ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และตามนโยบายบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. มุ่งเน้นการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยได้มีหนังสือสั่งการเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้ 7 มาตรการ อย่างเข้มงวด ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ได้แก่
1. มาตรการก่อนคนต่างด้าวเดินทาง เข้าประเทศไทย : ประสาน เชื่อมโยงข้อมูล เพื่อทำการคัดกรองบุคคล
2. มาตรการ ณ ท่าอากาศยาน และ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ชายแดน) : เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคลเข้า – ออก ราชอาณาจักร โฟกัส กลุ่มเสี่ยง
หากพบเห็นให้รีบดำเนินการซักถาม และประชาสัมพันธ์ มาตรการติดตั้งกล้อง License Plate และเชื่อมโยงกล้องวงจรปิด (ระบบ AI) ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ (แจ้งเตือน)
3. มาตรการตั้งจุดตรวจตามเส้นทาง : ตั้งจุดตรวจครอบคลุม โดยเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวัง สุ่มเสี่ยง
4. มาตรการตรวจสอบที่พัก พื้นที่ท่องเที่ยว และสกัดกั้นพื้นที่ชายแดน : ตรวจสอบที่พักคนต่างด้าว แหล่งท่องเที่ยว เน้นการสกัดเคลื่อนย้ายข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามแดนต่าง ๆ
5. มาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบเส้นทางและจุดพักคอย : ตรวจสอบปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ สถานีขนส่ง จุดพักแรม
6. มาตรการเข้มข้นในพื้นที่ชายแดน : ตรวจสอบพื้นที่และเอกซเรย์พื้นที่ชายแดนทุกแห่ง ลาดตระเวนช่องทางธรรมชาติ และท่าข้าม พื้นที่จังหวัดชายแดนเข้มข้น
7. มาตรการประสานงาน ให้ความช่วยเหลือ และสืบสวนขยายผล : ดำเนินคดี สืบสวนขยายผลไปถึงตัวการ ผู้สนับสนุน โดยเฉพาะข้าราชการที่ทุจริต โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2568 เป็นต้นมา
ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปชก.ตร.) โดย พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปชก.ตร., พล.ต.ท.กฤษฎา สุรเชษฐพงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปชก.ตร., พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปชก.ตร. และ พล.ต.ท.จิระวัฒน์ พยุงธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร./ผู้ช่วย ผอ.ศปชก.ตร. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายและมาตรการดังกล่าวให้ทุกหน่วยในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง
มอบหมายให้ ศปชก.สตม. เป็นหน่วยงานหลักรวบรวมข้อมูลจากกรณีการจับกุมขบวนการลักลอบขนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทั่วประเทศ เพื่อนำมาร่วมวิเคราะห์และรวบรวมพยานหลักฐานขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการ ที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ศปชก.สตม.) โดย พล.ต.ท. ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม./ผอ.ศปชก.สตม., พล.ต.ต. พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม./ รอง ผอ.ศปชก.สตม.และ พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.สส.สตม./เลขานุการ ศปชก.สตม.
