากันตามตรงการที่ “มิกกี้ บาร์นส์” ต้องกลายมาเป็น “มนุษย์ใช้แล้วทิ้ง” ก็เพราะความจำเป็นบีบบังคับ หลังจากล้มเหลวในการทำธุรกิจกับเพื่อนรัก ต้องถูกมาเฟียตามทวงหนี้
ทางเดียวที่พอจะรอดชีวิตได้ก็คือการเซ็นสัญญาขึ้นยานอวกาศที่เตรียมออกสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น เพื่อหาเป็นบ้านที่ 2 รองจากโลก
“มิกกี้ บาร์นส์” สมัครงานในตำแหน่งที่ไม่มีใครสมัครนั่นคือ “มนุษย์ใช้แล้วทิ้ง” แม้จะเป็นตำแหน่งที่ถูกใคร ๆ ดูหมิ่น แต่เขาก็ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะเป็นงานที่ต้อง “เจ็บจริง” ไปจนถึง “ตายจริง”
แต่ก็กลับมา“เกิดใหม่” ได้จริง!! ด้วยวิธีการ “พิมพ์ร่างซ้ำ” ขึ้นมาอีก และการเกิดใหม่แต่ละครั้ง ร่างกายของเขาก็จะถูกอัพโหลดความทรงจำเก่า ๆ กลับมาทั้งหมด
ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนี้ “มิกกี้ บาร์นส์” จึงเป็นมนุษย์ที่ถูกพิมพ์ขึ้นใหม่มาทดแทนกันซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากกว่า 10 ร่าง เพื่อทำภารกิจออกไปสำรวจพื้นที่บนดาวนิฟล์เฮม
ว่ากันตามตรงก็ไม่ต่างจากหนูทดลองที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหนทางว่ามนุษย์จะอยู่รอดบนดาวดวงนี้ได้อย่างไร
การตายและเกิดใหม่ของ “มิกกี้ บาร์นส์” จึงเป็นวัฏจักรอันคุ้นเคยของทุกคนบนยาน
ตั้งแต่ “เคนเนธ มาร์แชล” นักการเมืองผู้ถือตนเป็นชนชั้นผู้นำสูงสุดของยาน รับบทโดย “มาร์ค รัฟฟาโล” และ “อิลฟา” รับบทโดย “โทนี คอลเล็ตต์” ภรรยานิสัยเจ้าเล่ห์ของ “เคนเนธ มาร์แชล” มาจนถึงประชาชนที่มีหน้าที่ต่าง ๆ บนยาน
รวมทั้ง “นาชา บาร์ริดจ์” สวมบทโดย “นาโอมิ แอ็คกี” สาวผิวสี เธอและ “มิกกี้ บาร์นส์” ต่างตกหลุมรักกัน
เรื่องราวเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่อ “มิกกี้ บาร์นส์” ร่างที่ 17 หรือ “มิกกี้ 17” ได้หายตัวไปและถูกสันนิษฐานว่าม้วยมรณาไปแล้วแน่ ๆ
นักวิทยาศาสตร์จึงพิมพ์ร่าง “มิกกี้ 18” ขึ้นมาทำงานต่อ
ทว่าเหตุการณ์กลับตาลปัตรเมื่อ “มิกกี้17”รอดตายมาด้วยความช่วยเหลือของเหล่า “ครีพเปอร์ส” ที่เป็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาดซึ่งอาศัยอยู่บนดาวดวงนี้มานานกว่ามนุษย์จะมาถึง
แน่นอนว่าการมีอยู่ของ “มิกกี้” ทั้ง 2 คนเป็นถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎ ผิดจริยธรรม ดังนั้นคนใดคนหนึ่งจึงต้องถูกกำจัดทิ้ง
Mickey 17 เป็นงานในแบบ Arthouse ที่ถ่ายทอดประเด็นทางสังคมและศิลปะออกมาอย่างสนุก อุดมด้วยมุกตลก
แต่เมื่อถอดเสื้อคลุมของความเฮฮา ก็จะพบกับเรื่องจริงในสังคมอันสุดขมขื่น การเสียดสีถึงโลกยุคดิสโทเปีย ที่มนุษย์ต่างดูดใช้ทรัพยากรไปจนเกลี้ยงเตรียมตัวหายนะกันถ้วนหน้า คนส่วนหนึ่งจึงออกยานระหกระเหินตามหาโลกใหม่ เพื่อจะดูดใช้ทรัพยากรบนโลกอื่น ๆ เหล่านั้นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นอีกชิ้นงานที่เข้ามือผู้กำกับ “บงจุนโฮ” อย่างมาก ซึ่งเยาะเย้ยให้เห็นว่า “มนุษย์” ก็ไม่ต่างจากปรสิตที่คอยแทรกซึม และสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนไปในทุก ๆ ที่ที่เหยียบย่าง
เป็นนักล่า ผู้บุกรุก แสดงความอหังการ์ปล้นชิงดินแดนของผู้เป็นเจ้าถิ่นเดิม ยกตนว่าเป็นเผ่าพันธุ์อันสูงส่ง แต่ในความเป็นมนุษย์เองก็ยังแบ่งแยกชนชั้นกันอย่างน่าอดสู
ขณะที่คนอย่าง “มิกกี้ บาร์นส์” ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไปบนโลก เป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ ไม่มีพลังพอที่จะต่อสู้ยืนหยัดในความเป็น “คน” ยอมให้ตนเองกลายเป็นบันไดให้คนมีอำนาจเหยียบย่ำขึ้นไปอย่างไม่มีวันโงหัวขึ้นมาได้
ฉากที่ชายหนุ่มเซ็นเอกสารสมัครเป็น “มนุษย์ใช้แล้วทิ้ง” โดยไม่ได้ฟังคำท้วงติงจากเจ้าหน้าที่ว่าให้อ่านเงื่อนไงให้จบเสียก่อน แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่ประมาท เลินเล่อ หรือจะใช้คำว่า “โง่” ขนาดไหนกับการใช้ชีวิต
ไม่รู้ว่าผู้กำกับ “บงจุนโฮ” ถูกอกถูกใจ “โรเบิร์ต แพททินสัน” มากเพียงใด แต่เชื่อว่าความนิยมของเขาต่อพระเอกชาวอังกฤษคนนี้คงมีมากพอจนวางใจให้เล่นบท “มิกกี้ บาร์นส์” ใน Mickey 17 ซึ่งเขาทำได้แทบจะไร้ที่ติและเปล่งประกายไม่น้อย เผยพลังการแสดงออกมาได้อย่างน่าทึ่ง
ผู้ชมเองก็สัมผัสได้ชัดว่า “โรเบิร์ต แพททินสัน” แสดงความทุ่มเทอย่างสุดกำลังในการสร้างตัวละคร “มิกกี้ บาร์นส์” ในแต่ละเบอร์
Mickey 17 เป็นชิ้นงานที่เชื่อว่าจะวางรากฐานในการแสดงของ “โรเบิร์ต แพททินสัน” มากขึ้นต่อไป ไม่ว่าจะเดินไปทางดราม่าหรือตลกขำขัน
หลังจากที่เคยโชว์ศักยภาพการต่อสู้และผาดโผนมาแล้วใน The Batman
Blue Bird8/3/68