ได้รวบรวมข้อมูลขบวนการขนคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากการจับกุมของทุกหน่วยงานในสังกัด ตร. ผ่านหน่วยงานในสังกัด สตม. ทั่วประเทศ และได้นำมาวิเคราะห์ สถิติ สถานการณ์ รวมไปถึงการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การขออนุมัติหมายจับผู้ร่วมขบวนการ เครือข่ายโดยห้วงปีงบประมาณ พ.ศ.2568 (1 ต.ค.2567 – 31 มี.ค.2568) มีสถิติการจับกุมดังนี้
1. จับกุมการลักลอบขนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 184 คดี ผู้ต้องหา 193 คน (อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล จำนวน 48 คดี และยุติการสืบสวนขยายผลแล้ว จำนวน 136 คดี)
2. จับกุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง รวม2,641 คน
3. ตรวจยึดยานพาหนะ รวม177 รายการ
4. สืบสวนขยายผลรวบรวมพยานหลักฐาน ศาลอนุมัติหมายจับ 68 หมายจับ (จับกุมแล้ว 60 หมายจับ เสียชีวิต 1 หมายจับ และหลบหนี 7 หมายจับ)
5. ขยายผลพบมีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย 22 เครือข่าย (อยู่ระหว่างการสืบสวน 13 เครือข่าย และยุติการสืบสวนแล้ว 9 เครือข่าย)
จากการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้การปราบปรามทำลายเครือข่ายการลักลอบขนคนต่างด้าวเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปชก.ตร.และ พล.ต.ท. อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปชก.ตร. จึงได้สั่งการให้ สตม. เป็นหน่วยหลักในการระดมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าว
ให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับ บช.น., บช.ก., ภ.1 – 9 หรือหน่วยปฏิบัติอื่น ๆ ตั้งแต่วันที่ 22 – 26 เม.ย.2568 ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ “รุกฆาตนักขนคน ครั้งที่ 2”
กระทั่งวันนี้ 29 เม.ย.68 เวลา 11.00 น. ณ ห้องสารสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปชก.ตร., พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปชก.ตร., พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม./ผอ.ศปชก.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม./รอง ผอ.ศปชก.สตม., พล.ต.ต. ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.สส.สตม./เลขานุการ ศปชก.สตม.,
พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1, พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผบก.ตม.2, พล.ต.ต.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ ผบก.ตม.3, พล.ต.ต.วริศร์สิริภ์ ลีละสิริ ผบก.ตม.4, พล.ต.ต.สราวุธ คนใหญ่ ผบก.ตม.5, พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม.,
พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ. พงศ์ธร พงศ์รัชตนันทน์, พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม รอง ผบก. ตม.3, พ.ต.อ.มณุวัฒน์ กอสนาน รอง ผบก.ตม.4, พ.ต.อ. เอกกร บุษบาบดินทร์ รอง ผบก.ตม 5, พ.ต.อ.ปริญญา กลิ่นเกษร รอง ผบก.ตม.1, พ.ต.อ.ธวัชชัย นรินรัตน์ ผกก.1 บก.สส.สตม
ร่วมแถลงข่าวผลการ “ปฏิบัติการรุกฆาตนักขนคน ครั้งที่ 2” เพื่อกวาดล้างจับกุมขบวนการ เครือข่าย นำพา ช่วยเหลือ คนต่างด้าวให้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย สืบสวนขยายผลรวบรวมพยานหลักฐาน ขออนุมัติหมายจับได้รวม 34 หมายจับ ผู้ต้องหา 32 คน
ปิดล้อมตรวจค้นทั่วประเทศ 60 จุด จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 27 หมายจับ ผู้ต้องหา 25 คน เสียชีวิต 1 คน 1 หมายจับ คงเหลือผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอีก 6 คน 6 หมายจับ พบความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย 5 ขบวนการใหญ่ รายละเอียด ดังนี้
1. ขบวนการลักลอบขนชาวเมียนมา พื้นที่ จว.ตาก เป็นกลุ่มเครือข่ายที่รับงานลักลอบขนชาวเมียนมาจากทางพื้นที่ จว.ตาก ลงมาพื้นที่ชั้นใน กทม. และปริมณฑล และบางส่วนขนชาวเมียนมาต่อไปทางภาคใต้ ปลายทางประเทศมาเลเซีย โดยพบความเชื่อมโยงจำนวน 5 เครือข่าย
ได้แก่ เครือข่ายนายไพทูลย์ฯ จว.สุราษฎร์ธานี, เครือข่ายนายกามารูดิง จว.สงขลา, เครือข่ายบังกอล์ฟ จว.ชุมพร, เครือข่ายนายธงทองฯ จว.ปทุมธานี และเครือข่ายหมอโพชิ จว.ลพบุรี และมีการจับกุมผู้ต้องหารวม 56 คน, ออกหมายจับ 33 หมายจับ, คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 260 คน และตรวจยึดยานพาหนะ 15 รายการ
2. ขบวนการลักลอบขนชาวจีน พื้นที่ จว.ตาก เป็นกลุ่มลักลอบขนชาวจีนหลบหนีเข้าเมืองจากฝั่งประเทศเมียนมาเข้าประเทศไทยด้าน จว.ตาก แล้วพาเข้ามาสู่พื้นที่ กทม. และปริมณฑล หรือเดินทางต่อไปยังชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา หรือลาว
กลุ่มเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในช่วงนี้ คือเครือข่ายนายสุทิวัสฯ ซึ่งถูกออกหมายจับเนื่องจากเป็นผู้ว่าจ้างรถขนชาวจีน และขณะถูกจับกุมพบเป็นผู้ขับรถขนชาวจีนหลบหนี เข้าเมือง จำนวน 2 คน เหตุเกิดในพื้นที่ จว.พระนครศรีอยุธยา
มีความเชื่อมโยงเครือข่ายนายวงศกรฯ นายหน้าแนวชายแดนคนสำคัญ ซึ่งเป็นเครือข่ายลักลอบขนชาวจีนโซนภาคเหนือ เชียงราย, น่าน, ตาก มีเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารมากกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งได้จับกุมไปแล้วในปฏิบัติการรุกฆาตนักขนคน ครั้งที่ 1
3. ขบวนการลักลอบขนชาวเมียนมา พื้นที่ จว.กาญจนบุรี เป็นกลุ่มลักลอบขนชาวเมียนมาทางพื้นที่ จว.กาญจนบุรี ส่งต่อให้กลุ่มขนต่อไปยังพื้นที่ภาคใต้ และข้ามไปประเทศมาเลเซีย รวมถึงบางส่วนลักลอบขน เข้ามาพื้นที่ชั้นใน เช่น กทม .และปริมณฑล, จว.สมุทรสาคร, จว.ราชบุรี
มักใช้ยานพาหนะขนาดใหญ่ประเภทรถบรรทุก รถพ่วง ซึ่งจะลักลอบขนได้ครั้งละจำนวนมาก และไม่เป็นเป้าเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังใช้รถประจำทางเป็นพาหนะในลักลอบขนชาวเมียนมาด้วย
มีคนขับรถประจำทางร่วมขบวนการด้วย อีกทั้งพบข้อมูลและพิสูจน์ทราบผู้ทำหน้าที่นายหน้าแนวชายแดนทั้งไทย-เมียนมา และ ไทย-มาเลเซีย รวมไปถึงผู้ประสานงาน ผู้ว่าจ้างรถขน ผู้ดูแลจุดพักคอย ทั้งนี้ขบวนการนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 43 คน, ออกหมายจับ 24 หมายจับ, คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 443 คน และตรวจยึดยานพาหนะได้ 14 รายการ
4. ขบวนการลักลอบขนชาวเมียนมา พื้นที่ จว.เชียงราย เป็นกลุ่มเครือข่ายลักลอบขนชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง ที่มีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคเหนือ จว.เชียงราย, จว.เชียงใหม่ ซึ่งมีพฤติการณ์ลักลอบขนชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง จากพื้นที่ภาคเหนือมายังพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
ปัจจุบันพบเครือข่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ คือ เครือข่ายนายแก้วฯ จว.เชียงใหม่ ซึ่งพบพัวพันคดีตั้งแต่ปี 2567 ถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ จำนวน 3 คดี
มีการจับกุมผู้ต้องหารวม 7 คน, ออกหมายจับ 5 หมายจับ, คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 31 คน และตรวจยึดยานพาหนะได้ 3 รายการ
5. ขบวนการลักลอบขนชาวบังกลาเทศ พื้นที่ จว.สระแก้ว เป็นกลุ่มเครือข่ายช่วยเหลือชาวบังกลาเทศหลบหนีเข้าประเทศไทยด้านชายแดนไทย-กัมพูชา โดยชาวบังกลาเทศมีเป้าหมายลักลอบเพื่อข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน
โดยจะมีรถขนชาวบังกลาเทศจากพื้นที่ จว.สระแก้ว เข้ามายัง กทม. ที่เป็นจุดพักคอย และจะมีรถขนรับช่วงขนชาวบังกลาเทศต่อไปยังพื้นที่ภาคใต้ จนกระทั่งถึงชายแดนไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ จว.นราธิวาส
ปัจจุบันพบเครือข่ายที่ยังคงเคลื่อนไหวคือ เครือข่ายเฮียไก่ อรัญประเทศ พบมีประวัติเกี่ยวข้องกับการจับกุมถึง 5 คดี ทั้งการจับกุมในพื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา, การจับกุมจากจุดพักคอยในพื้นที่ กทม. และการจับกุมในพื้นที่ภาคใต้
รวมมีการจับกุมผู้ต้องหา 14 คน, ออกหมายจับ 5 หมายจับ, คนต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง 56 คน และตรวจยึดยานพาหนะ 11 รายการ